ยักษ์ยิ้ม เสื้อผ้าเพื่อคนตัวใหญ่
“ยักษ์ยิ้ม” เป็นแบรนด์สินค้าที่สะท้อนตัวตนของสินค้าได้ดีทีเดียว เพราะแบรนด์นี้ทำเสื้อผ้าเฉพาะสำหรับผู้ชายตัวใหญ่ให้มีความสุข ยิ้มได้กับเสื้อผ้าที่ถูกใจ ทั้งในแง่คุณภาพ แฟชั่น และแพตเทิร์นที่ลงตัว ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพรพรรณได้ใส่ใจของคนทำลงไปในแบรนด์ยักษ์ยิ้มด้วย
พรพรรณ ธนสารสุทธิพงษ์ เลือกที่จะออกมาเดินบนเส้นทางผู้ประกอบการ หลังจากที่บริษัทเปิดให้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก โดยเธอได้วางแผนเอาไว้ว่า จะเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของช่องทางธุรกิจนี้ ซึ่งในระหว่างพยายามค้นหาทางเดินบนถนนอี-คอมเมิร์ซ พรพรรณเลือกที่จะลองผิดลองถูกกับเว็บไซต์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Ebay Alibaba Amazon หรือ Etsy ด้วยการเข้าอบรม และเสาะหาสินค้าต่างๆ ไปลงขายในเว็บไซต์เหล่านั้น แต่สุดท้ายด้วยคำพูดของเพื่อนผู้ชายตัวใหญ่ที่ว่า “ผู้ชายอ้วนหาเสื้อใส่ยากมาก แล้วคนพวกนี้ถ้าซื้อจะซื้อเยอะมาก” ได้จุดประกายให้พรพรรณตัดสินใจทำเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายตัวใหญ่ขายทางออนไลน์ และในก้าวแรกเธอก็ได้รับบทเรียนกลับมามากมาย
“ตอนนั้นเริ่มต้นก็คิดจะสร้างแบรนด์เลย ทำแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายตัวใหญ่ชื่อยักษ์ยิ้ม ไปติดต่อโรงงานให้ผลิตเสื้อให้ ซึ่งต้องสั่งเยอะมาก เพื่อให้ได้ราคาถูกลง แต่ปรากฏว่าตอนนั้นขาดทุน 300,000 บาท เพราะไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้อะไรเลย มีปัญหาตั้งแต่เรื่องการทำขนาดเสื้อที่ผิด สไตล์เสื้อผ้าที่ไม่เป็นแฟชั่น คือเราคิดว่าเพื่อนตัวใหญ่แล้ว ก็เอาไซส์เพื่อนเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วไซส์เพื่อนเราเป็นไซส์ที่เรียกว่าเล็กในกลุ่มผู้ชายไซส์ใหญ่ ขณะที่โรงงานก็แนะนำไซส์มาตรฐาน XL ซึ่งมีขายทั่วไปในตลาด ที่สำคัญโรงงานที่เลือกผลิต เป็นโรงงานที่ตัดเครื่องแบบพนักงานออฟฟิศ แบบที่เขามาให้เราเลือก มันเลยเป็นแบบธรรมดาๆ ไม่ค่อยแฟชั่น สุดท้ายขายไม่ได้ ต้องเอาเสื้อไปบริจาค”
สำหรับช่องทางคือ ออนไลน์นั้น พรพรรณบอกว่า มีข้อดีคือไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น พรพรรณจึงมีช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ โดยเน้นการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้ช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางขึ้นอันดับต้นๆ และคนรู้จักมากขึ้น
“ยักษ์ยิ้มเป็นแบรนด์ที่เป็นนิช มาร์เก็ต (Niche Markrt) ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่กลุ่มคนซื้อกว้างๆ สมมุติคนไปเดินห้างสรรพสินค้า 100 คน ในจำนวนนี้จะมีลูกค้าที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าไซส์ใหญ่เพียง 2-3 คนเท่านั้น ฉะนั้นการเปิดร้านแล้วหวังจะให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาเราจึงเป็นไปได้ยาก แต่ช่องทางออนไลน์นอกจากไม่มีต้นทุนการเปิดร้านแล้ว ยังกระจายสู่วงกว้างได้มากกว่า แล้วเราทำ SEO ทำให้ลูกค้าเซิร์ซคำว่าเสื้อผ้าคนอ้วนก็จะเจอของเรา เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือด้วย”
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรกของการเริ่มต้น แต่พรพรรณก็ไม่ยอมแพ้ โดยในคราวนี้เธอเปลี่ยนวิธีการจากจ้างโรงงานผลิต หันมาเดินช้อปปิ้งตามแหล่งค้าส่งเสื้อซึ่งง่ายกว่า และไม่ต้องสั่งทีละมากๆ เหมือนโรงงาน กระนั้น แม้จะสามารถขายได้เรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ไม่ใช่แบรนด์ของตัวเองแล้ว ไม่มีความแตกต่างจากเสื้อผ้าทั่วไป และเจอปัญหาคุณภาพ และแพตเทิร์นที่ไม่ลงตัว เธอจึงตัดสินใจกลับไปสร้างแบรนด์อีกครั้ง
“ขนาดเสื้อใหญ่จริง แต่ใหญ่ทั้งตัว คือใส่แล้วแขนเสื้อยาวถึงศอก ตัวเสื้อยาวเกินไป แพตเทิร์นใหญ่ทั้งตัว ไม่ได้สัดส่วน และบางครั้งเนื้อผ้าก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เลยตัดสินใจกลับไปสร้างแบรนด์อีกครั้ง โดยตั้งใจมากว่าจะทำให้ได้ แล้วเรามีบทเรียนจากในครั้งแรกแล้ว เลยไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องเป็นราว และได้มีโอกาสเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจสินค้าที่เป็นแฟชั่น ที่สำคัญได้คอนเน็กชัน จากเพื่อนๆ ซึ่งมีการร่วมมือกันทางธุรกิจ การออกบู๊ธตามงานต่างๆ ทำให้สามารถขยายตลาดได้เพิ่มมาก”
ทั้งนี้ พรพรรณบอกด้วยว่า การที่เธอได้เข้าอบรมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น ได้รับความรู้ทั้งในแง่การทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนแผนธุรกิจ การตลาด หรือการสร้างแบรนด์ ขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้ประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยตรง เช่น การออกคอลเลกชั่น แรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งตัวเธอไม่เคยมีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลย
ถึงแม้ว่าในวันนี้ พรพรรณจะสามารถสร้างแบรนด์ยักษ์ยิ้มให้โลดแล่นบนอี-คอมเมิร์ซได้ แต่ยากที่จะปฏิเสธว่าตลาดเสื้อผ้าสำหรับคนตัวใหญ่นั้นก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเริ่มมีการแข่งขันสูงตามไปด้วย แต่ พรพรรณยืนยันว่า แบรนด์ยักษ์ยิ้มจะมีความแตกต่าง เพราะเธอจะทำเสื้อผ้าเป็นคอลเลกชั่น และเป็นแฟชั่นมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญ ประการแรก คุณภาพ ทั้งเนื้อผ้าการตัดเย็บที่เลือก ประการที่สอง แพตเทิร์นที่เหมาะกับคนตัวใหญ่จริงๆ และประการที่สาม การพูดคุยกับลูกค้า เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ ดึงให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบ ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ และเห็นว่าแบรนด์ยักษ์ยิ้มทำเพื่อเขาจริงๆ
“คนอ้วนปกติจะไม่มั่นใจในตนเอง แต่เราจะทำเสื้อผ้าคนอ้วนเพื่อให้คนตัวเล็กอิจฉาว่า ทำไมถึงไม่มีเสื้อผ้าแบบนี้ใส่บ้าง” พรพรรณกล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)