นักวิชาการเชื่อขึ้นค่าจ้าง 300 บาททำได้

นักวิชาการเชื่อขึ้นค่าจ้าง 300 บาททำได้

นักวิชาการเชื่อขึ้นค่าจ้าง 300 บาททำได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิชาการจากหลายสถาบันต่างยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของรัฐบาลใหม่สามารถทำได้จริง และส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มเพียงร้อยละ 3

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการด้านแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ นักวิชาการจากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ร่วมเสวนา ซึ่งต่างออกมายืนยันตรงกันว่า นโยบายนี้สามารถทำได้จริง แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า เพราะที่ผ่านมา นายจ้างฉวยโอกาสนำต้นทุนจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ร้อยละ 3 มาปรับเพิ่มราคาสินค้าที่ ร้อยละ 10-15

ขณะเดียวกัน นอกจากมาตรการลดหย่อนภาษีรัฐบาลชุดใหม่ควรหามาตรการอื่น มาสร้างแรงจูงใจ เช่นจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับนายจ้าง ในการสร้างหอพักใกล้กับสถานประกอบการ เพื่อประหยัดค่าเดินทางและค่าที่พักของลูกจ้าง ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ถึง 300 บาท และจากการวิเคราะห์มั่นใจว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างจริง จะมีการปลดคนงานน้อย เพราะหาคนงานยาก และการปรับค่าจ้างควรเร่งทำภายใน 6 เดือน

ขณะที่เครือข่ายองค์กรแรงงานเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ หรือตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี รวมทั้งให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกฝ่าย มาร่วมทำงาน เพื่อหาแนวทางในการทำนโยบายค่าจ้าง 300 บาทให้เป็นความจริง

ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึง นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลใหม่ว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมเนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีราคาสินค้า ปรับแซงหน้าค่าแรง

โดยปี 2553 อัตราค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครอยู่ที่วันละ 206 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ที่วันละ 157 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ

โดยเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะทำให้มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หรือการเข้าไปดูแลเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น เอสเอ็มอี โดยการลดภาษีบางอย่าง การให้สินเชื่อเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกัน ก็ควรเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานด้วย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook