ร.ฟ.ท.จ่อชงรถไฟทางคู่7สายเข้าครม. 4สายตอกเสาเข็มปีนี้ ดันสายใหม่บ้านไผ่-นครพนม เด่นชัย-เชียงราย
ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม 119 ปี การรถไฟฯจากอดีตถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต ว่า ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือนมีนาคมนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ปลดล็อกโดยใช้ ม.44 ให้สามารถประกวดราคาควบคู่กับการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ หากไม่มีปัญหาอะไรหรือ ครม.อนุมัติทุกโครงการ ร.ฟ.ท.จะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมามาก่อสร้างทันที โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน จะสามารถลงนามในสัญญาได้
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ 7 สาย ประกอบด้วย
1.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 2.98 หมื่นล้านบาท
2.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
3.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงินประมาณ 1.72 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการจะก่อสร้างได้ก่อน เนื่องจากผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ส่วนอีก
4 โครงการอยู่ระหว่างรออีไอเอ คือ 4.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินประมาณ 2.48 หมื่นล้านบาท
5.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงินประมาณ 9.43 พันล้านบาท ซึ่งตามแผนเดิมกำหนดก่อสร้างไว้ในระยะที่ 2 ขณะเดียวกันยังมีทางคู่สายใหม่ คือ
6.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. วงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และ
7.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงินประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท
“ปีนี้ ร.ฟ.ท.จะเปิดประกวดราคาได้ทั้ง 7 โครงการแน่นอน แต่ที่จะก่อสร้างได้ตอนนี้มี 4 โครงการ ส่วนที่เหลือต้องรอให้ผ่านอีไอเอก่อน โดยการเปิดประกวดราคาไปพร้อมกับขั้นตอนอีไอเอ จะช่วยให้โครงการเร็วขึ้นประมาณ 6 เดือน แต่ยืนยันว่าทุกโครงการจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อก่อสร้างได้ต้องผ่านอีไอเอก่อน” นายวุฒิชาติกล่าว
นายวุฒิชาติกล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินประมาณ 9.46 หมื่นล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี) จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตั้งคณะกรรมการพีพีพีขึ้นมาพิจารณาต่อไป และในเดือนมีนาคมนี้ ลงลงนามในสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต