ถอดประสบการณ์ CEO AirAsia ในงาน Startup Thailand จากธุรกิจเพลง สู่ กิจการสายการบิน

ถอดประสบการณ์ CEO AirAsia ในงาน Startup Thailand จากธุรกิจเพลง สู่ กิจการสายการบิน

ถอดประสบการณ์ CEO AirAsia ในงาน Startup Thailand จากธุรกิจเพลง สู่ กิจการสายการบิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อย่าเอาข้อมูลพวกนี้ไปบอกสายการบินอื่นนะ” บอสใหญ่แอร์เอเชียแนะเคล็ดลับสู่ความสำเร็จให้ธุรกิจ startup


ผ่านไปแล้วกับงาน Startup Thailand 2016 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ภายในงานนอกจากจะรวมรวมเอาธุรกิจ startup และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเจอกันแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษจากนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอีกเกือบ 50 ชีวิต


หนึ่งในการบรรยายที่เป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของงานคือ ระยะเวลา 35 นาทีที่ โทนี่ เฟอร์นานเดส ซีอีโอของแอร์เอเชียขึ้นเวทีเพื่อแบ่งปันเคล็ดคลับความสำเร็จในการทำให้แบรนด์เติบโตและเป็นที่รู้จัก หลังจากที่เขาเริ่มธุรกิจนี้เมื่อ 15 ปีก่อนโดยที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจสายการบินเท่ากับศูนย์ ก่อนจะเปลี่ยนแอร์เอเชียจากธุรกิจที่มีเครื่องบินเพียงแค่ 2 ลำมาเป็นสายการบินที่มีคนใช้บริการปีละหลายสิบล้านคนอย่างในปัจจุบัน


Sanook! Money เลยสรุปคำแนะนำจากซีอีโอระดับโลกมาให้อ่านกัน เพราะบอกเลยว่าแนวคิดของผู้ชายคนนี้นั้นปรับใช้ได้ได้ทุกงาน ไม่ใช่เฉพาะกับธุรกิจ startup เท่านั้น


“อย่ากลัวความล้มเหลว”


ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของสายการบิน โทนี่ทำงานในธุรกิจดนตรีมา 12 ปีและเมื่อเขาบอกคนรอบตัวว่าจะทำสายการบินของตัวเอง ปฏิกิริยาตอบกลับที่ได้คือเสียงหัวเราะ แม้แต่ภรรยาของเขาในตอนนั้น เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะทำสำเร็จ


แต่เพราะโทนี่ไม่ปล่อยให้เสียงสะท้อนเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อความมุ่งมั่นของเขาและไม่กลัวที่จะล้มเหลว เขาเชื่อในไอเดียของตัวเอง และถ้ามันจะไม่เป็นตามที่คิด อย่างน้อยเขาก็ถือว่าได้พยายามแล้ว


“สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในระยะเวลาสั้นๆ”


ชื่อและโลโก้ของแบรนด์เป็นสิ่งที่จะดึงดูดความสนใจคนได้ในทันทีที่เห็น การสื่อสารแบรนด์ให้มีภาพจำเพียงภาพเดียวจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลังเข้าเทคโอเวอร์สายการบินแอร์เอเชีย โทนี่เปลี่ยนโลโก้จากรูปนกสีน้ำเงินมาเป็นโลโก้แอร์เอเชียสีแดงที่เราเห็นและจำได้แม่นยำอย่างทุกวันนี้


เขาฝากคำแนะนำถึงธุรกิจใหม่ๆ ว่า ถ้าอยากดึงดูดความสนใจคนได้ในเวลาสั้นๆ และสร้างการจดจำแบรนด์ได้ ควรเลือกชื่อที่ติดหู จำง่าย และสำหรับโลโก้ควรใช้รูปและสีที่เด่นๆ เพียงรูปเดียว สีเดียวเท่านั้น เพราะจะช่วยให้คนจำได้ง่ายกว่า


“คนคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด”


โทนี่กล่าวว่าแอร์เอเชียจะไม่สามารถขยายจากพนักงาน 200 คนในวันที่เขาซื้อกิจการมาเป็น 17,000 คนอย่างในปัจจุบันนี้ได้ถ้าไม่ใช่เพราะความสามารถของพนักงานในบริษัท ผู้บริหารระดับสูงของแอร์เอเชียหลายคนเติบโตจากตำแหน่งปฏิบัติการ เขาอธิบายว่างานของเขาคือการเจียระไนเพชรดิบให้เป็นเพชรเม็ดงาม ด้วยการเปิดโอกาสและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนเหล่านั้นว่าพวกเขามีศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองคิด


“สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งจากภายในองค์กร”


แอร์เอเชียให้ความสำคัญอย่างมากกับการทำให้พนักงานเข้าใจแบรนด์อย่างแท้จริง เพราะโทนี่มองว่าทุกคนที่ทำให้งานให้เขาก็คือภาพสะท้อนของแบรนด์และเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ เขาจึงมีแผนก culture ซึ่งรับผิดชอบในการสร้างแบรนดิ้งภายในองค์กรโดยเฉพาะ


“สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ทุกคนกล้าเสนอความคิดเห็น”


โทนี่ตั้งใจให้แอร์เอเชียเป็นองค์กรที่ทุกคนกล้าถามและไม่กลัวที่จะเสนอไอเดียของตัวเองได้ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ตำแหน่งใดก็ตาม เพราะเขาเชื่อว่า การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอความคิดเห็นของตัวเองเป็นผลดีและนำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ให้กับบริษัทมากกว่าที่จะให้หน้าที่นี้จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนที่ทำงานในระดับบริหารเท่านั้น


“ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์และการทำการตลาด”


บอสใหญ่แห่งแอร์เอเชียมองว่า ต่อให้มีไอเดียดีที่สุดในโลก แต่ไม่รู้จักวิธีทำให้ไอเดียนั้นแพร่หลาย หรือไม่ให้ความสำคัญกับการทำการตลาด ไอเดียนั้นก็จะไม่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้


“เทคโนโลยีคือพันธมิตรในการทำธุรกิจ”


เบื้องหลังความสำเร็จอย่างหนึ่งของแอร์เอเชียคือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับโปรดักต์ โทนี่เล่าว่าตอนที่เขาเริ่มธุรกิจนี้นั้น แอร์เอเชียเป็นสายการบินแรกๆ ที่เปิดให้จองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต ต่างจากปัจจุบันที่ราว 85 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจสายการบินขึ้นอยู่กับอินเทอร์เน็ตและคนส่วนใหญ่ซื้อตั๋วผ่านโทรศัพท์มือถือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าและบริการจึงเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในการสร้างความสำเร็จ


“โซเชียลมีเดียคืออาวุธสำคัญ”


ปัจจุบัน แอร์เอเชียมีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ รวมกันประมาณ 42 ล้านคน เฉพาะทวิตเตอร์ส่วนตัวของโทนี่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน เขาบอกว่าข้อความที่เขาได้รับผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้นมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เพราะหลายครั้งเป็นการร้องเรียนบริการของสายการบิน ซึ่งเขามองว่าการร้องเรียนนั้นถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้บริษัทได้เข้าใจตลาดและได้ยินเสียงผู้บริโภคอย่างแท้จริง ดังนั้น ธุรกิจในยุคนี้ควรใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์

“ทุกที่มีปัญหา”


โทนี่ให้ข้อคิดว่า ถ้าคิดจะเป็นนักลงทุน ปัญหาคือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ แอร์เอเชียเองเคยผ่านสถานการณ์ที่เรียกว่าเป็นวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง แต่แทนที่จะใช้วิธียกเลิกไฟลท์อย่างที่หลายๆ สายการบินทำ โทนี่และทีมงานของเขาเลือกมองว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้และขณะเดียวกันก็มีผลดีในระยะยาวด้วย


ก่อนลงจากเวที ซีอีโอแอร์เอเชียยังให้ข้อคิดสั้นๆ อีก 3 เรื่องว่า “Dream the impossible.” อย่ากลัวที่จะฝันถึงที่สิ่งที่ดูไม่น่าเป็นไปไม่ได้และอย่าปล่อยให้คนอื่นบอกว่าเราทำไม่ได้ “Never take no for an answer.” อย่าหมดความพยายามง่ายๆ ไม่ว่าจะโดนปฏิเสธสักกี่ครั้งก็ตาม และ “Believe the unbelievable.” เชื่อในสิ่งที่ดูเหลือเชื่อเพราะมันอาจเกิดขึ้นได้จริง แบบเดียวกับที่โทนี่และทีมของเขาทำให้เกิดขึ้นกับแอร์เอเชียมาแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook