บุกพิสูจน์ดงกล้วยจีนยึด"พญาเม็งราย"คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง-ซื้อจากลูกไร่โลละ1.20บาท
ชื่อของอำเภอ "พญาเม็งราย" เมืองเล็ก ๆ ติดกับอำเภอเทิง เชียงของ และขุนตาล จังหวัดเชียงราย เป็นที่รู้จักเมื่อมีกระแสข่าวกลุ่มทุนจีนรุกคืบเข้ามาเช่าที่ดินจากนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อลงทุนปลูกกล้วยในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 2,750 ไร่ตั้งแต่ปี 2558 ในนามบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจพบว่า สวนกล้วยขนาดใหญ่อยู่ติดกับถนนสายพญาเม็งราย-เทิง-ขุนตาล สภาพทั่วไปเป็นทุ่งนากว้างสุดลูกตาอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิง และลำห้วยร่องคั่วะ อยู่ห่างจาก อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว เชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน 50 กิโลเมตรเท่านั้น
ชาวบ้านที่นั่นบอกว่า พื้นที่ในโซนนี้มีสภาพแห้งแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเข้าไปเช่าที่ดินจากเจ้าของเดิมไร่ละ 600-700 บาทต่อปี เพื่อปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย ต่อมามีนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปเช่าที่ดินบริเวณสวนกล้วยไร่ละ 200-300 บาทต่อปี กระทั่งปัจจุบันมีการนำมาให้เอกชนจีนเช่าต่อไร่ละ 1,000 บาท สัญญาเช่าที่ดิน 9 ปี
สำหรับกรณีที่ชาวบ้านใน ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย ร้องเรียนต่อทางอำเภอให้แก้ไขปัญหาบริษัทหงต๋าฯสูบน้ำไปใช้นั้น ล่าสุดสวนกล้วยได้หยุดสูบน้ำจากแม่น้ำอิงแล้ว และหันมาขุดบ่อบาดาลภายในสวนแทน โดยมีเกษตรกรไทยคอยดูแลสวนกล้วยที่แบ่งเป็นโซน ๆ และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ต้นปี 2559 เพื่อส่งออกไปจีนผ่านทาง อ.เชียงของ-ถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีน ระยะทาง 254 กิโลเมตร ก่อนที่จะกระจายไปยังตลาดจีนตอนใต้
ที่สำคัญมีระบบการเก็บเกี่ยว และแพ็กเกจจิ้งที่ทันสมัย โดยมีการขนส่งกล้วยหอมจากสวนผ่านรอกที่โยงไปทั่วสวน เพื่อลำเลียงไปยังโรงบรรจุหีบห่อ มีการชั่งน้ำหนักก่อน จากนั้นนำไปล้างน้ำสารส้มในบ่อแรกและชุบสารเคลือบในบ่อที่ 2 ก่อนชั่งน้ำหนักอีกครั้ง และนำบรรจุในกล่องกระดาษที่มีการห่อหุ้มด้วยโฟมกันกระแทกอย่างดี ก่อนขนขึ้นรถบรรทุกห้องเย็น เพื่อรอส่งออก ปัจจุบันกำลังก่อสร้างห้องเย็นด้วย
"ภูเบศร์ จูละยานนท์" นายอำเภอพญาเม็งราย บอกว่าพื้นที่สวนกล้วยของเอกชนจีนที่ปลูกใน อ.พญาเม็งรายมีแค่ 2,750 ไร่ ถือว่าเป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกใน สปป.ลาว กว่า 20,000 ไร่ โดยเป็นลักษณะเช่าซื้อจากเอกชนไทย จากนั้นปลูกกล้วยหอมเพื่อการส่งออกกลับไปยังประเทศจีนเป็นหลัก ปัจจุบันมีการปลูกโตแล้ว 500 ไร่ และเริ่มมีการส่งออกแล้ว
ขณะที่ "สำอาง บุตรพรม" หัวหน้าคนงาน กล่าวว่า กล้วยในสวนมีการดูแลคุณภาพอย่างดี โดยสารเคมีที่ใช้ก็ใช้สินค้าและมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศจีน จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีผลกระทบ และผลผลิตทั้งหมดจะส่งไปขายที่ประเทศจีน ไม่ได้ขายในประเทศไทย ส่วนการบริหารจัดการนั้น เอกชนจีนได้เช่าที่ดินจากเอกชนไทย จากนั้นจึงจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไทย 30 ครอบครัวดูแลสวนกล้วยเป็นราย ๆ ไปตามเกณฑ์ที่บริษัทหงต๋าฯกำหนด คือ เกษตรกรดูแลไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 5,000 ต้นต่อราย พร้อมทั้งสร้างที่พัก จัดหาอุปกรณ์ ปุ๋ย สารเคมีและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไว้พร้อมสรรพ
เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็จะนำส่งโรงบรรจุหีบห่อผ่านทางสายรอก โดยติดชื่อเจ้าของสวนเอาไว้ โดยบริษัทจะรับซื้อจากเกษตรกรแต่ละรายกิโลกรัมละ 1.20 บาท แต่ละเครือมีน้ำหนักตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไป บางเครือมีน้ำหนักสูงถึง 33-35 กก. แต่เพื่อให้ได้คุณภาพดีจะตัดเอาไว้เฉพาะผลที่ดี และคัดเฉพาะ 7 หวีแรกเท่านั้น หากเกินกว่านั้นต้องตัดคัดออก
"ใช้เวลาปลูกกว่า 9 เดือนก็ได้ผลผลิต จากนั้นรุ่นที่ 2 จะให้ผลผลิตใน 6 เดือน โดยใช้วิธีการตัดต้นเดิมและบำรุงต้นหน่อโดยไม่ต้องปลูกใหม่ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต้นละประมาณ 25 บาทต่อรุ่น ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำสวนก็ไปเป็นลูกจ้างในโรงบรรจุหีบห่อและอื่น ๆ ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในอนาคตคนงานจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะนอกจากคนดูแลสวนกล้วยแล้ว ยังมีคนงานประจำ 83 คน ดูแลสวนกล้วยรวม 200 ไร่ และเพาะต้นกล้าไว้อีก 5 แสนต้น เพื่อจะปลูกในพื้นที่อีก 1,000 ไร่"
หัวหน้าคนงานยังบอกอีกว่า ปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นนั้น ได้แก้ไขโดยการขุดบ่อบาดาลแล้ว 3 แห่ง คาดว่าไม่มีปัญหาอีก และที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการเกษตรกรรมของไทย
ด้านนักธุรกิจจีนจากมณฑลเสฉวน ที่เดินทางมารับซื้อกล้วยของบริษัทหงต๋าฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเดินทางมาซื้อกล้วยที่ประเทศไทยเพราะในจีนมีแค่ 2 ฤดู เมื่อถึงฤดูหนาวจะไม่สามารถปลูกกล้วยได้ แต่ประเทศไทยสามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี หรืออย่างน้อย 7-8 เดือนต่อปี โดยเฉพาะช่วงนี้ไม่มีผลผลิตกล้วยในประเทศจีนจึงต้องหาซื้อจากนอกประเทศแทน ขณะที่คนจีนนิยมบริโภคกล้วยมาก จึงต้องออกมาหาซื้อ โดยอยากได้ราคากิโลกรัมละ 5 บาท แต่หากได้ 7.50 บาท/กก. ก็จะรับซื้อแล้ว เพราะราคาในประเทศจีนขายที่กิโลกรัมละ 2 หยวน หยวนละประมาณ 5 บาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาค้าปลีก-ส่งในจีนไม่แน่นอน จึงต้องใช้การไปดูแหล่งผลิตและตกลงราคากันเป็นครั้ง ๆ ไป โดยไม่มีการกำหนดราคาล่วงหน้า เมื่อได้สินค้าก็ขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 22 ตัน ผ่านไปทางถนนอาร์สามเอไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เมืองฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง
แหล่งข่าวในวงการค้าผลไม้ เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นการลงทุนของทุนจีน โดยร่วมมือกับเอกชนและเกษตรกรไทย เพื่อนำผลผลิตส่งออกในรูปแบบ "คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง" (Contract Farming) เป็นครั้งแรก โดยทางการจีนได้ให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนที่ออกไปลงทุนนอกประเทศจีน ที่ผ่านมามีกระแสว่าใช้เงินลงทุนสวนกล้วยหอมที่ อ.พญาเม็งรายไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท และการส่งออกช่วงแรก ๆ ประสบปัญหามากเพราะไม่มีห้องเย็นเป็นของตัวเอง ขณะนี้จึงมีการสร้างห้องเย็นใกล้โรงงานบรรจุหีบห่อ
นอกจากนั้นทุนจีนกลุ่มนี้ยังได้ประสานไปยังนักธุรกิจในอ.จุน จ.พะเยา เพื่อจะปลูกมะละกอ มะม่วง ฯลฯ เพิ่มเติมอีก โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์ภายในประเทศไทยเป็นหลัก เพราะมีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจีน แม้แต่กล้วยหอมที่ปลูกในปัจจุบันก็พัฒนาสายพันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
นี่คือ ปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรมของไทย