[แชร์ประสบการณ์แฟนเพจ] มีหนี้ก็มีเงินออมได้
อภินิหารเงินออม AomMoney Guru
สาวหมวยอารมณ์ดี รักงานเขียนและการวางแผนการเงิน มีฝันที่อยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานรักการออม
เรารู้สึกดีใจทุกครั้งที่เห็นว่าหลายๆเรื่องที่เราตั้งใจเขียนแล้วสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคุณครูนักออมเงินที่ครั้งหนึ่งเคยผิดพลาดร้ายแรงจากการก่อหนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาแล้ว จนกระทั่งทำให้ตนเองหลุดจากวงจรหนี้ได้ นับว่าวิธีคิด วิธีการจัดการเกี่ยวกับการเงินเหล่านี้เป็นประโยชน์มากๆกับผู้อ่านหลายท่านซึ่งอาจจะนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองได้ เราขอขอบคุณคุณครูท่านนี้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตตนเองสอนเป็นวิทยาทานความรู้ให้แก่ผู้อื่นด้วย “ประสบการณ์มีหนี้ก็มีเงินออมได้” นะคะ ( * // \\ * )
ข้อความข้างล่างตัวอักษรสีดำเป็นบทสนทนาของคุณครู
เราจะเขียนอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของ “หลักการ + วิธีใช้จริง” ว่าเป็นอย่างไรด้วยตัวอักษรเขียวค่ะ
24 กรกฎาคม 13:11
มีหนี้สินเหมือนกันค่ะ จากความรู้เท่าไม่ถึงการ สมัยทำงานใหม่ๆ เป็นหนี้บัตรกดเงินสด 2 ใบ แถมเป็นหนี้ กยศ.ด้วย แต่ตอนนี้มีประสบการณ์แล้ว ก็ค่อยๆใช้หนี้อย่างมีวินัย แต่ก็ออมควบคู่กันไปด้วยค่ะ
หนี้มี 2 แบบ คือ
1. หนี้ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้ กยศ.) เพราะเป็นหนี้เพื่อการศึกษา เมื่อจบออกมามีงานทำ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้
2. หนี้ไม่ดี คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้บัตรกดเงินสด 2 ใบ) เป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงมาก
24 กรกฎาคม 19:24
จุดเริ่มต้นในการเป็นหนี้ เริ่มต้นตอนทำงานใหม่ๆค่ะ ยังไม่มีความรู้เรื่องการเก็บออมอยู่มาวันนึงมีจดหมายจากธนาคารแห่งหนึ่งส่งมาถึงดิฉัน แนบใบสมัครสินเชื่อบัตรกดเงินสด คงเพราะเงินเดือนทางบริษัทจ่ายผ่านบัญชีธนาคารนี้ เขาจึงเห็นว่ารายละเอียดดิฉันผ่านเกณฑ์ ฉันเลยลองสมัคร ก็กดเอามาหมุน มาซื้อของที่อยากได้ แต่ไม่ได้ศึกษาถึงดอกเบี้ยมหาโหดนั่นเลย จากมีหนึ่งใบ ก็เริ่มเป็นสองใบ จุดเปลี่ยนคือดิฉันว่างงาน ในช่วงที่ดิฉันหางานใหม่ ก็โดนคอลเซนเตอร์โทรมาทวง เสียสุขภาพจิตมาก และในช่วงเวลาเดียวกันดิฉันประสบปัญหาครอบครัว เครียดเกือบฆ่าตัวตาย อย่าว่าแต่เงินใช้หนี้เลยค่ะ เงินที่จะเป็นค่าข้าวแต่ละวัน ยังคิดแล้วคิดอีก
วงจรหนี้
เปิดบัญชีบัตรเครดิต – ธนาคารต้องการหาลูกค้าเพิ่มจึงส่งใบสมัครให้ลูกค้า
วิธีการใช้บัตร – ลูกค้าสมัครแล้วกดเงินมาใช้ซื้อของที่อยากได้โดยไม่ตรวจสอบเงื่อนไขของดอกเบี้ย
วิธีชำระหนี้ – เมื่อชำระหนี้ไม่ได้ก็เริ่มวนหนี้โดยเปิดบัตรใบใหม่ชำระหนี้บัตรใบเดิม
เกิดเหตุฉุกเฉิน – การเกิดเหตุไม่คาดคิด คือ ว่างงาน ประสบปัญหาครอบครัว ทำให้หาเงินชำระหนี้ยากลำบากขึ้น
เสียสุขภาพจิต – การทวงหนี้ทำให้เราเครียด ยิ่งหาเงินไปชำระไม่ได้จะเครียดมากจนไม่มีสมาธิทำงาน
==> การสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นเกิดมาจากการซื้อสิ่งของเพื่อความสุขเพียงชั่วคราว แต่ยังไม่รู้ถึงผลกระทบระยะยาวจนกระทัั้งเกิดปัญหาขึ้นจริงจึงเริ่มรู้สึกตัว เมื่อไม่มีเงินมาชำระหนี้ก็เกิดความเครียด บางรายอาจจะมีอารมณ์ชั่ววูบตัดสินใจผิดพลาดทำให้ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา โชคดีมากๆทีี่คุณครูคิดได้ และลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาต่อไป
24 กรกฎาคม 19:27
ดิฉันได้งานใหม่เป็นครูอัตราจ้าง เงินเดือนตอนนั้นแค่เจ็ดพันกว่าบาท แต่โชคดีที่มีคนหยิบยื่นโอกาสให้ดีฉันมีงานพิเศษหารายได้ แต่ก็ยังไม่มีการออม เพราะยังไม่มีความรู้ แต่ละเดือนจึงเป็นลักษณะหาได้มามีแต่ใช้จ่าย และใช้หนี้ แต่ไม่มีเงินเก็บ
การมีรายได้หลายทาง จะทำให้เรามีรายได้นอกเหนือจากงานประจำ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันที่งานประจำเราหายไป ก็จะมีรายได้ทางอื่นมาจุนเจือครอบครัว ส่วนลักษณะการใช้จ่ายจะนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ โดยไม่มีเงินออม
24 กรกฎาคม 19:31
แย่ที่สุดคือ หนี้ที่จ่ายไปเป็นแค่ดอกเบี้ย ต้นก็แทบไม่ลดเลยค่ะ สรุป ดิฉันเป็นหนี้บัตรกดเงินสดสองใบ รวมเจ็ดหมื่น ยังไม่รวมทุนกู้ยืม กยศอีกเกือบสองแสนบอกได้เลยค่ะว่าสาหัส ดิฉันพยายามคิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไร ให้พ้นจากสภาพนี้ได้สักที เพราะดิฉันเหลือตัวคนเดียว เนื่องจากแม่เสียชีวิตแล้ว ส่วนพ่อก็แต่งงานมีครอบครัวใหม่ มรดกติดตัวก็ไม่มี ถ้าดิฉันทำแบบนี้อีก มีหวังได้ลำบากตอนแก่แน่นอนค่ะ
การวางแผนชีวิต โดยคิด ณ ปัจจุบันว่าตนเองเป็นอย่างไรจากเหตุการณ์ต่างๆรอบตัว(เพราะเหลือตัวคนเดียว ไม่มีมรดกติดตัว) และมองไปถึงอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป จึงเริ่มคิดวางแผนมากขึ้นเพื่อจะได้สบายตอนชรา
24 กรกฎาคม 19:37
อยู่มาวันนึง ดิฉันเข้าไปในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง เจอหนังสือเล่มที่เปลี่ยนความคิดดิฉันใหม่หมด ชื่อ”เงิน เรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน” ของคุณโจ มณฑาณี ตันติสุข ทำให้ดิฉันเริ่มต้นหาออมเงินในวิธีต่างๆ แบบลองผิดลองถูก
ศึกษาหาความรู้ จากการอ่านหนังสือเพื่อเติมความรู้ พัฒนาตนเอง เมื่อเกิดความรู้แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การลงมือทำตาม ซึ่งคุณครูได้ลองนำแนวคิดในหนังสือมาทำจริงๆ
24 กรกฎาคม 20:04
พอดิฉันเริ่มเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็มีเหตุให้ต้องใช้ขึ้นมา คือ นำมาเรียนวิชาชีพครู ซึ่งเมื่อจบหลักสูตร ดิฉันจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบเบิกทางเพื่อสอบบรรจุข้าราชการครู ซึ่งต้องใช้เงินเยอะพอสมควร
การลงทุนเพื่ออนาคต โดยการนำเงินมาเรียนวิชาชีพครูต่อยอดความรู้เพื่อสอบเป็นข้าราชการครู ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต
ที่เล่ามาทั้งหมดนั่นก็คือการวางแผนชีวิตของคุณครูนั่นเอง
24 กรกฎาคม 20:35
แต่ดิฉันก็ยอมค่ะ เมื่อดิฉันเรียนจบ ได้ใบอนุญาตฯ ดิฉันก็ไปสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยทันทีตอนนี้ ดิฉันก็เลยต้องเริ่มเก็บเงินใหม่ เมื่อได้เงินเดือน ดิฉันจะหักฝากบัญชีฝากประจำ 1000 บาทที่เหลือก็จะนำไปใช้หนี้และค่าใช้จ่ายประจำเดือนให้เรียบร้อย แล้วนำเงินที่เหลือมาบริหารหากมีรายได้จร เช่น เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ค่ารับจ้างพิมพ์งาน สอนพิเศษ ก็จะหัก10%ของเงินที่หาได้ฝากธนาคารไว้ค่ะ
วิธีการใช้เงิน
ออมเงินทันที – ฝากประจำ 1,000 บาท
รายจ่ายประจำ – ใช้เงินที่เหลือจากการออมมาจ่ายชำระหนี้และค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน
ออมเงินจากรายได้ทางอื่น 10% – เมื่อมีรายได้ทางอื่นก็จะนำมาออมโดยการฝากธนาคารด้วย เช่น เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ค่ารับจ้างพิมพ์งาน สอนพิเศษ
24 กรกฎาคม 20:43
ตอนนี้ก็ทยอยจ่ายหนี้ แต่ก็อดออมคู่กันไปด้วยค่ะ ใช้ว่ามีหนี้แล้วจะไม่มีเงินออมเสมอไปถือคติ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนค่ะดิฉันถือว่าโชคดีที่เจอปัญาหาตั้งแต่เริ่มชีวิตการทำงาน ทำให้แก้ไขเรื่องกันใช้เงินได้ทัน
วิธีการชำระหนี้
“ไม่มีกฎเหล็กข้อไหนที่บอกว่าหาเงินได้เท่าไหร่ใช้หนี้ให้หมด” เราควรรักษาสมดุลของช่วงเวลา ดังภาพนี้ เพราะหนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ขณะนี้เราทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนอนาคตเป็นเรื่องของการสร้างความมั่งคั่ง แต่ละช่วงเวลาให้เป็นแบบนี้ โดยการทำงานในปัจจุบันเพื่อชำระหนี้บางส่วนในอดีตและออมเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคตไปพร้อมๆกันด้วย
24 กรกฎาคม 20:45
ขอขอบคุณหนังสือเล่มแรก ที่ทำให้ มีเล่มสอง สาม และเล่มอื่นๆตามมาค่ะ
24 กรกฎาคม 20:53
ขอขอบคุณแอดมินที่เปิดโอกาสให้แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างไม่มากก็น้อยตอนนี้ดิฉันก็ยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถ แต่จะไม่ท้อต่อการออมเพื่อตัวเอง เพื่ออนาคตค่ะ
ขอบคุณคุณครูเช่นกันค่ะ ที่ให้ดิฉันเผยแพร่ประสบการณ์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ให้แก่ผู้อื่น ^_^