ไปเที่ยวเมืองนอก ซื้อของกลับบ้านต้องเสียภาษีนำเข้าหรือไม่.?
ภาพประกอบจาก www.suvarnabhumiairport.com
เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังเป็นข่าวใหญ่เมื่อ ดารานักแสดงหญิง “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” โพสต์รูปกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดัง จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า มีการนำเข้ามามากมายและเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ จนอธิบดีกรมศุลกากร ออกมาให้ข่าวว่าได้ทำหนังสือเพื่อให้ดารา นางเอกสาวคนดังมาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ว่ามีการนำเข้าสินค้ามาอย่างไร เสียภาษีหรืออากรนำเข้าถูกต้องหรือไม่อย่างไร... บทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรรอติดตามกันต่อไป
แต่สำหรับคนประเด็นที่ น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ก็คือ หากมีโอกาสไปต่างประเทศแล้ว เกิดไปซื้อสินค้า ข้าวของเครื่องใช้ นำติดตัวกลับเข้ามา จะต้องยื่นเสียภาษีหรือไม่อย่างไร และอะไรที่ได้รับการเว้นภาษีอากรนำเข้าบ้าง..?
ในเรื่องนี้ แท้จริงในหลักของกฎหมาย หรือ พิธีการทางศุลกากร ได้กำหนดไว้ชัดเจนครับ หลักก็คือ...
“ของทุกชนิดที่นำเข้ามาในประเทศ ต้องเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติ-ศุลกากร พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ของนำเข้าที่ได้รับยกเว้นอากร จะต้องเป็นของใช้ส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เว้นแต่ รถยนต์ อาวุธปืน และเสบียง...........”
และทั้งนี้ทั้งนั้น พิธีการทางศุลกากร ที่สนามบินหรือท่าอากาศยาน มีระเบียบปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนดังนี้
ของติดตัวผู้โดยสารที่ได้รับการยกเว้นอากร
ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณสมควรสำหรับใช้ส่วนตนและมีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท (ซึ่งมิใช่ ของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือเสบียง)
ของใช้ส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท
ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเนื่องจากย้ายภูมิลำเนา โดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากรมีราคารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท
บุหรี่ไม่เกิน 200 ม้วน หรือ ยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภท ไม่เกิน 250 กรัม หากนำมาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ช่องแดง
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตร ไม่เกิน 1 ลิตร
จากระเบียบของศุลกากร ชัดเจนว่า ของที่นำเข้ามา จะต้องเป็นของใช้ส่วนตัว และมีปริมาณพอสมควร แม้กระทั้งเสื้อผ้า ไม่ใช่ไปต่างประเทศมา4- 5 วัน แต่หอบกระเป๋าใส่เสื้อผ้า 4-5 ใบใหญ่ๆ แบบนี้มันชัดเจนว่าเกินสมควร..ครับ
พวกเครื่องสำอางก็ เช่นกัน ปริมาณต้องพอสมควร กระเป๋าถือแบรนด์เนม ถ้าใบเดียว สองใบ ก็พอจะอนุโลม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยหลักของกฎหมายแล้ว...ไม่ว่าสินค้าอะไรก็ตามหากเป็นการซื้อใหม่เพื่อนำเข้ามา ต้องเสียภาษีอากรนำเข้าหมดนะครับ หากไม่ใช่ของที่ได้รับการยกเว้นอากร ตามกำหมายที่กำหนด
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ในการผ่านพิธีการศุลกากร ผ่านสนามบิน ของผู้โดยสารขาเข้า
กรมศุลกากรจัดการให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามมาตรฐานสากลและหลักการให้บริการ เพื่อความสะดวกราบรื่น (Facilitate of Service) ขององค์การศุลกากรโลก
โดยแบ่งช่องตรวจศุลกากรออกเป็นสองช่อง คือ
ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือช่องเขียว สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร ไม่มีสิ่งของต้องห้ามต้องกำกัด
ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือช่องแดง สำหรับผู้โดยสารที่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้ามต้องกำกัดติดตัวเข้ามา หรือผู้โดยสารที่ไม่แน่ใจว่าสัมภาระติดตัวของตนนั้นต้องชำระอากรหรือเป็นของต้องห้ามต้องกำกัดหรือไม่
ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ซื้อสินค้าที่เป็นของใช้ส่วนตัวมาจากเมืองนอก จึงมักไม่สำแดงเพื่อเสียภาษีกัน (ย้ำว่า หากมีการซื้อข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว หรือ เพื่อวิชาชีพ ต้องซื้อจากร้านปลอดอากรตามที่กำหนด และวงเงินรวมไม่เกินที่กำหนด 20,000 บาทนะครับ) และ ทางกรมศุลกากรเองก็ไม่ได้เข้มงวดมากนัก เพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก จะมีเพียงการสุ่มตรวจบ้างตามสำควรเท่านั้น..