สาวๆ หนุ่มๆ รู้ยัง ! สินสอด ทองหมั้น แต่ง ไม่แต่ง ตกเป็นของใคร. ?

สาวๆ หนุ่มๆ รู้ยัง ! สินสอด ทองหมั้น แต่ง ไม่แต่ง ตกเป็นของใคร. ?

สาวๆ หนุ่มๆ รู้ยัง ! สินสอด ทองหมั้น แต่ง ไม่แต่ง ตกเป็นของใคร. ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จบกันไปอีกคู่สำหรับคู่รักคนดัง หลังเข้าพิธีวิวาห์ได้ไม่นาน ภาพงานแต่งใหญ่โต คู่บ่าวสาวสวยโดดเด่น จนเป็นที่กล่าวถึงกันทั้งวงการ และยิ่งมีข่าวออกมาถึงเรื่อง เงินสินสอด ทองหมั้น สูงถึง 30 ล้านบาท พร้อมเรือนหอมูลค่าเป็น 100 ล้านบาทด้วยแล้ว ทำเอาสาวๆ อิจฉา สาวพริตตี้เงินล้าน หญิงแย้ นนทพร ธีระวัฒนสุข กันไปตามๆกัน

แต่แล้วความไม่แน่นอนของชีวิตก็เกิดขึ้น ทั้งสองได้ตัดสินใจแยกทางกัน โดย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 ที่ผ่านมา เธอได้ออกมาแถลงข่าวชัดเจนถึงสาเหตุการร้างลา รวมถึงตอบข้อสงสัยต่างๆนานา กับผู้สื่อข่าวไปแล้ว ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยที่ชีวิตคู่ของทั้งสองไม่สามารถประคองต่อไปได้ จำต้องแยกทางกันไป

จากเหตุการณ์แยกทางร้างลากันไปของทั้งสอง มีแง่มุมที่เป็นความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินๆทองๆ เรื่องของสิทธิในทรัพย์สิน สินทรัพย์ ต่างๆ ที่น่าสนใจศึกษาสำหรับคนที่จะมีชีวิตคู่ในอนาคต เผื่อจะได้วางแนวทางในเรื่องเหล่านี้ได้ถูกต้องกันครับ

ในการแต่งงาน มีประเด็นว่า มีการยกค่าสินสอดทองหมั้น รวมถึงเรือนหอ ในพิธีแต่งงานประกาศให้รับทราบกันทั่ว ดังนั้นเมื่อแยกทางร้างรา แล้วทรัพย์สินเหล่านั้น เป็นของใคร.. ?

กรณีนี้หากไม่มีข้อพิพาทขึ้นมา หรือ ข้อถกเถียงขึ้นมาว่า อันนี้ อันนั้นเป็นของฉัน เป็นของเธอ ก็ไม่มีปัญหาอะไร..แต่หาก เกิดมีปัญหาขึ้นมาจะทำอย่างไร..?

วันนี้ Sanook Money รวบรวมความรู้ในเรื่องดังกล่าวมาเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจกันครับ


ประเด็นแรก คือ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมาในเรื่องเงินสินสอดทองหมั้น ผู้ที่ต้องการรักษาประโยชน์รักษาสิทธิของตน ต้องไปฟ้องศาลเพื่อตัดสินเอานะครับ แต่ในหลักกฎหมายในเรื่องเหล่านี้ มีบัญญัติไว้ มาลองดูนะครับว่า สิทธิใน เงินสินสอด ทองหมั้น เป็นของใคร .?

ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๑ การหมั้น


โดย ของหมั้น ตามกฎหมายต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้


1. ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นแก้ว แหวน เงินทอง รถยนต์ ไปจนถึงบ้าน คอนโด ที่ดิน และยังรวมไปถึงสิทธิต่างๆที่ตีมูลค่าเป็นเงินได้ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่เป็นของหมั้นได้

2. ของหมั้นต้องเป็นสิ่งที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ตัวหญิงเอง และหญิงได้รับของสิ่งนั้นไว้เอง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ หญิงให้แก่ชาย หรือ หญิงให้แก่หญิง หรือ ชายให้กับชาย ในทางกฎหมายไม่อาจถือว่าของสิ่งนั้นเป็นของหมั้นแม้ผู้ให้และผู้รับเจตนาที่จะให้สิ่งของเหล่านั้นเป็นของหมั้นก็ตาม แต่ถือเป็นเพียงการให้โดยเสน่หาอย่างหนึ่งเท่านั้น

3. ของหมั้นต้องส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงในวันหมั้น โดยหญิงได้รับไว้หรือรับโอนทางทะเบียน ในกรณีที่ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น หากเป็นเป็นเพียงสัญญาจะให้แต่ไม่มีการส่งมอบหรือโอนให้กันจริงในวันหมั้น ทรัพย์สินเหล่านั้น ไม่ถือเป็นของหมั้นตามกฎหมายและหญิงไม่อาจฟ้องเรียกให้ส่งมอบในภายหลังได้

4. ของหมั้นนั้นฝ่ายชายต้องให้แก่หญิง โดยมีเจตนาที่จะให้ของหมั้นนั้นเป็นหลักฐานว่า จะสมรสหญิงต่อไปซึ่งต้องมีเจตนาไปถึงขั้นที่ว่า จะจดทะเบียนสมรสด้วย มิใช่ประสงค์แต่เพียงจะจัดงานสมรสขึ้นในภายหลังเท่านั้น ทั้งของหมั้นนี้ต้องได้ให้ไว้ก่อนการจดทะเบียนสมรสด้วยมิเช่นนั้นแล้ว ของสิ่งนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นของหมั้นเป็นแต่เพียงการให้โดยเสน่หา

หากของสิ่งใดเข้าลักษณะเป็นของหมั้นดังกล่าวแล้วของสิ่งนั้นก็จะตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที ซึ่งฝ่ายชายอาจเรียกคืนได้เฉพาะในกรณีที่หญิงผิดสัญญาไม่สมรสด้วยเท่านั้น

ส่วนสินสอดนั้น ต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้

1. สินสอดต้องเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับของหมั้น

2. สินสอดต้องเป็นสิ่งที่ฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงซึ่งมิได้ให้แก่ตัวหญิงเองอย่างของหมั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งไปที่ตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิง หากหญิงไม่มีตัวบุคคลดังกล่าวอยู่แล้วแม้จะมีการตกลงกันให้มอบทรัพย์สินนั้นแก่หญิงเองก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสอดไปได้ และสินสอดที่ตกลงให้กันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งมอบให้แก่ฝ่ายหญิงทันทีอย่างของหมั้นเพียงแต่ตกลงที่จะให้หรือจะนำมาให้ภายหลังก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสอดที่ทำให้ฝ่ายหญิงมีสิทธิเรียกร้องได้

3. สินสอดต้องเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วย  ซึ่งต้องกินความถึงขนาดที่จะต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่การให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงที่ให้ความยินยอมในกรณีที่หญิงยังเป็นผู้เยาว์

สินสอดเมื่อให้แล้วจะตกเป็นสิทธิของพ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงทันที แม้ชายหญิงจะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม เพียงแต่ฝ่ายชายอาจเรียกสินสอดคืนได้ ถ้าการสมรสไม่มีขึ้นเพราะตัวหญิงเองเป็นต้นเหตุ หรือเป็นเหตุที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ซึ่งในกรณีนี้รวมไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหตุให้ไม่มีการสมรสขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามชายหญิงจะทำการหมั้น หรือการสมรสกันโดยไม่มีสินสอดก็ได้ เพียงแต่ว่าหากมีการตกลงให้สินสอดกันแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงเท่านั้นมีสิทธิเรียกเอาสินสอดดังกล่าวได้

จากข้อกฎหมายจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีการแยกระหว่างของหมั้นกับสินสอด อย่างชัดเจน โดยของหมั้นเป็นของที่ ชาย เจตนาที่ให้กับ หญิง เพื่อเป็นของหมั้นหมายว่าจะแต่งงาน และมีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสด้วย และทรัพย์หากต้องโอนให้ ก็ต้องทำให้เรียบร้อยและนำมามอบให้ในวันหมั้น .โดยของเหล่านั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิงตามกฎหมาย

ขณะที่ สินสอด.. เป็นของที่เจตนาให้กับ บิดา มารดา หรือบุพการีของฝ่ายหญิง และเพียงให้คำมั่นว่าจะให้ก็มีผลผูกพันแล้ว และเมื่อให้แล้วก็ตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส..และภายหลังไม่ได้แต่งงานกัน โดยฝ่ายหญิงไม่ได้เป็นต้นเหตุของการไม่ได้แต่งงานกัน...

เห็นแบบนี้แล้ว ...บอกเลย หลักกฎหมายค่อนข้างปกป้องและคุ้มครองฝ่ายหญิงมากนะครับ แต่ก็ต้องทำให้เป็นขั้นตอนตามเงื่อนไขของกฎหมายด้วย ถ้าเป็นของหมั้น ก็ต้องเอามาให้ โอนมาให้ก่อนและนำมาให้ในวันหมั้นนะครับ ส่วนสินสอด ก็ต้องตกลงให้ชัดเจนมีประจักษ์พยานให้ครบถ้วน และทางที่ดี คือ ให้นำมาให้ในวันทำพิธีด้วย จะได้ชัดเจน ไม่ต้องทวงถามเอาภายหลังนะครับ

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก คอลัมน์ กฎหมายควรรู้ MGR ออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook