คิดอย่าง "สิงห์" ในวันที่ธุรกิจเบียร์ถึงคราว "ไม่โต"

คิดอย่าง "สิงห์" ในวันที่ธุรกิจเบียร์ถึงคราว "ไม่โต"

คิดอย่าง "สิงห์" ในวันที่ธุรกิจเบียร์ถึงคราว "ไม่โต"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งมาตรการภาครัฐ ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ถึงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดงบฯเพื่อกระตุ้นยอดขายจากการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ แต่ตลาดกลับไม่ได้โตขึ้นตามทิศทางที่ควรจะเป็น ปีที่ผ่านมาตลาดเติบโตเพียง 1% แสดงถึงอนาคตของธุรกิจแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ต่อจากนี้ ที่จะไม่สดใสเหมือนที่เคยเป็นมา

"บุญรอดบริวเวอรี่" ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ และเบียร์ลีโอ ในฐานะผู้นำตลาดตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอย่างดี จะเห็นว่าทิศทางในช่วงหลัง นอกจากเบียร์แล้วก็มีการเข้าไปยังธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น โดนเฉพาะกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์ เช่น เครื่องดื่ม ร้านอาหาร สแน็ก ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสนำเรื่องราวบางส่วนจากงานสัมมนา The Next Tycoons ของนิตยสารฟอร์บสประเทศไทย และจากการพูดคุยกับผู้บริหารรุ่นใหม่ "ปิติ ภิรมย์ภักดี" กรรมการผู้จัดการ บริษัทบุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 ของบุญรอดฯ ถึงมุมมอง วิสัยทัศน์ ในการบริหารท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน เพื่อนำพาบริษัทที่มียอดขายต่อปีกว่า1.8 แสนล้านบาท ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

- สิงห์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในภาวะที่ตลาดเบียร์เป็นขาลงเช่นนี้

จากนี้ไปสิ่งที่เราให้ความสำคัญคงไม่ใช่แค่ยอดขาย หรือมาร์เก็ตแชร์เพียงอย่างเดียว ต้องมองไปถึงการบริหารกำไรด้วย เพราะนอกจากเทรนด์ของตลาดที่เติบโตลดลง และการแข่งขันที่มากขึ้นแล้ว มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐอย่าง ภาษี ที่วันนี้บริษัทต้องจ่ายถึง 65% ของยอดขาย 1.8 แสนล้านบาท

ไม่รวมที่ต้องจ่ายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีก 2% หรือการต้องสมทบเงินกองทุนกีฬาอีก 2% และในอนาคตการปรับขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 10% ทำให้กำไรที่กลับมาสู่บริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 6-7% ปัจจุบันเหลือประมาณ 5% เป็นที่มาของการ Diversify หรือการสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ เพื่อบริหารความเสี่ยง

นอกจากเบียร์ที่เป็นรายได้หลัก ทำให้สิงห์มีธุรกิจในเครือรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 115 บริษัทในปัจจุบัน จาก 48 บริษัทเมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่น อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ ฯลฯ และธุรกิจใหม่เหล่านี้ยังต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากธุรกิจหลัก ซึ่งก็คือกำไรที่เป็นกระแสเงินสดมาช่วยในการขยายตัว หรืออีกวิธีหนึ่ง คือการ Spin Off นำบริษัทย่อยต่าง ๆ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางด้านการเงินในการขยับขยาย ปัจจุบันเครือบุญรอดฯ มีบริษัทสิงห์เอสเตทที่เข้าตลาดแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมอีก 8-9 ธุรกิจที่จะนำเข้าตลาดต่อไป

- ธุรกิจอะไรที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์สิงห์ไลฟ์ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะปรับคอนเซ็ปต์จากแฟชั่น ไปมุ่งเน้นเสื้อผ้ากีฬาโดยเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ "สิงห์ ไลฟ์ สปอร์ต" โดยแนวทางจะใกล้เคียงกับแบรนด์หลีหนิง (Li-Ning) ของประเทศจีน ที่เข้าไปสนับสนุนนักกีฬาจีน โดยบริษัทเองก็เข้าไปสนับสนุนกีฬาประเภทต่าง ๆ จำนวนมากเช่นกัน

- กับธุรกิจเบียร์จะทำอย่างไร

80 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ทุนจดทะเบียนของบริษัทบุญรอดฯอยู่ที่ 6 แสนบาท มี 6,000 หุ้นอย่างไรก็ยังอยู่เท่านั้น การขยายธุรกิจออกไปไม่จำเป็นต้องมาจากการกู้ ข้อได้เปรียบทางด้านการเงินจากการเข้าตลาด หรือการมีพาร์ตเนอร์เพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์หลายครั้งที่ธุรกิจเบียร์มีหลายเจ้ามาติดต่อให้เราผลิต ทำตลาด แต่สุดท้ายแล้วจบลงด้วยการเทกโอเวอร์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยการสวอปหุ้น ฯลฯ ก็ตาม อย่างคาร์ลสเบิร์กที่เข้ามาติดต่อให้เราทำให้ ตอนหลังเขาเริ่มต้องการมากกว่านั้น อยากจะสวอปหุ้น ซึ่งเราไม่มีความสนใจตรงนี้และไม่มีความจำเป็น จึงตัดสินใจลดเป้าของเบียร์คาร์ลสเบิร์กให้น้อยลง เหลือประมาณ 3 ล้านลิตรต่อปี

ผมมองว่าธุรกิจเบียร์ยังมีโอกาสในตลาดต่างประเทศอีกจำนวนมาก แม้เออีซีจะไม่ใช่คำตอบในวันนี้ ก็มองไปยังยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และปัจจุบันมีโอกาสทางการตลาดที่สนใจ คือ การออกมาประมูลขายกิจการของเบียร์ยี่ห้อ Peroni และ Grolsch จากบริษัท Anheuser-Busch InBev NV และ SABMiller เพื่อให้ไม่ขัดต่อนโยบายการห้ามผูกขาดตลาด ในการควบรวมกิจการ

- สิงห์สนใจดีลเบียร์ Peroni และ Grolsch เช่นกัน

ใช่ครับ มีเข้าไปพูดคุย ทำการศึกษาอยู่ โดย HSBC เป็นผู้ดูแล เนื่องจากดีลนี้เป็นประเภท Force to be Sale หรือถูกบังคับให้ขายด้วยข้อกฎหมาย ไม่ได้มีง่าย ๆ และเป็นเบียร์ที่ขายดีอยู่แล้วในยุโรป ซื้อมาแล้วได้แบรนด์ ได้กำไร ได้ตลาดเลย ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งทุกคนในวงการก็ให้ความสนใจกันหมด

นอกจากนั้นยังเป็นการ Secure หรือสร้างหลักประกันให้ธุรกิจ เช่น เรื่องวัตถุดิบ เน็ตเวิร์ก พาร์ตเนอร์ ฯลฯ ซึ่งเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ แต่พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาในไทยจะมาเอาหุ้นเราอย่างเดียว เราก็ต้องออกไปหาจากข้างนอกบ้าง

เรื่องราคาก็ต้องดูให้เหมาะสม และคุ้มค่า ถ้าได้มาแล้วจะช่วยการขยายกิจการไปต่างประเทศได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโต

- ทิศทางของสิงห์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

หน้าที่ของผมในตอนนี้จนถึง 5 ปีข้างหน้า คือการรักษาอัตรากำไร ตั้งเป้าเอาไว้ว่าประมาณ 5% ของยอดขายทั้งหมด

ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างดีมานด์และมองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

คุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ พูดอยู่เสมอว่า สิ่งที่นำเรามาถึงวันนี้อาจไม่นำพาเราไปถึงพรุ่งนี้ และการนำพาให้บริษัทไปถึงที่หมาย ผมมองว่าวิสัยทัศน์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือไดเร็กชั่น หรือการมีทิศทางที่จะนำพาองค์กรไป หากมีวิสัยทัศน์ที่ดีแค่ไหน แต่ไม่มีไดเร็กชั่นในการเดินทางก็ไม่สามารถไปถึงได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook