ครม.ไฟเขียวปรับภาษีเงินได้บุคคลฯ เริ่มหัก ณ ที่จ่ายปี′60-ขุนคลังยันไม่ขึ้น VAT

ครม.ไฟเขียวปรับภาษีเงินได้บุคคลฯ เริ่มหัก ณ ที่จ่ายปี′60-ขุนคลังยันไม่ขึ้น VAT

ครม.ไฟเขียวปรับภาษีเงินได้บุคคลฯ เริ่มหัก ณ ที่จ่ายปี′60-ขุนคลังยันไม่ขึ้น VAT
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.ไฟเขียวปรับภาษีเงินได้บุคคลฯ เริ่มหัก ณ ที่จ่ายปี′60 แลกรัฐสูญรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท/ปี หวังเพิ่มจับจ่ายดันเก็บ VAT ได้เพิ่มขึ้นทดแทน "อภิศักดิ์" ยันยังไม่ปรับขึ้น VAT ช่วงปี 2559 นี้ ชี้รอเศรษฐกิจโลกฟื้น-รัฐต้องการงบฯเพิ่ม

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (19 เม.ย.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ หลังจากเมื่อ 2-3 เดือนก่อนได้เห็นชอบคงอัตราจัดเก็บภาษีนิติบุคคลไว้ที่ 20% ไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้อัตราภาษีที่แท้จริง (effective rate) ออกมาใกล้เคียงกัน โดยหลักใหญ่ ๆ จะปรับอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) การหักค่าใช้จ่าย 2) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ และ 3) ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้มีผลในการหักภาษี ณ ที่จ่ายตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป (เริ่มยื่นแบบฯ ต้นปี 2561)

สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1) ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ(2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

2) ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน ดังนี้

(1) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(2) ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(3) ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร (จากเดิมที่ให้หักลดหย่อน 2,000 บาท/คน)

(4) ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท

(5) กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท และ

(6) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

และ 3) ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ดูตาราง)

"การปรับปรุงขั้นเงินได้ และอัตราภาษีเที่ยวนี้ยังเหมือนกับในพระราชกฤษฎีกาครั้งที่แล้ว คือมี 7 ขั้นอัตรา แต่เฉพาะเรตที่เก็บ 35% เดิมจะเก็บจากที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป จะเปลี่ยนเป็นต้องเสียเมื่อรายได้ 5,000,001 บาทขึ้นไป ดังนั้นคนมีเงินได้ 4,000,001-5,000,000 บาท จะเสียที่ 30% คือได้ลดลงมา ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแค่ราว 20,000 คน จากผู้เสียภาษีทั้งสิ้น 10.3 ล้านคน" นายอภิศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้

(1) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว

- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท

- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท

(2) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน

- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท

(3) กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

และ (4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

"ถามว่าทำไมเราปรับสูตรนี้ ก็เพราะว่า ถ้าเราดูภาษีนิติบุคคล 20% เมื่อรวมกับเงินปันผลอีก 10% จะมีเอฟเฟ็กต์ทีฟเรตที่ 28% ฉะนั้นการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตรที่ว่านี้ เมื่อคำนวณเฉลี่ยออกมา เอฟเฟ็กต์ทีฟเรตจะอยู่ที่ 29% ซึ่งใกล้เคียงกัน จากของเดิมที่อัตราต่างกันมาก คนรายได้สูงจะไปตั้งบริษัท เพื่อจะได้เสียภาษีน้อย แต่อันนี้การเสียภาษีน้อยก็จะไม่เกิด" นายอภิศักดิ์กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้มีเงินได้โดยผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่คาดว่าการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปราว 32,000 ล้านบาทต่อปี แต่หวังว่าจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้มากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วน 41% ของรายได้ภาษีทุกประเภท

"สิ่งที่เราหวัง คือเงินรายได้ภาษีที่หายไปนี้ จะกลับไปสู่ประชาชน แล้วกลับไปหมุน ทำให้เกิดรายจ่ายที่มากขึ้น พอเขาใช้จ่ายเราก็จะได้ VAT ซึ่งปกติภาษีบุคคลฯ มีสัดส่วนประมาณ 17% ภาษีนิติบุคคล 32% VAT 41% ภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 3% ภาษีปิโตรเลียมประมาณ 5% และอื่น ๆ ที่เหลือ ก็หวังว่าเมื่อลดในส่วน 17% ก็จะไปเพิ่ม VAT ให้มากขึ้นกว่า 41%" รมว.คลังกล่าว

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังไม่มีการปรับขึ้นภาษี VAT ในช่วงปี 2559 นี้ เพราะยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาครัฐ และจะกลับมาพิจารณาว่าจะปรับขึ้น VAT หรือไม่อีกครั้ง เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ดี และเมื่อรัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อความต้องการลงทุนเพิ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook