เปิดแนวเวนคืน "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ทุ่ม 9 พันล้านรื้อ 594 หลัง "ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี"
คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต โดย มิสเซอร์เวย์
เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายทางที่ "รัฐบาลประยุทธ์" กำลังเร่งปักหมุดภายในรัฐบาลชุดนี้ สำหรับสายสีส้มเฟสแรก ระยะทาง 21.2 กม. เชื่อมสถานี "ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี"
เพราะหากพ้นจากนี้ไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาไหนผลักดันโครงการได้สำเร็จ ด้วย "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" ต้องกู้มาก่อสร้างกว่า 92,460 ล้านบาท
ความคืบหน้าขณะนี้ "กระทรวงคมนาคม" ได้เสนอ "ครม.-คณะรัฐมนตรี" อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนเพื่อเดินหน้าประมูลโครงการ มีแผนจะเปิดขายซองประมูลภายในเดือน พ.ค.นี้ แบ่งก่อสร้างเป็น 6 สัญญา คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างปลายปีนี้และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2560 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ตามกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2563
ล่าสุดแนว พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา (ดูแผนที่) จากนี้ "รฟม." ในฐานะเจ้าของโครงการจะเริ่มเวนคืนที่ดินเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะเปิดไซต์งานต้นปี 2560
สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มจากสถานีศูนย์วัฒนธรรม จุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายปัจจุบัน จากนั้นไปยังศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) สำนักงาน รฟม. แล้วเบี่ยงแนวไป ถ.พระราม 9 เลี้ยวเข้า ถ.รามคำแหง แยกลำสาลี กาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่สุวินทวงศ์ ใกล้จุดตัดกับ ถ.รามคำแหง
ตลอดระยะทาง 21.2 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.2 กม.จากศูนย์วัฒนธรรม-สถานีคลองบ้านม้า จากนั้นจะเป็นโครงสร้างทางยกระดับ 9 กม. จนถึงสถานีปลายทางที่สถานีสุวินทวงศ์ จะมีเวนคืนที่ดิน จำนวน 594 แปลง และอาคารสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 222 หลัง รวมค่าเวนคืน 9,625 ล้านบาท
โดยจุดที่จะเวนคืนที่ดินอยู่บริเวณจุดขึ้น-ลงสถานี มีรัศมีแนวเขตทางกว้างตั้งแต่ 200-500 เมตร เพื่อก่อสร้าง 17 สถานี พาดผ่านพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตสะพานสูงและเขตมีนบุรี
แต่จะมีจุดเวนคืนใหญ่อยู่ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม สถานีประดิษฐ์มนูธรรม สถานีลำสาลี สถานีมีนบุรี และสถานีปลายทางสุวินทวงศ์
รวมถึงเวนคืนที่ดินย่านสถานีคลองบ้านม้า จะเป็นจุดก่อสร้างจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) จอดรถได้ 1,200 คัน และมีนบุรีที่จะใช้จุดจอดรถใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จอดได้ 3,000 คัน
สำหรับจุดที่ตั้งทั้ง 17 สถานี ประกอบด้วย
1.สถานีศูนย์วัฒนธรรม อยู่ใต้ ถ.รัชดาภิเษกหน้าห้างเอสพลานาด เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายปัจจุบัน จะเจาะอุโมงค์ทะลุเข้าห้างเอสพลานาดด้วย ซึ่งตามแบบจะใหญ่กว่าที่สถานีพระราม 9
2.สถานี รฟม.อยู่บริเวณประตูติด ถ.พระราม 9
3.สถานีประดิษฐ์มนูธรรม อยู่ใต้ ถ.พระราม 9 ปากซอยเข้าวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
4.สถานีรามคำแหง 12 อยู่ด้านหน้าห้างเดอะมอลล์
5.สถานีรามคำแหง อยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
6.สถานีราชมังคลา อยู่ด้านหน้าสนามกีฬาหัวหมาก
7.สถานีหัวหมาก อยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลรามคำแหง
8.สถานีลำสาลี ตั้งอยู่บริเวณแยกลำสาลี
9.สถานีศรีบูรพา อยู่บริเวณแยกรามคำแหงตัด ถ.ศรีบูรพา หน้าห้างบี๊กซี เอ็กซ์ตร้า สุขาภิบาล 3
10.สถานีคลองบ้านม้า อยู่ระหว่างซอยรามคำแหง 92-94
11.สถานีสัมมากร ใกล้หมู่บ้านสัมมากร
12.สถานีน้อมเกล้า อยู่หน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
13.สถานีราษฎร์พัฒนา อยู่หน้าบริษัทมิสทิน
14.สถานีมีนพัฒนา อยู่ช่วงทางเข้าวัดบางเพ็ญใต้
15.สถานีเคหะรามคำแหง ตั้งอยู่ปากซอยรามคำแหง 184 ใกล้เคหะรามคำแหง
16.สถานีมีนบุรี อยู่บริเวณสะพานข้ามคลองสองต้นนุ่น ซอยรามคำแหง 192 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และ
17.สถานีสุวินทวงศ์ อยู่ใกล้แยกสุวินทวงศ์