เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น! ป.ตรีจบใหม่ส่อเตะฝุ่น เผยเอกชนลดจ้างงาน
เด็กจบใหม่ปีนี้ส่อแววเตะฝุ่นอื้อ สภาองค์การนายจ้างชี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ภาคเอกชนลดการจ้างงาน โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีสายสังคม-มนุษยศาสตร์ กระอักแน่ ส่วน ปวช.-ปวส.ยังต้องการอีกมาก แต่เข้าสู่ระบบน้อย เพราะส่วนใหญ่เน้นเรียนต่อ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่าขณะนี้การขยายการลงทุนภายในประเทศของภาคธุรกิจยังคงมีอัตราต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบต่อการส่งออกที่ยังคงติดลบ ทำให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 60-63% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานใหม่ในระบบยังคงมีทิศทางชะลอตัวลง
"แนวโน้มอัตราการว่างงานของคนไทยที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.92-1% จะมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็น 1.1-1.2% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเด็กจบการศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในระบบช่วง มี.ค.-เม.ย.2559 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีสายสังคมที่ตลาดแรงงานต้องการต่ำ"
สำหรับแรงงานไทยจะเพิ่มเข้ามาในระบบเฉลี่ยปีละ 5.8 แสนคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาปีละประมาณ 3 แสนคน ซึ่งหากเป็นสาขาสายสังคมอัตราการว่างงานจะสูงเนื่องจากสำนักงานออฟฟิศต่าง ๆ ขณะนี้จ้างงานใหม่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการจ้างทดแทนแรงงานเดิม และบางครั้งกลับจ้างใหม่ในจำนวนที่ลดลงกว่าเดิมจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยนัก ทางสถาบันการศึกษาและรัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
ส่วนเด็กสายอาชีวะพบว่า ระดับ ปวช.และ ปวส.ประมาณ 1.2 แสนคน เมื่อแยกเป็น ปวส.แรงงานส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่อัตราการจบมาเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานยังไม่เพียงพอ ขณะที่สาย ปวช.ตลาดมีความต้องการอย่างมาก แต่เข้ามาในระบบงานจริงเพียง 20% เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อ ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานระดับล่าง และจบการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งภาพรวมพบว่าตลาดแรงงานไทยมีทั้งขาด และเกินความต้องการ
"เราจะพบว่าตลาดแรงงานของไทยในระดับล่างได้หันไปใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน เวลาที่นายจ้างจะลดคนงานจึงลดแรงงานต่างด้าวแทน จึงจะเห็นว่าระยะหลังไม่มีการประท้วง และตลาดนี้คนไทยเองก็ไม่ยอมทำงาน แต่ช่วงนี้ตลาดนี้ก็ทรงตัวเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนเด็กจบใหม่ก็คงจะเหนื่อยหน่อย โดยเฉพาะปริญญาสายสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และอื่น ๆ ที่ตลาดต้องการต่ำ แต่กลับผลิตออกมาเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน"