รู้จัก อนุสัญญาเพิ่มเติม ความคุ้มครองประกันชีวิต
การตัดสินใจเลือกกรมธรรม์หลักในการซื้อประกันชีวิตประเภทใดนั้น วงเงินประกัน กำหนดระยะเวลา และแผนการเงินจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล หลังจากนั้นยังสามารถซื้ออนุสัญญาเพิ่มเติมควบกับสัญญาหลักได้ด้วย แต่ไม่สามารถซื้ออนุสัญญาอย่างเดียวได้
อนุสัญญาหรือสัญญาย่อยมีหลายแบบ มักจะมีอายุสัญญาเป็นแบบปีต่อปี จึงมีความเสี่ยงที่บริษัทประกันอาจยกเลิกการทำสัญญาต่อได้ อนุสัญญาจะไม่มีการสะสมมูลค่าเงินเหมือนสัญญาหลัก อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองด้านอุบัติเหตุและสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ
ทั้งนี้ สัญญาเพิ่มเติมประกันภัยอุบัติเหตุเป็นการประกันภัยให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยที่ประสบอุบัติเหตุ ร่างกายบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรักษาพยาบาลหรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
การประกันภัยอุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ อุบัติเหตุส่วนบุคคล อุบัติเหตุกลุ่ม ( เช่น พนักงานบริษัท หรือข้าราชการ) และอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษา
แบบความคุ้มครองของการประกันภัยอุบัติเหตุ ดังนี้
• แบบ อบ.1 ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ/สายตา (สูญเสียสายตา มือและเท้า) และการรักษาพยาบาล (สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ.1 เท่านั้น)
• แบบ อบ.2 ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม ได้แก่ การสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียงและการทุพพลภาพถาวรบางส่วน
• แบบการประกันภัยอุบัติเหตุ สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่ม เช่น ค่าชดเชยรายวันตามการเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรืออุบัติเหตุจากฆาตกรรม ทำร้ายร่างกายโดยเจตนา จลาจลและสงครามกลางเมือง การปฏิวัติ
สัญญาเพิ่มเติมยังแยกย่อยออกไปอีกหลายชนิด ครอบคลุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บุคคลแทบทุกด้าน แต่ละชนิดมีเงื่อนไขบังคับแตกต่างกันไป ควรทำความเข้าใจรายละเอียดให้ชัดเจน อนุสัญญาที่น่าสนใจและควรเลือกทำ มีดังนี้
1. สัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพ บริษัทประกันชีวิตนิยมแถมให้ลูกค้าฟรี โดยกำหนดวงเงินประกันไว้แล้ว ถ้าต้องการมากกว่า ผู้เอาประกันจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยในระดับต่ำมาก เพราะอัตราการทุพพลภาพแบบถาวรสิ้นเชิงซึ่งเข้าข่ายการคุ้มครองนั้นมีอัตราเสี่ยงต่ำ
2. สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ จ่ายเบี้ยถูกรองลงมาจากสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพ เช่น คุ้มครองกรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุชนิดเต็มที่ หากไม่เสียชีวิตจะได้รับค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์แล้วแต่ข้อกำหนดในเงื่อนไขกรมธรรม์
พร้อมกันนี้ยังมีสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองรายได้ เนื่องจากอุบัติเหตุเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ผู้ถือกรมธรรม์กรณีเสียชีวิต หรือกรณีสูญเสียอวัยวะแขนหรือขาหรือตาสองแห่งจะได้รับผลประโยชน์ 100%
กรณีสูญเสียอวัยวะแขนหรือขาหรือตาแห่งเดียวจะได้รับผลประโยชน์ 60% หรือกรณีสูญเสียอวัยวะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างใดข้างหนึ่งจะได้รับผลประโยชน์ 25% ในกรณีทุพพลภาพเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้ค่าชดเชยการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงปีละ 10% (สูงสุดไม่เกิน 10 ปี) และให้ความคุ้มครองถึง 2 เท่าสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในรถไฟ ในลิฟต์ โรงแรม อาคารสาธารณะ
3. สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพผู้ป่วยใน เพื่อจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ให้ความคุ้มครองทั้งสุขภาพทั่วไปและเจาะจงเฉพาะกลุ่มโรค หรือเฉพาะโรค หรือเฉพาะเพศ เฉพาะอาชีพ แต่ละชนิดมีรายละเอียดปลีกย่อยและเงื่อนไขเฉพาะแตกต่างกัน และเบี้ยประกันก็ไม่เท่ากันด้วย
ผู้เอาประกันภัยที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะได้รับเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยสูงสุดของแผนความคุ้มครองนี้
4. สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพผู้ป่วยนอก เพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลและเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เพียงขอใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ จ่ายก่อนยื่นเบิกทีหลังได้ อัตราเบี้ยประกันตามแต่จะเลือก ถ้าเลือกวงเงินคุ้มครองมาก ค่าเบี้ยประกันจะสูงตามไปด้วย ผู้ทำประกันสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้หลากหลาย ตั้งแต่ 400-2,000 บาทต่อครั้งต่อวัน สูงสุด 30 ครั้งต่อปี อายุผู้เอาประกันภัย 1 ปี 1 วัน - 60 ปี หรือมากกว่า
5. สัญญาเพิ่มเติมแนบกับกรมธรรม์เด็ก เพื่อคุ้มครองผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์เด็ก หากเกิดกรณีผู้ชำระเบี้ยประกันภัยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทุนประกันส่วนนี้ยังเป็นมรดกได้ หากเด็กเจ็บป่วยบ่อยเพราะภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรงพอ การเลือกทำประกันสุขภาพให้กับลูกตามความจำเป็นและกำลังทรัพย์ช่วยแบ่งเบาภาระได้เวลาลูกเจ็บป่วยและต้องใช้เงินก้อน ทำให้เบี้ยสุขภาพเพิ่มเติมของเด็กค่อนข้างสูงและจะถูกลงกว่าครึ่งเมื่อเด็กอายุครบ 6 ปี หรือ 10 ขึ้นไป ตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท
6. สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองภัยโรคมะเร็ง เพื่อมอบความคุ้มครองและจ่ายเงินทันทีที่แพทย์ตรวจพบและวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งขณะยังมีชีวิตอยู่ โดยมอบผลประโยชน์ความคุ้มครองสูงสุดถึง 115% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
ผลประโยชน์ความคุ้มครองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
• ประเภทโรคมะเร็งก่อนระยะลุกลาม มีอัตราการจ่ายเงินผลประโยชน์ 15% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยจะจ่ายเพียง 1 ครั้งตลอดอายุกรมธรรม์
• ประเภทโรคมะเร็งระยะลุกลาม กรณีไม่เคยได้รับเงินผลประโยชน์ 15% มาก่อน จ่าย 100% หรือกรณีเคยได้รับเงินผลประโยชน์ จ่าย 85% แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์ 100% เช่น โรคมะเร็งระยะลุกลามภายใน 180 วัน หรือหลัง 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ใช้สิทธิ์เรียกร้องเงินผลประโยชน์ 15% หรือเป็นมะเร็งอวัยวะเดียวกัน หรือข้างเดียวกัน หรือต่างอวัยวะ
แต่มีข้อยกเว้นความคุ้มครองกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งมาก่อนทำประกันภัย หรือมีสาเหตุจากการใช้ หรือเคยใช้ยาเสพติด การติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV AIDS) หรือผู้เอาประกันภัยปฏิเสธไม่ยอมรับการรักษา แนะนำหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
7. สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยโรคร้ายแรงที่บริษัทให้ความคุ้มครองจำนวน 30 โรค เช่น มะเร็ง ไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง โรคโลหิตจางจากการทำงานของไขกระดูกบกพร่อง เนื้องอกในสมอง ไตวาย ตับวาย ภาวะกล้ามเนื้อเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจตาย โปลิโอ โรคพาร์กินสัน อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง การสูญเสียแขนขา การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ไขสันหลังฝ่อโดยไม่ทราบสาเหตุและแผลไฟไหม้พุพองเป็นบริเวณกว้าง
การทำสัญญาความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมประเภทต่าง ๆ เป็นที่นิยมของผู้ซื้อและผู้ขายกรมธรรม์ประกันชีวิต เพราะสัญญาเหล่านั้นเพิ่มประโยชน์ความคุ้มครองให้แก่ผู้เอาประกันอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
Advertorial
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub