ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ VS ประกันชีวิตแบบจ่ายทิ้ง แบบไหนดีกว่ากัน
การทำประกัน คือ การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิดไม่ว่าจะกับชีวิตหรือทรัพย์สินของเรา การทำประกันมีหลายรูปแบบ ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง ฯลฯ
สำหรับประกันชีวิตนั้น หลักของการทำประกันชีวิตเบื้องต้นก็คือ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เป็นการจ่ายเบี้ยประกันในวันนี้เพื่อคุ้มครองชีวิตของเราในวันข้างหน้า เนื่องจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น คนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ สามีภรรยาหรือลูกก็จะมีเงินชดเชยจากกรมธรรม์ไว้สำหรับใช้จ่ายหากต้องสูญเสียสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวไป
ทีนี้มาถึงคำถามว่าระหว่างประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์กับประกันชีวิตแบบจ่ายทิ้งแบบไหนดีกว่ากัน มาทำความเข้าใจประกันทั้งสองแบบกันก่อน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นเป็นประกันแบบที่บริษัทประกันตกลงที่จะจ่ายเงินตามกรมธรรม์ให้กับผู้รับผลประโยชน์ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือจะจ่ายเงินคืนตามที่ตกลงให้แก่ผู้เอาประกันหากถึงระยะเวลาสิ้นสุดตามกรมธรรม์
หรือพูดให้ง่ายก็คือ หากเสียชีวิตคนในครอบครัวก็ได้เงินชดเชยตามกรมธรรม์ แต่ถ้าไม่เสียชีวิตภายในระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ก็จะได้เงินคืนตามกรมธรรม์เช่นกัน ส่วนประกันชีวิตแบบจ่ายแล้วทิ้งนั้นบริษัทประกันจะจ่ายเงินตามที่ระบุในกรมธรรม์ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น มีทั้งแบบระบุเวลาและตลอดชีพ พูดให้ง่ายก็คือ ถ้าไม่เสียชีวิตก็เหมือนเสียค่าเบี้ยประกันฟรีไปเลย ถ้าเสียชีวิตเมื่อไหร่คนในครอบครัวถึงจะได้รับค่าชดเชยเท่านั้น
หากดูแค่นี้ก็เหมือนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะดูดีกว่าแบบจ่ายทิ้งเพราะได้เงินทั้งกรณีเสียชีวิตทั้งกรณีอยู่จนครบสัญญา แต่เบี้ยประกันของการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นแพงกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีซื้อประกันชีวิตสะสมทรัพย์ระยะเวลา 20 ปี ทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท และหากอยู่ครบสัญญาจะได้รับเงิน 3 ล้านบาท กรณีนี้เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายต่อปีจะตกประมาณ 1 แสนกว่าบาท เปรียบเทียบกับหากซื้อประกับชีวิตจ่ายทิ้งระยะเวลา 20 ปี ทุนประกัน 1 ล้านบาทเท่ากัน เบี้ยประกันที่จ่ายต่อปีจะตกประมาณแค่ 9 พันกว่าบาทเท่านั้น
หรือถ้าเป็นประกันจ่ายทิ้งแบบตลอดชีพ เบี้ยประกันต่อปีก็จะสูงกว่า 2 เท่า ตกประมาณ 18,xxx บาท นั่นก็เป็นเพราะว่าประกันแบบสะสมทรัพย์บริษัทประกันต้องใช้เงินจากเบี้ยประกันของเราส่วนหนึ่งไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและนำมาคืนให้เราในกรณีอยู่ครบสัญญานั่นเอง
แล้วแบบไหนล่ะที่เหมาะกับเรา?
คงต้องเริ่มดูถึงเหตุผลกันก่อนเลยว่าเราตัดสินใจทำประกันเพื่ออะไร หากเราเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นหลักในการหารายได้ให้กับครอบครัว หรืออาจเป็นคนเดียวที่ทำงานมีรายได้ ควรเลือกทำประกันแบบจ่ายทิ้ง เพราะเบี้ยประกันถูก หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็จะได้เงินชดเชยสำหรับช่วยเหลือครอบครัวได้ในระยะเวลาหนึ่งในช่วงที่ต้องสูญเสียผู้นำครอบครัวไป และยิ่งหากหัวหน้าครอบครัวทำงานที่มีความเสี่ยงสูงก็ยิ่งต้องพิจารณาทำประกันชีวิตแบบจ่ายทิ้งเพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนข้างหลัง ข้อดีของการประกันแบบจ่ายทิ้งคือเบี้ยประกันถูก วงเงินคุ้มครองสูง ส่วนข้อเสียก็คือ เบี้ยประกันจะสูงขึ้นตามอายุของเราเนื่องจากถือว่าความเสี่ยงมากขึ้น
การทำประกันแบบสะสมทรัพย์เป็นเหมือนกึ่ง ๆ ทำประกันชีวิตกรณีเสียชีวิต แต่กรณีไม่เสียชีวิตก็ยังอยากได้เงินคืนอยู่ ว่าง่าย ๆ ไม่อยากเสียเงินไปฟรี ๆ ก็เหมือนให้บริษัทแบ่งเบี้ยประกันของเราไปช่วยออมหรือลงทุนให้ กรณีแบบนี้เหมาะกับคนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมและไม่ค่อยมีความรู้หรือสนใจในเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง แม้เบี้ยประกันภัยจะแพงแต่ก็มีข้อดีเหมือนกัน คือ บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยงในการนำเงินของเราไปลงทุน โดยที่เราไม่ต้องเสี่ยงเพราะสุดท้ายหากเราอยู่ครบตามสัญญาก็จะได้รับเงินตามที่ระบุ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันเนื่องจากกรมธรรม์ประกันชีวิตมักเป็นแบบระยะยาว
ดังนั้น เงินของเราต้องอยู่กับบริษัทประกันนานพอสมควรทำให้ไม่มีสภาพคล่อง หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ก่อน ถ้าจำเป็นก็ต้องเวนคืนกรมธรรม์คล้าย ๆ เป็นการยกเลิกสัญญาก่อนถึงกำหนด เงินของเราก็จะหายไปเยอะไม่คุ้มได้เงินคืนน้อยมาก มีหลายคนต้องมาเสียใจบ่นว่าบริษัทประกันยกใหญ่เพราะต้องเวนคืนกรมธรรม์ได้เงินคืนไม่ครบ ทั้ง ๆ ที่เรื่องการเวนคืนก่อนสัญญาก็เป็นเรื่องที่ควรต้องทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรกแล้ว
การประกันชีวิตทั้งแบบออมทรัพย์และแบบจ่ายทิ้ง หากมีอายุกรมธรรม์เกินกว่า 10 ปี ยังมีข้อดีคือเบี้ยประกันในแต่ละปีสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท ยกตัวอย่างหากเราเสียภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% และซื้อประกันเต็มเพดาน เราจะลดหย่อนภาษีได้ถึง 20,000 บาทเลยทีเดียว
โดยสรุปคือ การเลือกประกันชีวิตให้เหมาะนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิตของเราว่า ต้องการเพียงแค่ประกันชีวิตหรือต้องการออมเงินด้วย การทำประกันชีวิตเป็นการวางแผนจัดการเรื่องเงินที่สำคัญอย่างหนึ่งของทุกคน และการทำประกันชีวิตส่วนใหญ่เป็นแบบระยะยาว ดังนั้น ก่อนทำควรตัดสินใจโดยพิจารณารายละเอียดของกรมธรรม์ให้เข้าใจดี มีอะไรสงสัยหรือไม่เข้าใจก็ให้สอบถามบริษัทประกันหรือถามตัวแทนประกันของเรา จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง
Advertorial
สนับสนุนเนื้อหาโดย M0neyHub