"ซีพี-ล่ำสูง"ร่วมวงประชารัฐเกษตร ชูโมเดลผลิต"ปาล์ม-ข้าว"สมัยใหม่เชื่อมตลาดโลก

"ซีพี-ล่ำสูง"ร่วมวงประชารัฐเกษตร ชูโมเดลผลิต"ปาล์ม-ข้าว"สมัยใหม่เชื่อมตลาดโลก

"ซีพี-ล่ำสูง"ร่วมวงประชารัฐเกษตร ชูโมเดลผลิต"ปาล์ม-ข้าว"สมัยใหม่เชื่อมตลาดโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาคเอกชนโดดร่วมวง "ประชารัฐภาคการเกษตร" "เครือซีพี-ล่ำสูง" หัวหอก ชูธงพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยี ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เชื่อมโยงการตลาดรองรับ ชาวนา-สวนปาล์ม แห่ร่วมโครงการ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานภาคธุรกิจ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า 18 เมษายน นี้ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐทั้ง 12 ชุด จะเสนอความคืบหน้ามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศช่วง 3 เดือนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เบื้องต้นทั้ง 12 คณะจะมีแผนงานไม่ต่ำกว่าคณะละ 5-6 เรื่อง

"โดยหลักการจะรายงานความคืบหน้าหลังทำงานมา 3 เดือน จะสรุปแผนระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ปัญหาและอุปสรรค ประเด็นที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นการทำตามเป้าหมายช่วยกระจายรายได้ ลดการเหลื่อมล้ำ เพื่อประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ต้องเริ่มจากบริษัทใหญ่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในลักษณะพี่ช่วยน้อง"


คณะกรรมการประชารัฐชุดการเกษตรสมัยใหม่ที่ตนเป็นประธาน มีแผนจะนำคณะภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ อ.จุน จ.พะเยา 6 เม.ย.นี้ ศึกษาโมเดลต้นแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปลูกข้าวเกษตรแปลงใหญ่ ระหว่างชาวนา โรงสี สหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ พันธุ์ข้าวคุณภาพดีมาใช้ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ 600 กก./ไร่ และประสานผู้นำเข้าจากจีนมารับซื้อผลผลิต

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ของคณะทำงานที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คืบหน้าไปมาก ล่าสุดกำหนดกรอบการทำแผนงานระยะสั้น (6 เดือน เม.ย.-ก.ย. 2559) และแผนระยะกลาง-ยาวในปีถัดไป โดยใช้แนวคิดการจัดการ "เกษตรกรรมแปลงใหญ่" ประสานร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ภาครัฐทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนบูรณาการตามความต้องการของพื้นที่เเละเกษตรกร มีกระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และคลังร่วมดำเนินการ เอกชนสนับสนุนบริหารจัดการตลาด รับซื้อผลผลิต และแปรรูป

ขณะนี้มีภาคเอกชนประสงค์เข้าร่วมโครงการเกือบ 30 บริษัท 1.บจ.ช้างแตง 2.บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ 3.บจ.นครสวรรค์หวังดีไรซ์มิลล์ 4.ร้านยุรนันท์พันธุ์ข้าว 5.บจ.กล้า-แกร่ง 6.บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) 7.ศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนและปุ๋ยอินทรีย์พัฒนาบึงประดู่ 8.ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จำเนียรการเกษตร 9.ท่าข้าวทรัพย์อุดม อำเภอบึงนาราง 10.วิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายตำบลท่าไม้ 11.ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ กรมการข้าว 12.ศูนย์ข้าวชุมชนหมู่ที่ 12 ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน

13.สหกรณ์การเกษตรอำเภอมะนัง 14.บจ.ปาล์มไทยพัฒนา 15.บจ.รินไทย อิมพอร์ตเอกซ์พอร์ต 16.โรงสีเจริญธัญญกิจ 2 17.โรงสีไรซ์มิลล์ 18.ทรัพย์ประเสริฐ 19.โรงงานทำข้าวโชคอำนวยผล 20.โรงงานทำข้าวทวีทรัพย์ 21.บจ. SAJEE จ.จันทบุรี 22.บจ. KS จ.ชุมพร 23.บจ. KF จ.ชุมพร 24.บจ. TD จ.ชุมพร 25.บจ. KAF จ.ชุมพร 26.บจ.ริชฟิล จ.ชุมพร 27.บจ.เจียเม้ง

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ใน 76 จังหวัด 268 แปลง พื้นที่รวม 662,669 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 29,169 ครัวเรือน 31 สินค้า เน้นจังหวัดละ 1 แปลง เงื่อนไขสำคัญคือ การสร้างแผนลดต้นทุนการผลิต แผนการเพิ่มผลผลิต แผนเพิ่มคุณภาพผลผลิต แผนการตลาดที่ชัดเจน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook