แชร์ประสบการณ์ ขายน้ำปั่นก็ มีกินมีใช้ ไม่ลำบาก

แชร์ประสบการณ์ ขายน้ำปั่นก็ มีกินมีใช้ ไม่ลำบาก

แชร์ประสบการณ์ ขายน้ำปั่นก็ มีกินมีใช้ ไม่ลำบาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้มีเรื่องประสบการณ์มาเล่าให้ฟังอีกแล้ว สืบเนื่องจากได้ไปพูดคุยกับแม่ค้าร้านน้ำปั่นแถวตลาดย่านที่พัก ซึ่งไปอุดหนุนกันบ่อยๆ จากแรกๆที่เป็นลูกค้าใหม่ๆก็ยืนมองแม่ค้าชงเครื่องดื่มต่างๆบอกเลยว่ามือหนักมาก ชงไม่มีการหวงซึ่งทำให้ติดใจในรสชาติและราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งแก้วแรกที่สั่งนั้นเป็นโอวัลตินนมสดปั่น ซึ่งขายแก้วละ 30 บาท ซึ่งดูธรรมดาใช่ไหมแต่ที่ว่าไม่ธรรมดาคือ

แม่ค้าตักโอวัลตินนับได้ประมาณ 5 ช้อน ซึ่งช้อนที่ใช้เป็นลักษณะช้อนกลมๆอ้วนๆเหมือนช้อนตวงนมผมเด็กแต่ใหญ่กว่านิดหน่อย และใช้นมสดร้อนชงแทนน้ำร้อนธรรมดา แถมด้วยนมข้น น้ำตาล และราดนมสดกระป๋องลงไปอีกก่อนจะปั่น อ่านถึงตรงนี้คิดภาพออกใช่ไหมว่าเข้มข้นขนาดไหน


หลังจากนั้นก็ไปเป็นอุดหนุนกันเรื่อยๆ แต่เขาจะขายเฉพาะกลางคืนตั้งแต่หัวค่ำถึงประมาณเกือบๆเช้า และมีพวกขนมปังสังขยาด้วย ซึ่งพอไปอุดหนุนบ่อยก็เลยได้คุยกัน แม่ค้าเล่าว่าที่ขายกลางคืนเพราะร้านน้ำมีน้อย และทำเลขายใกล้กับร้านโจ๊กโต้รุ่ง และมีร้านอาหารอีกหลายร้าน ทำให้มีลูกค้ามาสั่งพอสมควร อีกทั้งพวกขับรถกลางคืนอย่างแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือ คนที่ทำงานเลิกกะดึกมาหาของกินก็มีเยอะ ทำให้พอมีลูกค้าประจำจำนวนหนึ่ง และขาจรทั่วไปวันๆหนึ่งรายได้ก็อยู่ประมาณ 2-3 พันบาทหักต้นทุนต่างๆแล้วก็เหลือกำไรพอสมควร

ซึ่งแม่ค้าบอกว่ากำไรของเครื่องดื่มพวกนี้สูงถึง 50% เลยทีเดียวและที่ร้านขายราคาไม่แพงทำให้มีลูกค้าเยอะเพราะราคาเครื่องดื่มร้อนจะอยู่ที่ 15-20 บาท เครื่องดื่มเย็นไม่ปั่นก็จะอยู่ที่ 20-25 บาท เครื่องดื่มปั่นก็ 30-35 บาท ซึ่งบางอย่างจะราคาสูงสักนิดอย่างพวกสตอรเบอร์รี่ หรือ ลูกค้าสั่งพิเศษเพิ่มปริมาณก็จะบวกเพิ่มไปซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่รับได้กับราคานี้


ส่วนที่ชงเครื่องดื่มให้เข้มข้นนั้นแม่ค้าบอกว่า เป็นเรื่องปรกติเพราะหากอยากให้ลูกค้าติดใจรสชาติก็ต้องไม่หวงปริมาณ ลูกค้าอยากได้แบบไหนก็สั่งได้ ซึ่งจากที่ลองทานเองนั้นบอกเลยว่าเข้มข้นคุ้มราคาที่จ่ายจริงๆ

ซึ่งได้สอบถามถึงเรื่องของต้นทุนเครื่องดื่มผงแบบนี้ แม่ค้าบอกว่าซื้อจากห้างสรรพสินค้าบ้าง หากมีวัตถุดิบที่ใช้ลดราคา เช่นนมกระป๋อง น้ำตาล หรือพวกน้ำหวานต่างๆ หรือซื้อจากร้านจำหน่ายพวกวัตถุดิบเบเกอรี่บ้าง ร้านค้าส่งในตลาดบ้าง และส่วนใหญ่จะซื้อในปริมาณที่เยอะทำให้ได้ลดราคาและจะซื้อเดือนละสองครั้ง เพราะสามารถกำหนดรายจ่ายของต้นทุนได้ง่ายมากกว่าการที่ต้องออกมาซื้อทุกวันซึ่งมีค่าใช้จ่ายเช่นค่าน้ำมันรถ หรือ ค่ารถตุ๊กๆ หากรถที่บ้านไม่อยู่ต้องมาเอง และการซื้อน้อยๆส่วนมากจะไม่ได้ราคาส่งหรือราคาที่มีส่วนลดด้วย


นอกจานี้ค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่นค่าเช่าที่ซึ่งขายริมถนนขอสิทธิ์จากทางเขต เมื่อตอนที่เขาเปิดให้ขอได้ก็ไม่ต้องเสียค่าที่แพงแต่ก็มีบ้างนิดๆหน่อยเป็นที่รู้ๆกันว่าจ่ายให้ใครซึ่งคงไม่ขอเอ่ยถึง ส่วนค่าไฟนั้นไม่ได้ขอพ่วงจากร้านตึกแถวเพราะใช้ไฟจากแบตเตอรี่ซึ่งลงทุนซื้อเครื่องแปลงไฟและที่ชาร์ทมาไว้เอง ทำให้ไม่ต้องเสียค่าไฟจาการต่อพ่วงแต่ก็ไปเพิ่มค่าไฟบ้านนิดหน่อยเพราะต้องชาร์ทวันหนึ่งหลายชั่วโมง แต่ก็คุ้มเพราะกำไรที่ได้มันพอจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย


ซึ่งแม่ค้าบอกว่าด้วยสภาพอากาศบ้านเราที่กลางคืนก็ไม่ได้เย็นมากแม้จะในฤดูหนาวทำให้สามารถขายเครื่องดื่มเย็นๆได้แม้ว่าจะเลือกขายกลางคืนอีกทั้งช่วงเวลาที่เลือกขายไม่มีร้านค้าแบบเดียวกันทำให้ขายดีในระดับหนึ่ง ส่วนวันหยุดนั้นปรกติก็หยุดวันจันทร์ตามที่เขตกำหนด หรืออย่างช่วงเทศกาลสำคัญที่คนน้อยๆก็จะหยุดพักบ้าง และบางวันก็เลิกเร็วขึ้นสักนิดเพราะคนจะน้อยเช่น วันอาทิตย์ ก็จะเลิกเร็วขึ้นสักชั่วโมง หรือสองชั่วโมง ตามแต่สถานการณ์รวมถึงหากมีฝนตกหนักๆช่วงกลางคืนก็กลับบ้านเพราะอยู่ไปก็ไม่มีลูกค้า

ส่วนของที่เหลืออย่างนมสด หรือ สังขยา ก็ไม่ต้องกลัวเหลือ เพราะตอนเช้าๆก็นำมาขายแถวละแวกที่พักได้ ก็มีลูกค้าเหมือนกันเพราะของเหล่านั้นทำวันต่อวัน เช่น นมสดจะชงและอุ่นใส่หม้อร้อนๆตอนเปิดร้านแล้วเท่านั้น สังขยาก็จะทำช่วงก่อนออกขายทุกวัน ดังนั้นหากวันไหนฝนตกหรือขายไม่หมดก็จะนำมาขายช่วงเช้าๆต่ออีกนิดหน่อยก่อนจะพักผ่อน


เห็นไหมว่าร้านเล็กๆหากมีการจัดการที่ดีก็สามารถทำรายได้ที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นเราเห็นร้านค้าเล็กๆแบบนี้อย่าได้ดูถูกว่าไม่น่ารับประทาน หรือ ทานแล้วไม่โก้ไม่เก๋เหมือนร้านแพงๆ การอุดหนุนร้านเหล่านี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้กระจายได้มากขึ้น และยังประหยัดเงินเราด้วย  ของอร่อยๆราคาถูกยังมีอีกเยอะและของแพงก็ใช่ว่าจะอร่อยไปทั้งหมดด้วย

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook