เทคนิคการขอคืนเงินภาษีบุคคลธรรมดา ประจำปี 2559

เทคนิคการขอคืนเงินภาษีบุคคลธรรมดา ประจำปี 2559

เทคนิคการขอคืนเงินภาษีบุคคลธรรมดา ประจำปี 2559
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเสียภาษีบุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของประชาชนทุกคนที่ต้องปฏิบัติ ทั้งผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือมีระดับรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 4 แบบ ดังนี้


1. ภงด.90 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท คือ มีเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น เงินได้จากเงินปันผล เงินได้ค่านายหน้า เงินได้จากการชิงรางวัล เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เป็นต้น


2. ภงด.91 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะ 40 (1) เช่น จากเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ เป็นต้น


3. ภงด.93 สำหรับผู้ที่มีเงินได้ทุกประเภทที่ต้องการยื่นแบบเสียภาษีล่วงหน้า เช่น ผู้ที่มีเงินได้จากค่าเช่าที่ดิน อาคาร ที่ได้รับล่วงหน้า เป็นต้น


4. ภงด.94 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะ 40 (5) (6) (7) (8) เช่น เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การชนส่ง เป็นต้น


โดยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อขอคืนภาษี สำหรับ ภงด.90 และ 91 มีระยะเวลาการยื่นแบบฯ ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคมของปีภาษีถัดไป ภงด.93 มีระยะเวลาการยื่นแบบฯก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบฯตามปกติ ภงด.94 สามารถยื่นแบบฯ ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน ของปีภาษีนั้น ซึ่งการยื่นแบบฯ เพื่อขอคืนภาษีสามารถทำได้หลายช่องทาง คือ

ณ กรมสรรพากร Booth ของกรมสรรพากรที่จัดตามห้างสรรพสินค้า ทางอินเทอร์เน็ต และทางไปรษณีย์ เมื่อได้ยื่นแบบฯเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียภาษีจะได้รับเช็คคืนเงินภาษี ประมาณ 3 เดือนนับจากวันยื่นแบบแสดงรายการภาษีจากกรมสรรพากร แต่หากเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเทอร์เน็ต กรมสรรพากรจะคืนเงินภาษีให้ภายใน 15 วัน นับจากวันยื่นแบบแสดงรายการภาษี


ดังนั้น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี 2559 ที่ใกล้จะถึงอีกไม่นานนี้ มีเทคนิคทำให้การขอคืนเงินภาษีเร็วขึ้น และ ได้รับคืนเงินภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีประหยัดภาษีจ่าย ได้ดังนี้


1.รวบรวมเก็บเอกสารเงินได้จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมยื่นต่อกรมสรรพากร
ผู้เสียภาษีควรต้องเริ่มเก็บเอกสาร ที่เข้าข่ายต้องแสดงรายการต่อกรมสรรพากร เช่น รายได้จากเงินเดือน รายได้จากงานพิเศษอื่น ๆ รายได้จากเงินปันผล รายได้จากค่านายหน้า รายได้จากการชิงรางวัล รายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร เป็นต้น เพื่อจะได้เตรียมไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อกรมสรรพากร และการแสดงเงินได้ครบทุกรายการจะทำให้ผู้เสียภาษีได้รับคืนเงินภาษีเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่รายได้จากแหล่งต่าง ๆ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว


2. หารายการลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด
ผู้เสียภาษีต้องบริหารจัดการภาษีโดยใช้ประโยชน์จากรายการลดหย่อนภาษีที่กรมสรรพากรให้นำมาคำนวณหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีได้รับคืนเงินภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีนอกเหนือจากรายการค่าลดหย่อนส่วนตัวที่กรมสรรพากรกำหนดไว้แล้วจำนวน 30,000 บาท ผู้เสียภาษียังสามารถเพิ่มเติมรายการลดหย่อนภาษีได้อีกหลายประเภท ดังนี้


- ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา เป็นค่าลดหย่อนของบุตรที่มีบิดามารดา อายุมากกว่า 60 ปี และต้องไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยบุตรหรือผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูมาหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท


- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา เป็นค่าลดหย่อนของบุตรที่มีบิดามารดา มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี ซึ่งบุตรหรือผู้เสียภาษีที่ทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 15,000 บาท


- ค่าเบี้ยประกันชีวิตของผู้เสียภาษี ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์มากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถนำค่าเบี้ยประกันที่จ่ายชำระมาหักลดหย่อนภาษีได้ หากเป็นประกันชีวิตทั่วไปอย่างประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่จ่ายชำระเบี้ยทุกปีหรือจ่ายเพียงครั้งเดียว ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินสมทบ กบข. รวมทั้ง กองทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท


- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ เงินสมทบ กบข. เป็นเงินสะสมของพนักงานเอกชนและข้าราชการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและกองทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท


- กองทุน RMF เป็นกองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนไปคิดหักลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินสมทบ กบข. รวมทั้งประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท


- กองทุน LTF เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนไปคิดหักลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท


- เงินสมทบประกันสังคม เป็นเงินสะสมที่ลูกจ้างนำฝากเข้ากองทุน ซึ่งผู้ฝากสามารถนำยอดเงินดังกล่าวไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท


- เงินบริจาค สามารถลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ยกเว้นกรณีเป็นเงินบริจาคเพื่อการศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่ก็ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ เหมือนกัน


- ค่าลดหย่อนบุคคลอื่น เช่น คู่สมรส ( กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท) บุตร ( ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 15,000 บาท ,ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรจำนวน 2,000 บาท ซึ่งหากศึกษาภายในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้เพิ่มคนละ 2,000บาท ) ค่าเลี้ยงดูบุคคลพิการหรือทุพพลภาพ (สามารถลดหย่อนได้ 60,000บาท) เป็นต้น


- ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อย่างดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท


3. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีบุคคลธรรมดาทางอินเทอร์เน็ต
การยื่นแบบฯ ส่งสรรพากรทางอินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้เสียภาษีสะดวกเพราะสามารถทำรายการได้ทุกที่ และทุกเวลา อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารหลักฐานรายการต่าง ๆ ให้ครบก่อนการยื่นแสดงต่อกรมสรรพากรเหมือนกับการยื่นโดยตรง ณ กรมสรรพากร เพียงแต่ต้องทราบข้อมูลรายละเอียดรายการกรอกเท่านั้น ทำให้ไม่เสียเวลาในการรอเอกสารบางส่วนซึ่งอาจจะได้รับล่าช้าจากสถาบันการเงิน เช่น

เอกสารรายการซื้อกองทุน LTF /RMF หรือเอกสารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น นอกจากนั้น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเทอร์เน็ตจะทำให้ผู้เสียภาษีรับคืนเงินภาษีได้เร็วกว่าการยื่นแบบฯขอคืนเงินทางอื่น


4. บันทึกรายการค่าใช้จ่ายที่สามารถหักลดหย่อนภาษีในระบบเงินเดือน
หากผู้เสียภาษีทำงานในสถานประกอบการที่สามารถบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ล่วงหน้า


ก่อนการยื่นภาษี ณ ปีภาษีถัดไปได้ จะทำให้ผู้เสียภาษีได้รับยอดเงินเดือนหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย เพิ่มขึ้น เพราะเสมือนเงินได้ถูกหักค่าใช้จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ฐานอัตราภาษีเงินได้ลดลง ส่งผลให้ผู้เสียภาษีสามารถนำเงินเดือนส่วนเพิ่มซึ่งก็คือ เงินคืนภาษีที่ได้รับคืนล่วงหน้าไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ซื้อประกันชีวิต หรือซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี หรือฝากประจำแบบปลอดภาษีกับธนาคารเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เป็นต้น


การเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อเสียภาษีจะทำให้ผู้เสียภาษีสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินในกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และยังทำให้ทราบจำนวนเงินคืนภาษีได้อย่างคร่าว ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ทางหนึ่ง

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook