ผู้ประกันตนจี้ ก.แรงงาน เพิ่มค่าทำฟัน 1,200 บ./ครั้ง ขู่ไม่คืบล่า 1 ล้านชื่อ ร้องตรง ‘บิ๊กตู่’
เมื่อวันที่ 8 เมษายน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดยนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ประกันตนที่สนับสนุน 10,000 รายชื่อต่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เรียกร้องให้ปฏิรูปสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม แต่เนื่องจากปลัดกระทรวงแรงงานติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน รับหนังสือแทน ขณะที่เลขาธิการ สปส.ก็ไม่ได้เดินทางไปรับข้อเรียกร้องดังกล่าว
นายมนัสเปิดเผยว่า ผู้ประกันตนต้องการเรียกร้องให้ สปส.ปฏิรูปสิทธิทันตกรรมให้เท่าเทียมกับสิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากแม้จะให้สิทธิรักษาหรือรับบริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน รวมทั้งอื่นๆ ที่ไม่แตกต่างจากสิทธิอื่นๆ มาก แต่ในความเป็นจริงการจำกัดวงเงินเพียง 600 บาทต่อปี ซึ่งแทบทำอะไรไม่ได้ ที่สำคัญยังให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานรายวัน ค่าจ้าง 300 บาท เครือข่ายฯ และภาคีที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยขอให้มีการเพิ่มเพดานเงินจาก 600 บาท เป็น 1,200 บาทต่อปี และไม่ต้องให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย
“เงินสมทบของผู้ประกันตนจะถูกแบ่ง 4 ส่วน คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีเสียชีวิต งบประมาณทั้งหมด 42,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เบิกจ่ายทันตกรรมเพียง 521 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีผู้เข้าถึงบริการเพียง 1 ล้านกว่าคน จากผู้ประกันตนกว่า 11 ล้านคน แต่เมื่อมีการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ โดยอิงฐานข้อมูลจาก สปส. พบว่าหากเพิ่มวงเงินเป็นปีละ 1,200 บาทก็ยังเพียงพอ ดังนั้น เครือข่ายฯ มองว่า
1.ควรเพิ่มวงเงินเป็นปีละ 1,200 บาท แต่หากมีความจำเป็นสามารถรับบริการได้อีก
2.ต้องไม่สำรองจ่าย
3.เพื่อให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น ควรให้การบริการทันตกรรมไปอยู่ในกรณีเจ็บป่วย หรือตั้งเป็นอีกกรณี เพราะปัญหาช่องปากเป็นด่านแรกของโรคอื่นๆ หากไม่ดูแลให้ดี” นายมนัสกล่าว
นอกจากนี้ นายมนัสกล่าวอีกว่า ประกันสังคมเกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ขณะนั้นถือเป็นสิทธิที่ดีที่สุด แต่เมื่อมีบัตรทองในปี 2545 กลายเป็นว่าดีกว่า สปส. ดังนั้น ถึงเวลาต้องปฏิรูป เพราะรัฐบาลชุดนี้และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าสิทธิสุขภาพของคนไทยต้องไม่เหลื่อมล้ำ จึงถือเป็นโอกาสที่ควรปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ทราบว่าคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จะประชุมกันในวันที่ 12 เมษายนนี้ และคณะกรรมการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) จะประชุมอีกในวันที่ 27 เมษายน
ดังนั้น เครือข่ายฯ จะติดตามผลการประชุมในวันที่ 28 เมษายน ว่ามีความคืบหน้าและให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนมากน้อยแค่ไหน หากไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายจะล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อนำไปเสนอต่อนายกฯ พิจารณา ตั้งเป้าขอให้เป็นของขวัญแก่ผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานของโรงพยาบาลจะเห็นความแตกต่างของแต่ละสิทธิ เช่น บัตรทองจะได้รับสิทธิในการถอน อุดฟัน ขูดหินปูน รักษาโรคปริทันต์ ได้รับการดูแลฟันทุกซี่ทุกอาการโดยไม่จำกัดวงเงิน
ส่วนผู้ประกันตนก็ได้รับสิทธิเหมือนกัน แต่ข้อสังเกตเมื่อแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากของผู้ประกันตนแล้วพบว่าเกินวงเงิน 600 บาท ก็จะสอบถามว่าสามารถจ่ายเองได้หรือไม่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่ทำ บอกขอทนไปจนปีหน้าจะได้สิทธิฟรี กลายเป็นว่าอาการลุกลาม จึงมองว่ารัฐบาลควรให้สิทธิดูแลสุขภาพของทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะแม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพแล้ว ก็ยังได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากโดยไม่จำกัดวงเงินเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขต้องจ่าย 30 บาท
นางอรุณี ศรีโต คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า มองว่าเรื่องทำฟันเป็นเรื่องที่เหลื่อมล้ำกับกองทุนอื่นอย่างเห็นได้ชัด จึงมองว่าควรจะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาฟันได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินจ่ายสำรองก่อน เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น และไม่ส่งผลให้เจ็บป่วยจนกลายเป็นโรคร้ายแรง
นายสุวิทย์กล่าวว่า การที่ คปค.และเครือข่ายมีข้อเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน โดยจะนำไปเสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน อีกทั้งจะนำเสนอต่อเลขาธิการ สปส. เพื่อให้รับทราบ โดยจะมีการนำเข้าที่ประชุมบอร์ด สปส.ในวันที่ 12 เมษายนนี้
นางชลอลักษณ์ แก้วพวง ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส.กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องไปศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกกับทั้งผู้ประกันตนและสถานพยาบาลที่เข้าร่วม ซึ่งต้องจัดระบบการเบิกจ่ายเงินให้มีความรัดกุมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการยื่นเบิกค่าทำฟันของสถานพยาบาล ส่วนเรื่องการเพิ่มวงเงินนั้น ต้องมีการศึกษาอย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนหรือไม่ นอกจากนี้ อาจต้องนำระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาประกอบการพิจารณาด้วย