มนุษย์เงินเดือนต้องอ่าน! 3 วิธีแก้ปัญหา รายจ่ายมากกว่ารายรับ

มนุษย์เงินเดือนต้องอ่าน! 3 วิธีแก้ปัญหา รายจ่ายมากกว่ารายรับ

มนุษย์เงินเดือนต้องอ่าน! 3 วิธีแก้ปัญหา รายจ่ายมากกว่ารายรับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเอย เป็นโรคนี้กันมั้ยคะ โรครายจ่ายมากกว่ารายรับ คิดว่าคงมีหลายๆ คนมีปัญหาเดียวกันนี้นะคะ ส่วนสาเหตุอาจจะมาจากหลายๆ สาเหตุ แต่ละคนก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป ทำให้มีสาเหตุของปัญหาที่ไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดดูจะมีปัญหาเดียวกัน คือรายจ่ายเยอะ รายได้น้อย

ทันทีที่เรารู้ว่ารายจ่ายเกินรายรับเราต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เราจมดิ่งไปกับการเป็นหนี้นั่นเอง แล้วถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินรายได้จำกัด แล้วเราจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ได้บ้าง วันนี้ มาสิ มีวิธีแก้ปัญหารายจ่ายมากกว่ารายรับ และวิธีการรักษาสมดุลของรายรับกับรายจ่ายมาฝากค่ะ

1. ลดรายจ่าย


การลดรายจ่าย ถือว่าทำได้ไม่ยากนัก เมื่อเทียบกับวิธีการถัดไป เพราะมันคือการตัดรายจ่ายบางรายการของชีวิตเราดังต่อไปนี้ออกไป

● อาหารฟุ่มเฟือย
ตัวอย่างเช่น กาแฟแก้วละ 140 บาทที่กินเป็นประจำแทบทุกวัน อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ชอบแวะซื้อก่อนกลับบ้านดึกๆ ราคาไม่ต่ำกว่า 150 บาท รวมถึงบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นของโปรดราคา 399 บาทไม่รวมเครื่องดื่ม

ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ถ้าเราซื้อกาแฟแก้วละ 140 บาททุกวันทำงาน สัปดาห์นึงก็อยู่ที่ 700 บาทแล้ว เดือนหนึ่งก็ปาเข้าไป 2,800 บาทแล้ว พอผ่านไปปีนึงก็ 33,600 บาทพอดี! เงินขนาดนี้เอาไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ เปลี่ยนเป็นชงกาแฟออฟฟิศ หรือชงจากบ้านมา จะประหยัดกว่าเยอะ

● ข้าวของไม่จำเป็น


ขาช็อปทั้งหลาย คงต้องเพลาๆ ลงแล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า น้ำหอม ราคาแพงๆ เพราะเมื่อคิดดูดีๆ แล้ว ใช่ว่าเราจะจำเป็นต้องซื้อของใหม่ๆ พวกนี้บ่อยๆ ที่ไหนล่ะ และยิ่งใครใช้บัตรเครดิตด้วย เสี่ยงเป็นหนี้บัตรเครดิตอีก

มีกระเป๋าเงินแบรนด์เนมสวยๆ ใช้ แต่ข้างในแทบว่างเปล่าไม่มีเงินเหลือ แบบนี้ไม่เวิร์คหรอกค่ะ เลิกๆๆ เอาไว้มีเงินออมเมื่อไร ค่อยแบ่งเงินออมบางส่วนมาซื้อของดีๆ เป็นรางวัลให้กับตัวเอง แบบนี้สี ทั้งสวย ทั้งเก๋ ทั้งมีเงินออมในกระเป๋า

● การสังสรรค์นอกบ้าน


จริงอยู่ว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนมันเครียด เลิกงานแล้วก็อยากสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือกับเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่อย่าลืมนะคะว่า ออกไปนั่งทานร้านอาหารบรรยากาศดีๆ ครั้งนึง เราเสียเงินไปกี่ร้อยสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม และยิ่งถ้าไปบ่อยๆ ยิ่งเป็นตัวดูดเงินเลย

เปลี่ยนมาเป็นซื้ออาหารสด เครื่องดื่มจากร้านขายของยกโหล มาทำอาหารกินกันสนุกๆ ที่บ้าน อาจจะเหนื่อยนิดนึงเพราะต้องเตรียมนั่น ทำนี่ แต่รับรองว่าประหยัดกว่าเยอะ

● บริการรายเดือนต่างๆ


สำหรับใครที่ใช้สมาร์ทโฟน อาจลองพิจารณาเปลี่ยนแพ็คเกจหรือย้ายค่ายเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลง แค่ไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือนก็ยังดี รวมถึงการใช้อินเตอร์เน็ตรายเดือนที่บ้าน ถ้ายกเลิกได้ก็ยกเลิกไปเลยดีกว่า เพราะหลายๆ ค่ายราคาถึง 600 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังรวมถึง การเป็นสมาชิกฟิตเนส นิตยสาร เคเบิลทีวี และอะไรต่อมิอะไรที่เราต้องเสียเงินเป็นรายเดือน ต้องตัดใจยกเลิกไปก่อน ถ้าสภาพการเงินของเรากลับมาดีขึ้นเมื่อไรค่อยกลับไปสมัครใหม่ก็ได้

2. เพิ่มรายรับ


ขั้นตอนนี้ถือว่ายากกว่า แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย นอกเหนือจากงานออฟฟิศแล้ว ลองนึกดูว่าเราสามารถหารายได้เสริมจากอะไรได้อีก ถ้ายังนึกไม่ออก เรามีแนวทางแนะนำ

● ขายของออนไลน์
เดี๋ยวนี้การขายของออนไลน์ฮิตกันมาก เพราะทำได้ไม่ยาก ไม่ต้องเสียเงินหน้าร้าน ถ้าไม่อยากรับของมาขาย ก็ขายของมือสองก็ได้ อย่างเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เราไม่ใช้แล้ว แค่โปรโมทร้านเก่งๆ พูดจาดีๆ กับลูกค้า ได้เดือนละไม่กี่ร้อยบาทก็ยังดี

● รวบรวมขยะไปขาย
ของพวกแก้ว กระดาษ กระป๋อง พลาสติกต่างๆ เราสามารถรวบรวมให้ได้จำนวนมากๆ แล้วนำไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าได้ แม้จะนวนเงินที่ได้รับอาจจะไม่มาก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

● หางานพาร์ททามทำ
อันนี้ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา คือหางานพาร์ทามทำ โดยที่ไม่ควรกระทบกับงานประจำ อาจจะเป็นการทำงานตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ รับเขียนบทความ ถ่ายภาพ สอนพิเศษ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความชอบ ทักษะ และความถนัดของเรา เพื่อให้มีรายได้เพิ่มเติมจากรายได้หลักของงานประจำ แม้จะเหนื่อยหน่อย แต่ยังไงก็ต้องทำเพื่อช่วยถ่วงดุลกับรายจ่าย

3. หาวิธีการแก้ปัญหาระยะยาว


วิธีการแก้ปัญหาระยะยาวเป็นได้หลายอย่าง เช่น สำหรับคนที่รู้สึกว่า รายได้ตัวเองยังไม่มากนัก อาจจะไปลงเรียนเพิ่มในสายงานที่ตัวเองทำอยู่เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หางานทำใหม่ หรืออาจจะไปเรียนต่อเพื่อให้มีความรู้มากขึ้น วุฒิสูงขึ้น อันจะส่งผลให้รายได้มากขึ้นได้

ส่วนคนที่รายได้อยู่ในระดับที่พอสมควรอยู่แล้วกับความรู้และประสบการณ์ที่มี คงต้องเปลี่ยนนิสัยในการบริหารจัดการเงินใหม่ ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายให้เหมาะสม และระมัดระวังการใช้เงินมากยิ่งขึ้น พอหมดช่วงนี้ไปแล้ว เดี๋ยวจะดีขึ้นเอง

นอกจากนี้ ไม่ว่ารายรับรายจ่ายของเราจะเป็นอย่างไร การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตัวเลขจะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของการเงินเราชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ายังมีอะไรที่เราจ่ายเกินจำเป็นอยู่ไหม

การมีเงินออมก็สำคัญเช่นกัน เมื่อเราเริ่มอยู่ตัวกับการจัดการรายรับรายจ่ายให้สมดุลแล้ว เราควรแบ่งเงินไว้เป็นส่วนเงินออมสำหรับเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินและยามเกษียณด้วยจะดีที่สุด

สุดท้ายนี้ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะมุ่งหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิม อย่ามัวแต่เครียดและกล่าวโทษตัวเอง ให้ตั้งสติ และลองทำตามขั้นตอนแก้ปัญหาที่เราแนะนำดู ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

สนับสนุนข้อมูล : Masii.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook