ความรู้เรื่องเงิน กองทุนประกันสังคม

ความรู้เรื่องเงิน กองทุนประกันสังคม

ความรู้เรื่องเงิน กองทุนประกันสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในชีวิตการทำงานของผู้ที่เป็นลูกจ้างองค์กรต่าง ๆ นั้นต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในทุก ๆ เดือน และได้รับกลับคืนในรูปแบบของสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองต่าง ๆ และประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์อีกตั้งแต่เมื่อเดือน ตุลาคม 2558 ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกประกันสังคมได้รับเพิ่มขึ้นดังนี้

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย


เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วยไม่สบาย หรือเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่ารถพยาบาล นั้น สามารถที่จะเบิกเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ตามวงเงินที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมได้เพิ่มความคุ้มครองให้ โดยถ้าได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เช่น เข้ารับการผ่าตัด แล้วคุณหมอลืมเครื่องมือแพทย์ไว้ในร่างกายของผู้ประกันตน หรือปวดท้องเพราะไส้ติ่งอักเสบ แต่คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นลำไส้อักเสบ ทำให้ผ่าตัดผิดจุด

ผู้ประกันตนสามารถรับเงินชดเชยสำหรับค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงที่ค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ๆ แพทย์ของประกันสังคม แต่จะไม่รวมถึงการรักษาที่เกี่ยวเนื่องกับโรคที่เป็นอยู่ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่คุณหมอวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องตัดขาทิ้ง เป็นต้น

2. กรณีทุพพลภาพ


สำหรับผู้สูญเสียสมรรถภาพไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกาย สามารถรับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ เงินทดแทนที่ขาดรายได้ โดยจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ การแพทย์ของประกันสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพเมื่อสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 50 เปอร์เซ็นขึ้นไปของร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ที่ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต ที่จากเดิมได้รับเพียง 15 ปีเท่านั้น

3. กรณีเสียชีวิต


เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยเป็นค่าทำศพ 40,000 บาท โดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ และเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต โดยจ่ายให้คนที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ จะเฉลี่ยจ่ายให้แก่ พ่อ, แม่ ลูก ภรรยาหรือสามีของผู้ประกันตนเป็นจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน ซึ่งประกันสังคมได้เพิ่มจำนวนเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้ผู้มีสิทธิรับเงิน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ประกันตนได้ทำการจ่ายเงินสมทบก่อนเสียชีวิต

4. กรณีชราภาพ


นอกจากนี้เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมจะมีส่วนที่จ่ายเข้าสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพด้วย โดยผู้ประกันตนจะได้รับเมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และไม่ได้เป็นสมาชิกประกันสังคมแล้ว แต่ถ้าผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพ หรือเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ และประกันสังคมจะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินก้อนนั้นให้กับทายาทหรือผู้มีสิทธิ

ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยผู้ที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือจะได้รับเงินร่วมกับทายาทของผู้ประกันตน ซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ ลูก สามีหรือภรรยา แต่ถ้าหากไม่มีทายาท หรือไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ จะให้สิทธินั้นแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี

5. กรณีคลอดบุตร


เมื่อมีลูก พ่อหรือแม่ที่เป็นผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท จากเดิมมีสิทธิเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และถ้าแม่เป็นผู้ใช้สิทธิ จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบ เป็นเวลา 90 วัน สำหรับลูก 2 คนแรก แต่ลูกคนที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน

6. กรณีสงเคราะห์บุตร


ผู้ประกันตนที่เป็นพ่อหรือแม่สามารถเบิกค่าสงเคราะห์บุตรได้ครั้งละไม่เกิน 3 คน จากเดิมเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน โดยจะได้รับค่าสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ใช้สิทธิได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีแต่ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น

7. กรณีว่างงาน


ถ้านายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น สถานประกอบการถูกน้ำท่วม ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบ ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น แต่จะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับจากวันที่ว่างงานหรือต้องหยุดงานชั่วคราว

เงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนนั้น ไม่ได้สูญเปล่าหายไปไหน แต่จะได้รับกลับมาในรูปของสิทธิประโยชน์หรือเงินชดเชยในกรณีต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ที่เป็นสมาชิกประกันสังคมควรศึกษาสิทธิประโยชน์ เพื่อใช้สิทธิได้อย่างคุ้มค่า

 

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook