ทำประกันสินเชื่อบ้าน ทำแบบไหนให้คุ้ม

ทำประกันสินเชื่อบ้าน ทำแบบไหนให้คุ้ม

ทำประกันสินเชื่อบ้าน ทำแบบไหนให้คุ้ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำถามมากมายว่าทำประกันสินเชื่อบ้านดีหรือเปล่า แล้วจะทำเบี้ยประกันแบบไหนดี ทำวงเงินเท่าไรกันดี แล้วทำแบบไหนถึงจะคุ้มที่สุด เรามาลองหาคำตอบกัน

อย่างที่เรารู้ๆ กัน ว่าปัจจุบันนี้เวลาที่ธนาคารจะให้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านสักหลัง สิ่งที่ตามมาก็คือ ธนาคารจะให้เราทำประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้านด้วย ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ธนาคารอธิบายให้ลูกค้าได้เข้าใจอย่างดีแล้วล่ะก็ การทำประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้านนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อและกับธนาคารผู้ให้สินเชื่อด้วย เพราะถ้าหากลูกค้าที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้านเป็นอะไรขึ้นมาก็สามารถเบาใจได้ว่าบริษัทประกันจะเข้ามาจ่ายเงินที่เหลือแทนบ้านที่มีอยู่ก็ไม่ถูกธนาคารยึดไป หรือคนในครอบครัวก็ไม่ต้องเครียดเรื่องหาเงินมาจ่ายให้กับธนาคาร

แต่ก็ใช่ว่าทำประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้านแล้ว จะคุ้มครองวงเงินสินเชื่อของเราทั้งหมด เราต้องมาดูก่อนว่าบ้านที่เราซื้อและขอสินเชื่อกับธนาคารนั้นเป็นวงเงินเท่าไร ระยะเวลาการผ่อนเป็นกี่ปี เพราะเวลาที่ทำประกันเราจะได้เลือกทุนประกันและระยะเวลาในการคุ้มครองได้ ดังนั้นแล้วเวลาที่เราขอสินเชื่อกับธนาคาร อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือรำคาญเวลาที่เจ้าหน้าที่แจ้งเรื่องประกัน แต่ต้องบอกให้เจ้าหน้าที่ธนาคารอธิบายเราให้ชัดเจนก่อนว่าทุนประกันเป็นเท่าไร ระยะเวลาคุ้มครองนานแค่ไหน ค่าเบี้ยเท่าไร เพื่อเราจะได้ใช้ตัดสินใจเลือกประกัน

เรามาลองดูกันดีกว่าว่าการทำประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้านนั้น จะมีการคุ้มครองกันแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อบ้านหลังละ 3,500,000 บาท และเป็นการกู้เงินจากธนาคารทั้งหมดเลย ระยะเวลา 30 ปี ดังนั้นถ้าจะซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้านให้ครอบคลุมที่สุดก็ต้องซื้อที่ทุนประกัน 3,500,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 30 ปีเท่ากับระยะเวลาที่เราขอสินเชื่อ แต่อย่าลืมว่าค่าเบี้ยประกันก็จะต้องสูงขึ้นตามวงเงินและระยะเวลาคุ้มครองด้วย

ซึ่งถ้าเราซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อตามวงเงินที่เรากู้ยืมมาเลยก็ไม่ต้องกังวล หาเราเป็นอะไรขึ้นมารับรองได้เลยว่าประกันจะจ่ายเงินกู้ที่เหลือแทนเราแน่นอน ซึ่งเราสามารถดูที่ตารางแนบกับกรมธรรม์ได้เลยว่า ปีที่เท่าไร เดือนอะไร และจำนวนเงินเท่าไรที่บริษัทประกันจะจ่ายให้เราในเดือนที่เราเกิดเป็นอะไรขึ้นมา และอีกอย่างที่หลายคนไม่ค่อยจะรู้กันหรือไม่ได้อ่านกรมธรรม์กันให้ละเอียด คือ ประกันคุ้มครองสินเชื่อถ้าเราสามารถปิดบัญชีสินเชื่อได้ก่อนระยะเวลาที่ทำประกันไว้ เราสามารถทำเรื่องขอเงินคืนจากบริษัทประกันได้อีกด้วย แต่จำนวนเงินก็อาจจะไม่ได้มากมายเท่าไรนัก ซึ่งเราต้องให้บริษัทประกันคำนวณให้เราว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้เงินคืนเท่าไร

หรือถ้าเราทำสินเชื่อแบบเป็นบัญชีที่กู้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรากับแฟน หรือจะเป็นพี่กับน้อง เรากับพ่อและแม่ ก็สามารถเลือกทำประกันคุ้มครองสินเชื่อแบบแบ่งวงเงินกันก็ได้ ถ้าเอาตามตัวอย่างเดิม คือ กู้เงินเพื่อซื้อบ้าน 3,500,000 บาท ระยะเวลา 30 ปี และเป็นการกู้ร่วมกันระหว่างเรากับแฟน ก็สามารถแบ่งวงเงินประกันเป็น 2 ส่วนก็ได้ อาจจะแบ่งตามเบี้ยประกันก็ได้ประมาณว่าผู้หญิงจะจ่ายค่าเบี้ยประกันถูกกว่าผู้ชาย หรือถ้ากู้ร่วมกับพี่น้อง พ่อแม่ ก็แบ่งตามอายุก็ได้เหมือนกันอายุน้อยค่าเบี้ยประกันย่อมถูกกว่าผู้สูงอายุอยู่แล้ว อีกทั้งค่าเบี้ยประกันคุ้มครองสินเชื่อก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหา

แต่ถ้าเราซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อแล้วทุนประกันที่ทำ กับระยะเวลาประกันที่เลือกซื้อไว้น้อยกว่าสินเชื่อที่ทำกับธนาคารล่ะ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คำตอบก็คือ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยหากเราไม่ได้เป็นอะไรตลอดช่วงอายุที่เรากู้เงินกับธนาคาร แต่ถ้าเกิดเราเป็นอะไรขึ้นมาครอบครัวของเราจะเจออะไรบ้าง เอาตามตัวอย่างเดิม คือ เรากู้เงินจากธนาคาร 3,500,000 บาท เวลา 30 ปี แต่เราทำประกันคนเดียวด้วยทุนประกัน 1,000,000 บาท 20 ปี หากในปีที่ 5 ของการกู้เงิน แล้วเราเป็นอะไรขึ้นมา ยอดเงินสินเชื่อที่เหลืออยู่กับธนาคารประมาณ 3,000,000 บาท แต่บริษัทประกันจะช่วยจ่ายให้เราจะอยู่แค่ 8-9 แสนกว่าบาทเท่านั้น ดังนั้นครอบครัวของเราจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าบ้านอีก 2 ล้าน ซึ่งถ้ามีกำลังจ่ายไหวก็ดีไป แต่ถ้าไม่มีก็อาจจะเดือดร้อนกันบ้างก็เป็นได้

ดังนั้นหากเราตัดสินใจกู้เงินเพื่อซื้อบ้านแล้วล่ะก็ การทำประกันคุ้มครองสินเชื่อก็น่าจะเป็นการซื้อความสบายใจให้กับเราและครอบครัวของเราทางหนึ่ง ถ้าไม่แน่ใจก็ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเปรียบเทียบค่าเบี้ยประกันและความคุ้มครองให้เราดูก่อนตัดสินใจทำประกันก็ได้

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook