3 ข้อควรรู้ก่อน “ผ่อน 0%”

3 ข้อควรรู้ก่อน “ผ่อน 0%”

3 ข้อควรรู้ก่อน “ผ่อน 0%”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อภินิหารเงินออม AomMoney Guru

“เราจะสร้างหนี้เท่าไหร่ก็ได้
แต่เราต้องคุมกำเนิดหนี้ให้ได้”

บัตรเครดิตเป็นของหวานสำหรับคนที่ใช้งานเป็น เพราะใช้จ่ายแล้วได้เงินคืน ได้แต้มสะสมนำไปแลกของกิน ของใช้ได้สารพัด ในขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นยาพิษปลิดชีพกับคนที่ใช้จ่ายเกินตัว เพราะบัตรเครดิต เป็นช่องทางสร้างหนี้ได้ง่ายม๊าก

วันนี้เราจะมารู้จักกับแนวคิดเพื่อให้เราอยู่ร่วมกับบัตรเครดิตได้อย่างเป็นไท ไม่ใช่เป็นทาสกันนะจ๊ะ

ข้อที่ 1 เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสร้างหนี้

“หนี้สิน” นั้นเกิดจากวิธีคิด ถ้าเราเริ่มต้นสร้างหนี้จากสิ่งจูงใจจากภายนอก เราก็จะสร้างหนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลายครั้งที่เราเห็นโปรโมชั่นผ่อน 0% มักจะมีตาเป็นประกายวิบวับ แปลงร่ายกลายเป็นราชาเงินผ่อนเพราะคิดว่า “ผ่อน 0%” แค่นี้ผ่อนไหวแน่นอน แล้วเราก็ผ่อน 0% กับของชิ้นที่ 1,2,3,4 และ 5 ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมีรายการผ่อน 0% เกินกว่ารายได้ต่อเดือน จนหนี้สินกลายเป็นพญาปลิงเกาะติดเต็มตัว อึ๋ยๆๆๆๆ

ลองเปลี่ยนมาเริ่มที่เงินในกระเป๋าของเราดูบ้างดีกว่าไหม เริ่มจากสมการอภินิหารเงินออม

รายได้ – เงินออม – หนี้สิน = รายจ่ายส่วนตัว

เมื่อมีเงินเดือนเข้ามาก็ดึงออกไปเก็บไว้ในกระปุกเงินออมทันที จากนั้นก็หักหนี้สินที่ต้องจ่าย (เช่น ผ่อนบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้ กยศ. หนี้นอกระบบ) สุดท้ายเหลือเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น

แนวคิดนี้จะทำให้เรารู้ภาพรวมของเงินว่ามีสภาพคล่องคงเหลือเท่าไหร่ หากมีเหลือมากจะผ่อน 0% เพิ่มเข้ามาอีกก็ได้ แต่ถ้าเริ่มใช้จ่ายตึงๆตัวก็ต้องหลีกให้ห่างจากคำว่า “ผ่อน 0%”

ข้อที่ 2 หนี้เท่านี้ผ่อนไหวไหม

ก่อนจะเริ่มสร้างหนี้จริง น่าจะลองซ้อมผ่อนหนี้ด้วยการออมเงินรายเดือนก่อนนะจ๊ะ เพราะบางครั้งเราคิดว่าผ่อนไหว ซึ่งในช่วงแรกๆก็ไหวอยู่หรอก แต่พอนานๆไปมีรายจ่ายไม่คาดฝันเข้ามา #จบข่าว ไม่มีเงินเหลือจ่ายหนี้ ในขณะที่ความสามารถในการสร้างหนี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ตารางนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้น

สำหรับบางคนหนี้สิน 45% อาจจะจ่ายไหว แต่คนอื่นอาจจะจ่ายไม่ไหวก็ได้ มันไม่มีสูตรสัดส่วนหนี้แบบตายตัวเป๊ะๆ รบกวนผู้อ่านนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองนะจ๊ะ จากตารางหนี้ 3 ระดับนี้ จะทำให้เราเห็นภาพรวมของเงินในกระเป๋าว่ามีเงินออม หนี้สินและรายจ่ายส่วนตัวเท่าไหร่ อนาคตมีแนวโน้มจะสร้างหนี้ได้อีกหรือไม่ มีหนี้ที่เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ รวมถึงวางแผนการชำระหนี้ได้

วิธีคิด คือ (หนี้สิน / รายได้) x 100

ระดับที่ 1 หนี้สบายๆที่ 20%

สมมติว่าเรามีเงินเดือน 15,000 บาท ถ้าแบ่งสัดส่วนตามตาราง ดังนี้

๐ เงินออม 10% ของรายได้ เราจะมีเงินออมเดือนละ 1,500 บาท
๐ หนี้สิน 20% ของรายได้ เราจะจ่ายหนี้สินเดือนละ 3,000 บาท
๐ รายจ่ายส่วนตัว 70% ของรายได้ เราจะมีเงินใช้ประจำวันเดือนละ 10,500 บาทหรือวันละ 350 บาท


หนี้ชิลๆไม่น่าเป็นห่วงอะไรมากมาย ถ้าเรารู้สบายกับการเป็นหนี้ระดับนี้ มากกว่านี้ก็อึดอัดก็ควรพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 20% ของรายได้ และถ้าต้องการจะมีเงินออมมากขึ้นก็อาจจะปรับสัดส่วนของรายจ่ายส่วนตัวจาก 70% ให้ลดลงหรือเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น

ระดับที่ 2 หนี้เริ่มตึงตัวที่ 45%

สมมติว่าเรามีเงินเดือน 15,000 บาท ถ้าแบ่งสัดส่วนตามตาราง ดังนี้

๐ เงินออม 10% ของรายได้ เราจะมีเงินออมเดือนละ 1,500 บาท
๐ หนี้สิน 45% ของรายได้ เราจะจ่ายหนี้สินเดือนละ 6,750 บาท
๐ รายจ่ายส่วนตัว 45% ของรายได้ เราจะมีเงินใช้ประจำวันเดือนละ 6,750 บาทหรือวันละ 225 บาท

หากเป็นหนี้สินระยะสั้น (ชำระใน 1 ปี) 45% ของรายได้ก็ยังอดทนจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นหนี้ระยะยาวหลายปีก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเงินตึงตัวมากเกินไป หากไม่เงินเก็บฉุกเฉินสำรองเก็บไว้ก็อาจจะค่อนข้างลำบากเวลาเกิดอุบัติเหตุทางการเงิน

ระดับที่ 3 หนี้แทบเอาตัวไม่รอดที่ 80%

สมมติว่าเรามีเงินเดือน 15,000 บาท ถ้าแบ่งสัดส่วนตามตาราง ดังนี้

๐ เงินออม 10% ของรายได้ เราจะมีเงินออมเดือนละ 1,500 บาท
๐ หนี้สิน 80% ของรายได้ เราจะจ่ายหนี้สินเดือนละ 12,000 บาท
๐ รายจ่ายส่วนตัว 10% ของรายได้ เราจะมีเงินใช้ประจำวันเดือนละ 1,500 บาทหรือวันละ 50 บาท


สภาพคล่องใช้จ่ายส่วนตัวแทบไม่เหลือ มีความเสี่ยงที่จะสร้างหนี้ใหม่เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงมาก อันตรายสุดๆ ควรรีบจัดการหนี้ก่อนที่จะมีหนี้สินพะรุงพะรังไปมากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการหมุนเงินของแต่ละคนอีกด้วย ผู้ที่เป็นหนี้ระดับ 80% นี้อาจจะหมุนเงินเก่งไม่เดือดร้อนทางการเงินก็ได้ แต่สำหรับคนที่บริหารจัดการเงินไม่ดีพอก็อาจะทำให้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงมาก

ลองเขียนของตัวเองว่ามี “สมการเงินอภินิหารเงินออม” เป็นอย่างไร?

ข้อที่ 3 เสียเครดิตครั้งเดียว ชีวิตแทบพังทลาย

หลังจากที่เราผ่อน 0%กับของชิ้นที่ 1,2,3,4,5,…… จนกระทั่งมีรายจ่ายผ่อน 0% มากกว่ารายได้ต่อเดือน ต่อไปมหกรรมความผิดหวังอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างมิได้นัดหมาย เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามที่คิด บริษัทปิดกิจการ หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเงินที่ต้องรีบใช้เงินแบบด่วนๆ หนี้สินเดิมยังอยู่ครบบวกกับดอกเบี้ยเบ่งบานออกลูกหลานมากมาย

การผ่อนแบบไม่ยั้งคิดก็ทำให้ชีวิตพังได้นะจ๊ะ

เมื่อชำระหนี้ไม่ไหว อีกไม่นานเรามีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร ซึ่งมีผลต่อการขอกู้ในอนาคต ทำให้เราขอสินเชื่อจากธนาคารยากขึ้น เพราะเรามีประวัติการชำระหนี้ไม่ค่อยดีมาก่อน #จบข่าว

เมื่อมีเงินก็ต้องใช้ แต่จะใช้อย่างไรนั้นควรเริ่มจากวิธีคิด จากสิ่งที่มีในกระเป๋านั่นก็คือ เงินของเรานั่นเอง ก่อนที่เราจะลั้นลาไปกับการผ่อน 0% นั้นควรดูภาพรวมว่าปัจจุบันเรามีสภาพคล่องเป็นอย่างไร จะผ่อนไหวหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางการเงินในอนาคตนะจ๊ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook