สิทธิในการทำฟันที่ไม่เป็นธรรม

สิทธิในการทำฟันที่ไม่เป็นธรรม

สิทธิในการทำฟันที่ไม่เป็นธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราคนไทยเมื่อเจ็บป่วยเป็นโรคฟันแล้วจะมีสิทธิในการไปรักษาโรคฟันที่ไม่เป็นธรรม ถ้าท่านเป็นข้าราชการที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5 ล้านคน เมื่อท่านไปทำฟันในรายการดังต่อไปนี้คือ อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินน้ำลาย รักษาโรคปริทันต์ รักษารากฟัน (ทั้งฟันแท้และฟันน้ำนม) ฟันเทียมฐานพลาสติกและฐานโลหะ เดือยและครอบฟัน การใส่เครื่องมือปิดช่องเพดานโหว่ และการถ่ายภาพเอกซเรย์

แต่หากท่านเป็นประชาชนไทยประมาณ 48 ล้านคนที่มีบัตรทองหรือใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ท่านจะได้รับสิทธิใกล้เคียงกับที่ข้าราชการได้รับ มีเพียงบางรายการที่ใช้สิทธิไม่ได้ เช่น ไม่สามารถรักษารากฟันแท้ได้ ไม่สามารถทำฟันเทียมฐานโลหะ เดือยและครอบฟันได้ แต่ก็มีบางรายการที่สิทธิบัตรทองมีมากกว่าสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เช่น ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีก็สามารถเคลือบพลาสติกปิดหลุมร่องฟันและเคลือบฟลูออไรด์ได้ ทั้งนี้เข้าใจได้ว่า ระบบของบัตรทองเน้นเรื่องการป้องกันโรคจึงเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการป้องกันขึ้นมา ในขณะเดียวกันด้วยงบประมาณอันจำกัด จึงต้องตัดบางรายการที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงออก

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดน่าจะเป็นพนักงานบริษัทและโรงงานกว่า 10 ล้านคนที่ใช้สิทธิประกันสังคม เพราะสิทธิในการทำฟันของท่านจะมีเพียงอุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินน้ำลาย และใส่ฟันเทียมฐานพลาสติกเท่านั้น และสิทธินี้ยังกำหนดเพดานค่ารักษาไว้ที่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี ซึ่งหมายความว่า หากท่านมีฟันผุหลายๆ ซี่ ท่านจะต้องทยอยอุดฟันในแต่ละปีเพื่อไม่ให้เกินวงเงินที่กำหนดไว้ การที่ไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้ฟันที่ผุนั้นลุกลามไปจนทะลุโพรงประสาทฟัน ปวดฟัน ซึ่งท่านไม่มีสิทธิที่จะไปรักษารากฟันเพื่อเก็บฟันไว้ ต้องถอนฟันทิ้งไป ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถ้าปีนี้ใช้สิทธิ 600 บาทไปแล้วก็จะต้องทนปวดไปก่อน รอไว้ถอนปีหน้า หากทนปวดไม่ไหวก็ต้องใช้เงินตนเองจ่ายค่าถอนฟัน

การมีเพดานเงินไว้ 600 บาทสะท้อนวิธีคิดในการจัดบริการทันตกรรมที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ไม่ได้สะท้อนเรื่องสิทธิในการได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย คนไทยไม่ว่าจะมีสิทธิในระบบประกันใดๆ เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคฟันพื้นฐาน เช่น ฟันผุ ปริทันต์อักเสบ ควรจะมีสิทธิในการไปใช้บริการได้ตามระบบที่จัดไว้ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

สิทธิทำฟันของประกันสังคมนอกจากมีสิทธิน้อยกว่าระบบอื่นๆ แล้ว แหล่งที่มาของเงินกองทุนก็ต่างจากระบบสวัสดิการข้าราชการและบัตรทอง เพราะทั้ง 2 ระบบนี้ใช้เงินจากงบประมาณของประเทศ แต่กองทุนประกันสังคมได้เงินมาจากเงินสมทบจากเงินเดือนลูกจ้าง เงินจากนายจ้างและรัฐบาลร่วมจ่าย ใครที่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคมคงเข้าใจดีว่าจะต้องหักเงินเดือน 5% เป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งเงินที่หักนี้กองทุนประกันสังคมไม่ได้ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่มีการคุ้มครองเรื่องการคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพอีกด้วย

ทางสำนักงานประกันสังคมได้ระบุว่า ได้ใช้เงิน 0.88% ของเงินเดือนลูกจ้างในการรักษาพยาบาล แต่อย่างไรก็ดี การที่มีการร่วมจ่ายเป็นเงินสมทบจากลูกจ้างจึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องแหล่งที่มาของเงินกองทุน เมื่อเทียบกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการและบัตรทองที่ใช้ภาษีอากรของประเทศทั้งหมด

ระบบในการเบิกจ่ายเงินมีความสำคัญเช่นกัน ถ้าเป็นสิทธิของข้าราชการ ท่านสามารถรับบริการทันตกรรมในโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ใช้สิทธิในการเบิกจ่ายตรง) เช่นเดียวกับสิทธิของบัตรทองที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาใดๆ ส่วนในระบบประกันสังคมเมื่อไปทำฟันแล้ว จะต้องสำรองเงินตนเองจ่ายเป็นค่าทำฟันไปล่วงหน้า จากนั้นนำเอกสารใบเสร็จไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่ เมื่อไปทำเรื่องเบิกค่าทำฟันก็จะไม่ได้รับเงินสดคืนทันที แต่จะต้องรอให้ทางสำนักงานประกันสังคมโอนเงินเข้าในบัญชีของธนาคาร

ที่ผ่านมานั้น การทำฟันในระบบของประกันสังคมมีจุดเด่นในเรื่องการเลือกสถานพยาบาลที่จะไปทำฟันได้อย่างเสรี พนักงาน ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะมีทางเลือกที่จะไปทำฟันได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐหรือคลินิกทันตกรรมในภาคเอกชนใดๆ ก็ได้ ซึ่งต่างจากระบบสวัสดิการข้าราชการและบัตรทองที่ต้องไปทำฟันในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

เป็นเรื่องที่ท้าทายของสำนักงานประกันสังคมที่จะ “ปฏิรูป” สวัสดิการในการทำฟันให้แก่พนักงาน ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ต้องลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการทำฟัน รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายค่าทำฟัน เพื่อลดอุปสรรคในการไปใช้บริการ ทั้งนี้เป็นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ผู้เขียน ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 5 เม.ย. 59

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook