มนุษย์เงินเดือนมีเฮ คลังรอชงครม.เพิ่มค่าลดหย่อนเท่าตัว รายได้ไม่เกิน 5 ล้านจ่ายภาษีถูกลง

มนุษย์เงินเดือนมีเฮ คลังรอชงครม.เพิ่มค่าลดหย่อนเท่าตัว รายได้ไม่เกิน 5 ล้านจ่ายภาษีถูกลง

มนุษย์เงินเดือนมีเฮ คลังรอชงครม.เพิ่มค่าลดหย่อนเท่าตัว รายได้ไม่เกิน 5 ล้านจ่ายภาษีถูกลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กำลังเร่งสรุปการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องมีการแก้ไขประมวลรัษฎากร รวมถึงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลักการสำคัญคือทุกคนจะได้รับประโยชน์ จะมีการเพิ่มส่วนที่หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและเพิ่มค่าลดหย่อนให้ โดยจะไม่มีการปรับลดอัตราจ่ายภาษีสูงสุด 35% ลงมา เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นปรับลดภาษีแล้วไปช่วยคนรวย แต่จะขยายช่วงรายได้ของการเสียภาษีให้กว้างขึ้น คือปรับอัตราสูงสุดที่เสียภาษี 35% จากเดิมคือผู้มีรายได้สุทธิ 4 ล้านบาท เป็นรายได้สูงกว่า 4 ล้านบาท ส่วนภาษีที่ดินที่กำลังดำเนินการเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนทุกฝ่ายพอใจ ยืนยันว่าจะไม่สร้างภาระให้ประชาชน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ที่กรมสรรพากรกำลังพิจารณานั้น จะไม่ลดอัตราสูงสุดที่ปัจจุบันอยู่ที่ 35 % ด้วย 2 เหตุผลคือ ถ้าปรับลดลงอาจถูกวิจารณ์ว่าไปช่วยคนรวย และการอัตราสูงสุดลงมาเหลือ 30 % จะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมนั้นมีสัดส่วนถึงเกือบ 18% ของรายได้รวมของกรม โดยปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มคนที่เสียภาษีสูงสุด 35% หรือมีรายได้สุทธิสูงกว่า 4 ล้านบาทนั้นมีประมาณ 24,709 ราย

ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดที่กรมประเมินแล้วคือ ขยายช่วงของเงินได้ให้กว้างขึ้น ปรับรายได้สุทธิสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจ่ายภาษีอัตรา 35 % ส่งผลให้ช่วงเงินได้ที่เคยจ่ายภาษีในอัตรา 30 % จากที่กำหนดรายได้สุทธิไว้ 2-4 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็น 2-5 ล้านบาท เป็นการยึดหลักคนมีรายได้สูงควรเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้สูงสุดที่ 50 %

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลปัจจุบันอยู่ที่ 40 % ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท/คน/ปี ปรับเพิ่มเป็น ไม่เกิน 1 แสนบาท/คน/ปี และปรับเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 3 หมื่นบาท/คน/ปี เป็นในอัตราสูงมากกว่าเท่าตัวของปัจจุบัน จะทำให้ภาระของคนที่มีรายได้น้อยและยังมีภาระต้องชำระภาษีลดลงไปมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ปัจจุบันเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 10 % หรือช่วงเงินได้ต่อปีไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งคิดเป็นผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ของผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้รับประโยชน์มากสุดจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับปรับปรุงใหม่ว่า จะเสนอครม.พร้อมกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงนี้จะพยายามทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถยอมรับได้ คือจะทำให้ภาระของเจ้าของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายภาษีมีภาระไม่สูงไปกว่าภาระที่เคยจ่ายในระบบภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อยกเว้นค่อนข้างกว้างโดยคนที่มีที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา จนถึง 5ไร่ (แล้วแต่ทำเลที่ตั้งในเขตเมืองหรือชนบท) ได้รับการยกเว้นภาระภาษีบำรุงท้องที่

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีบำรุงท้องที่ ที่ถือเป็นภาษีทรัพย์สินตัวหนึ่งนั้น ยังมีปัญหาในแง่ของฐานราคาปานกลางของที่ดิน ที่ใช้เป็นฐานในการประเมินภาษี ปัจจุบันใช้ฐานราคาที่ดินของปี 2520-2524 แต่ราคาที่ดินได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นอกจากนี้โครงสร้างภาษีบำรุงท้องที่ยังมีลักษณะถดถอย กล่าวคือ คนที่มีที่ดินในราคาสูง เสียภาษีต่ำกว่าคนที่มีที่ดินในราคาที่ต่ำกว่า โดยราคาที่ดินที่ต่ำกว่าไร่ละ 3 หมื่นบาท เสียในอัตรา 0.50 % แต่ราคาที่ดินที่เกินกว่าไร่ละ 3 หมื่นบาท จ่ายในอัตราเพียง 0.25% เท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่นั้น นอกจากต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐแล้ว ยังมีเป้าหมายในการกระจายการถือครองที่ดินด้วย โดยจะเกิดอัตราภาษีที่สูงสำหรับที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควร ทั้งนี้จากการศึกษาของนักวิชาการที่ผ่านมา พบว่า คน 1 % ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดิน ถึง 23.74 % ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook