IMF แนะ! ขึ้น VAT เป็นร้อยละ 10 หาก ศก.มีเสถียรภาพ
ไอเอ็มเอฟ (IMF) เสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นร้อยละ 10 หากเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันนโยบายการคลังยังเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
วันที่ 29 มี.ค. 59 นางแอนนา กอร์บาโซ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 เริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ชะลอตัวลง เพราะปัญหาการเมือง โดยขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.9 มาจากปัจจัยพลังงานที่ลดลง ส่วนปีนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3 และร้อยละ 3.2 ในปี 2560 ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน รวมไปถึงการลงทุนภาครัฐที่จะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
นางแอนนา ยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยว่า ปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้ามาจากเศรษฐกิจต่างประเทศ, การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและภาวะการเงินโดยรวมตึงตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศ คือ การเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐที่หากล่าช้าจะกระทบภาพโดยรวม และหากเงินเฟ้อติดลบยาวนาน หนี้ครัวเรือนก็จะยังสูงอยู่
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ มองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งของไทยยังเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ทั้งระยะสั้นและระยาวและเสนอให้ไทยดำเนินการใน 3 ด้าน คือ
1.ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาพแบบผ่อนคลาย, รักษาเสถียรภาพการเงิน และเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ โดยเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่จะต้องรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2.รัฐบาลควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นร้อยละ 10 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนแล้ว
3.เสนอให้มีการพัฒนาโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ กล่าวอีกว่า นโยบายการเงินอาจเพิ่มคลายได้เพิ่มจากเงินเฟ้อที่ยังติดลบ การสื่อสารที่ชัดเจน และน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อให้ดียิ่งขึ้นภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ศูนย์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นจะช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้
ทั้งนี้ การที่ไทยจะก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายด้าน ซึ่งไอเอ็มเอฟเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและควรใช้ประโยช์นจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ