4 หน่วยงานรัฐ ทำแผนสกัดต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทย

4 หน่วยงานรัฐ ทำแผนสกัดต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทย

4 หน่วยงานรัฐ ทำแผนสกัดต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมที่ดิน และกรมการค้าภายใน ทำแผนบูรณาการในการแก้ไขปัญหาคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทย โดยการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) หรือการเข้ามาทำธุรกิจโดยตรง ซึ่งเน้นบริหารจัดการใน 3 ธุรกิจหลักที่ได้รับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐบาล คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวกับการรับซื้อผลไม้เพื่อส่งออก และธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และคาดว่าจะมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจนออกมาภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยว จะทำงานร่วมกับกรมการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวมีการขยายตัวมากขึ้น มีทัวร์ต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ทำให้มีนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายของที่ระลึก และการใช้ไกด์ต่างชาติ รวมถึงปัญหารถบ้าน ที่ต้องมีการจัดระเบียบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งจะประสานงานและช่วยกันชี้เป้า ก่อนเข้าดำเนินการตามกฎหมาย

ด้านการซื้อสินค้าเกษตรนั้นกรมการค้าภายใน เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามดูแล ตั้งแต่โรงคัดแยกบรรจุผลไม้ (ล้ง) ต้องขึ้นทะเบียน และมีระบบการติดตามดูแล ขณะที่การทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งธุรกิจห้องเช่า อพาร์ตเมนท์ และการถือครองที่ดิน ร่วมกับกรมที่ดินในการตรวจสอบ เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน

“ในจังหวัดที่มีปัญหา จะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะทุกวันนี้ การเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างชาติ ไม่ใช่แค่มาจ้างให้คนไทยเป็นนอมินีให้ แต่ถึงขั้นเป็นเจ้าของธุรกิจโดยตรง ซึ่งกฎหมายคนต่างด้าว อาจดูแลไม่ทั่วถึง ต้องดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาช่วยทำงานด้วย ”น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

น.ส.ผ่องพรรณ กล่าวว่า ปีนี้ กรมฯ ได้ปรับแผนการตรวจสอบการทำธุรกิจของคนต่างชาติ จำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ ขายอาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ให้เช่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่ารถยนต์ ร้านขายของที่ระลึก ขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต ธุรกิจขายตรง บริการทางด้านการศึกษา และสปา และครอบคลุม 10 จังหวัด เช่น ภูเก็ต ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ เมืองพัทยา ชลบุรี เกาะช้างในตราด หัวหินใน ประจวบคีรีขันธ์ และชะอำ ในเพชรบุรี

นอกจากนี้ เตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้ศึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นสากล และปรับปรุงประเภทธุรกิจในบัญชีท้ายให้เหมาะสมกับสภาพการค้า การลงทุน และสอดรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเริ่มทยอยผ่อนคลายการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ เน้นธุรกิจที่มีกฎหมายและหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแล เช่น ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธนาคาร สถาบันการเงิน การจัดตั้งสำนักงานตัวแทน ธุรกิจบริการในเครือในกลุ่มและธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook