ธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ กับ แฟรนไชส์ปราบขยะ ที่ไม่ธรรมดา

ธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ กับ แฟรนไชส์ปราบขยะ ที่ไม่ธรรมดา

ธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ กับ แฟรนไชส์ปราบขยะ ที่ไม่ธรรมดา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขยะสำหรับหลายคนอาจเป็นสิ่งที่ไม่ชวนมอง อยากจะเดินผ่านไปให้ไกล ๆ แต่สำหรับเด็กหนุ่มคนหนึ่งเขากลับมองตรงกันข้าม กองขยะของเขาเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่มีคุณค่าและรายได้จากการขาย จนเกิดเป็นแนวทางเปิดร้านรับซื้อของเก่า “ปราบขยะ” และต่อยอดเป็นแฟรนไชส์กับการรีไซเคิลขยะกองโตนี้

ธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ จากเด็กหนุ่มที่ครอบครัวเคยมีฐานะกับธุรกิจโรงกลึง แต่ต้องกลับมาล้มละลายจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เขาต้องกู้เงินเรียนต่อ พร้อมกับเจรจาผ่อนผันหนี้ให้ครอบครัวเพราะบ้านกำลังจะถูกยึด ถึงจะเป็นจุดที่แย่ที่สุดแต่ ธีรวงศ์ ก็ยังไม่มีแรงฮึดพอสานต่อธุรกิจโรงกลึงของครอบครัว เพียงเพราะไม่ชอบงานที่ทำให้มือดำ มือด้าน จนไปกุมมือสาวแล้วมันไม่นุ่ม


คุณยายและเรือยอร์ชพลิกชีวิต


จนได้ไปเจอคุณยายคนหนึ่งที่มีอาชีพเก็บขยะขาย ธีรวงศ์ รู้สึกสงสารจึงให้เงินคุณยาย แต่เหตุการณ์กลับแปรผันเมื่อคุณยายไม่รับ และกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่ายายมีเงินพอแล้วและก้มหน้าก้มตาหาขยะต่อไป ด้วยเหตุการณ์นี้เองได้เปลี่ยนเป็นข้อสงสัยจนต้องนำมาขบคิดถึงรายได้จากการเก็บขยะว่ามากพอสำหรับการเลี้ยงชีพได้จริงหรือ ซึ่ง “ขยะ” เริ่มจะมีคุณค่าทางความคิดของเขานับตั้งแต่วันนั้น แต่ก็ยังมองเป็นธุรกิจไม่ชัดเจน จนเมื่อ ธีรวงศ์ ได้เจอจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งกับ “ความอยาก” ของเขา นั่นก็คืออยากได้เรือยอร์ชไว้ขับเล่นเหมือนกับดาราฮอลลีวู้ดบ้างจึงเป็นจุดเริ่มต้นกับอาชีพหลักเพื่อหาเงินซื้อความฝันของเขานั่นเอง


“ขยะ” จึงเป็นสิ่งแรกที่เขาคิดถึง โดยมองว่าเป็นงานง่ายที่สุดแล้วและไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก แต่เมื่อลงมือทำจริงจังจึงได้รู้ว่า 'งานนี้ไม่หมูเลย' ธีรวงศ์ เริ่มจากให้คุณแม่หาที่ดินจนมาได้ของเพื่อนแม่ 2 ไร่ ย่านปทุมธานี โดยให้เช่า เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งราคานี้ไม่ได้ถูกเลย หากเทียบกับทำเลที่ไม่ดีนัก เพราะห่างจากถนนใหญ่หลายสิบกิโลเมตร แต่ข้อดีของทำเลนี้ก็คืออยู่ใกล้เขตชุมชนประมาณ 40 ไร่ และมีสลัม เขาจึงตัดสินใจเดินเคาะประตูไปตามบ้านเพื่อรับซื้อขยะ ซึ่งก็มีคนนำมาขายและให้ฟรีก็มี

และเมื่อของเริ่มเยอะก็มีคนมารับซื้อต่อจากเขาเพื่อไปขาย สร้างกำไรเป็นทอด ๆ ซึ่งรายได้เหล่านี้ถือว่าไม่น้อยเลย และสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี จากที่ดินว่างเปล่าถูกก่อสร้างเป็นเพียงเพิงสังกะสีเก่า ๆ กับเสาไม้ยูคาลิปตัสอย่างง่าย หวังเพียงให้พอคุ้มแดดคุ้มฝนและไม่ให้ข้าวของเปียกเท่านั้น นั่นคือออฟฟิศของเด็กหนุ่มวัยเพียง 20 ต้น ๆ ที่ใครก็ไม่คิดว่าต่อมาเขาจะเป็นเศรษฐีร้อยล้านจากสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ”


ความเสียดายจึงเกิดแฟรนไชส์ “ปราบขยะ”


เมื่อ ธีรวงศ์ ตัดสินใจแน่วแน่กับธุรกิจขยะ เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง โดยต้องลงมือคัดแยกขยะเองจึงจะรู้จริง เขาไม่หยุดแค่การซื้อมาขายไป แต่กลับนำธุรกิจโรงกลึงของครอบครัวมาคิดค้นเครื่องจักรรีไซเคิลขยะแต่ละประเภทเป็นการเพิ่มมูลค่าซึ่งนอกจากนำมาใช้รีไซเคิลกับขยะของตนเองที่รับซื้อมาแล้ว ยังสามารถขายเครื่องจักรนี้ให้กับร้านขายของเก่าทั่วไปได้อีกด้วย

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธีรวงศ์ คลุกคลีในวงแวดวงขยะมาโดยตลอด และได้เห็นโอกาสมากมายจากสิ่งไร้ค่านี้และได้ตัดสินใจขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ หลังจากได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการฝังกลบขยะ และรู้สึกเสียดายขยะจำนวนมหาศาลที่เห็น เพราะหากนำมาคัดแยกจะสร้างรายได้มากมาย แค่ลำพังการคัดแยกขยะจากบริษัทที่ประมูลงานได้กับคนเก็บขยะถือว่ายังไม่เพียงพออีกทั้งในแต่ละชุมชนก็มีขยะ หากได้รับการคัดแยกที่ดี และมีแหล่งรับซื้อในชุมชน ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างอาชีพให้ใครได้อีกมากมาย


แนวทางแฟรนไชส์ “ปราบขยะ” จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้สนใจลงทุนกว่า 90% เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร พวกเขาเลือกรวยจากขยะ เพราะเงินลงทุนที่ต่ำเริ่มต้นเพียง 29,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ด้วยการออกแบบระบบการบริหารจัดการที่ทำให้เถ้าแก่เหนื่อยน้อยที่สุด และป้องกันการโกงกิโลของลูกน้อง โดยเถ้าแก่ไม่ต้องยืนเฝ้า และโดดเด่นที่สุดคือระบบ Gold Suft ที่ให้แฟรนไชส์ซี สามารถเช็คราคากลางการ ซื้อ-ขาย ขยะรีไซเคิลได้ จึงช่วยตัดสินใจได้ว่าจะนำขยะที่คัดแยกแล้วมาขายให้แก่แฟรนไชส์ซอว์หรือนำไปขายให้กับผู้รับซื้อที่อื่นก็ได้ จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจในราคาขายที่เหมือนกันในทุกสาขา


สำหรับแฟรนไชส์ 90 สาขา ใน 3 ปี ถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดากับขยะที่ดูไร้ค่า เพราะนอกจากเจ้าของแนวทางจะมีรายได้เป็นร้อยล้านด้วยวัยเพียง 30 ต้น ๆ แล้ว ยังสามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นแฟรนไชส์ซีได้มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ได้อย่างสบายอีกด้วย และกับอีก 1 รางวัลที่ภาคภูมิใจ คือ รางวัล "สุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 7" โดย บริษัท ปราบขยะรีไซเคิล จำกัด ได้ชนะเลิศในกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงนับได้ว่า ธีรวงศ์ และบริษัทปราบขยะของเขาไม่ธรรมดาจริง ๆ


ข้อมูลอ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=OnY8ugYenEk

 

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดยMoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook