งัดกฎหมายปราบขายทุเรียนอ่อน ระยอง-จันท์-ตราดคุมเข้มโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

งัดกฎหมายปราบขายทุเรียนอ่อน ระยอง-จันท์-ตราดคุมเข้มโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

งัดกฎหมายปราบขายทุเรียนอ่อน ระยอง-จันท์-ตราดคุมเข้มโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกลดลง 10% จันทบุรี ระยอง ตราด งัดมาตรการกฎหมายปราบพ่อค้าขายทุเรียนอ่อน ตราดชูแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ขายเอง ตัดปัญหาล้งเหมาสวนลักตัดทุเรียนอ่อนผสม ด้านเมืองจันท์เตรียมผลักดันนวัตกรรมแปรรูปผลไม้ ดันเป็นนครผลไม้เมืองไทยแห่งโลก ระยองปลื้มทัวร์สวนโกยเงินกระจายรายได้

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้จังหวัดได้ออกมาตรการป้องปรามทุเรียนอ่อน 3 ฉบับ คือ มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ การกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียน และขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ-ไม่ขาย ทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยมาตรการทั้ง 3 ฉบับนี้ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังทุกสื่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายองค์กรเกษตรกร และแผงค้า และล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดได้เชิญแผงร้านค้าข้างทางทั้งหมด 237 แผง ที่ขึ้นทะเบียนมาประชุมรับรู้ด้วย

"จากนี้จะมีด่านสกัดทุกอำเภอ มีเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจออกตรวจตามล้งทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจแผงข้างทาง หากพบการคัดแยกทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานจะแจ้งให้เจ้าของล้งทำลาย ทั้งหมดนี้จะทำให้ปัญหาทุเรียนอ่อนจะเริ่มคลี่คลาย"

นายอาชว์ชัยชาญกล่าวต่อว่า จากนี้ไปทุเรียนจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาเริ่มถูกลง เราได้วางแนวทางอนาคตสำหรับเกษตรกรถึงการทำ GPA หรือ Global Plan of Action ซึ่งเป็นความร่วมมือเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในด้านอาหาร และล้ง ต้องทำ GMP หรือหลักเกณฑ์พื้นฐานการผลิต เพราะเมื่อเข้าสู่อาเซียนจะมีการแข่งขันสูง

ด้านนายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพต้องมียุทธศาสตร์ของจังหวัดแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการเปลี่ยนการขายส่งเป็นขายปลีกเพิ่มมูลค่าผลไม้ สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้ไปถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ ล่าสุดหอการค้าจังหวัดจันทบุรีได้เสนอแผนพัฒนา 5 ปี ให้ภาคตะวันออกเป็นมหานครผลไม้เมืองไทยแห่งโลกโดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เอมดวง เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า มาตรการป้องปรามทุเรียนอ่อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม มีหนังสือถึงเกษตรกรที่จดทะเบียนทั้งจังหวัด 2,900 คน แจ้งประกาศจังหวัด

ที่มีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2556 (ฉบับที่ 2) นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ ๆ และมีการตั้งด่านตรวจตามเส้นทางที่ออกนอกจังหวัด


ลงดาบ - จังหวัดระยอง ตราด และจันทบุรี ออกมาตรการป้องปรามทุเรียนอ่อน 3 ฉบับ แจ้งไปทุกอำเภอมีการสกัดตรวจสอบ สุ่มตรวจแผง เพื่อสกัดพ่อค้านำทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


เชื่อมต่อจังหวัดจันทบุรี 5 จุด

"สำหรับปีนี้เกษตรกรมีความตื่นตัวดีมาก หลังการจับกุมพ่อค้าที่เหมาทุเรียน โดยได้ดำเนินคดี 1 ครั้ง ผลผลิต 2.8 ตัน มูลค่า 300,000 บาท จากมาตรการนี้ทำให้คนตัดและเจ้าของสวนเกรงกลัวถูกดำเนินคดี และจากการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งยังคงพบว่า มีการตัดทุเรียนอ่อน และหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมอยู่บ้าง ตรวจพบคันละ 10-20 ผล"

อย่างไรก็ตามการไล่จับทุเรียนคงจับไม่ไหว จึงมีแนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ทำเกษตรแปลงใหญ่ ให้กลุ่มเกษตรกรจังหวัดตราดดำเนินการรูปสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพและลดต้นทุนการผลิต มีมาตรฐาน GAP โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะสนับสนุนให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 จากนั้นกลุ่มสหกรณ์ต้องหาตลาดจัดจำหน่ายผลผลิตเอง เพื่อตัดปัญหาล้งเหมาสวนตัดทุเรียนอ่อนอย่างยั่งยืน และทำทุเรียนขายปลีกมีบาร์โค้ดติด ได้มาตรฐานทุกลูก ตรวจสอบย้อนกลับได้

ขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่นำร่องที่ อบต.ประณีต ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแหล่งใหญ่ที่สุด มี 6,000 ไร่ เป็น 1 ใน 3 ของจังหวัด พร้อมดำเนินการปีหน้า นอกจากนั้นยังมีทางเลือกสหกรณ์แปรรูปจะรับซื้อทุเรียนสุกทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งส่งต่างประเทศปริมาณมากอีกด้วย

ด้านนายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ได้มีมาตรการตั้งจุดสกัดครบทั้ง 8 อำเภอ และแจกประกาศของจังหวัดให้แผงรับซื้อ และก่อนที่ทุเรียนจะออกสู่ตลาดปริมาณมากจะเร่งประชาสัมพันธ์ สำหรับที่ผ่านมามีการจับพ่อค้าที่ตัดทุเรียนอ่อน 1 ราย และส่งฟ้องศาล เพราะมีเจตนาตัดทุเรียนอ่อน นอกจากนี้ได้เตรียมดำเนินการ 2 เรื่อง คือ ตลาดทุเรียนคุณภาพ โดยกำหนดให้ตลาดตะพง และตลาดเขาดิน เป็นตลาดผลไม้คุณภาพรับประกันว่าทุเรียนที่นำมาจำหน่ายแก่ทุกลูก ตลาดทั้งสองแห่งนี้มีเครื่องวัดความแก่ อ่อนทุเรียนติดตั้งไว้ให้ลูกค้าตรวจเช็กและรู้ผลภายใน 2 นาที และทัวร์ผลไม้คุณภาพ

"ทัวร์สวนผลไม้เพื่อรับนักท่องเที่ยวระยองเติบโตดีมาก ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 แสนคน โดยปีนี้มีสวนเข้าร่วมเพิ่มเป็น 40-50 สวน จากปีที่ผ่านมา 30 สวน เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันสวนขนาดใหญ่จะเป็นพี่เลี้ยงสวนขนาดเล็ก ไม่แข่งขันกัน และราคาที่ขายทัวร์หัวละ 300 บาท เป็นราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะผลไม้ระยองมีคุณภาพดี เป็นการกระจายรายได้ถึงเกษตรกรโดยตรง และปีนี้ผลผลิตทุเรียนระยองลดลง 10% ตลาดผลไม้น่าจะไปได้ดี" นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดระยองกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook