จะทำยังไง เมื่อ เป็นหนี้ แล้วถูกฟ้อง ?

จะทำยังไง เมื่อ เป็นหนี้ แล้วถูกฟ้อง ?

จะทำยังไง เมื่อ เป็นหนี้ แล้วถูกฟ้อง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าจะมีหลายคนที่อาจจะเป็นกังวลอยู่ว่า ถ้าเรื่องหนี้สินของเรามันล่วงเลยมาจนการฟ้องร้องไปถึงกรมบังคับคดีแล้ว เราจะต้องทำยังไงกันบ้าง เรามาเรียนรู้ขั้นตอนการบังคับคดีไปด้วยกันเลย

แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของการบังคับคดี เรามาดูกันก่อนดีกว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างก่อนที่เจ้าหนี้จะฟ้องบังคับคดีกับเรา เมื่อเรามีการค้างชำระหนี้สินตั้งแต่ 1 งวด เจ้าหนี้จะทวงถาม เช่น โทรศัพท์ ส่งหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ สงคนทวงถามตามที่อยู่ของเรา หรือที่ทำงาน หลังจากทวงถามแล้วยังไม่ได้รับการชำระหนี้อีก ก็จะไปสู่ขั้นตอนของการฟ้องร้องคดี เมื่อเราได้รับจดหมายการฟ้องร้องคดีแล้วก็ต้องตรวจสอบให้ดีว่าเราถูกฟ้องเป็นคดีอะไร จากนั้นก็ไปปรึกษาทนายความเพื่อหาวิธีการกันต่อไป

ที่สำคัญคือ เราต้องไปศาลและต่อสู้คดี ไม่เช่นนั้นแล้วศาลจะถือว่าลูกหนี้ขาดนัดและศาลจะพิจารณาคดีโดยฟังเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้มีโอกาสชนะคดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่หมดหนทางเสียทีเดียว  กรณีที่เราแพ้คดีเพราะไม่ไปศาลนั้น  เราอาจจะยื่นคำร้องให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับคำบังคับคดี

หลังจากที่ศาลตัดสินให้ลูกหนี้ชำระหนี้  เจ้าหนี้ก็จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อขออายัดทรัพย์ของลูกหนี้  โดยศาลจะส่งหมายบังคับคดีมาที่กรมบังคับคดี  เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาตั้งเรื่องยึดทรัพย์ของลูกหนี้  ซึ่งระหว่างนี้ลูกหนี้ก็สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยคดีได้  สำหรับทางฝั่งเจ้าหนี้ก็ต้องยึดทรัพย์ของลูกหนี้ภายใน 10 ปี  เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี ไปแล้วเจ้าหนี้ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์จากลูกหนี้ได้อีก

แล้วเมื่อเราถูกเจ้าหนี้เข้ายึดทรัพย์  สิ่งที่ต้องทำก็คือ ตรวจสอบจำนวนหนี้และทรัพย์สินที่จะถูกยึดว่าถูกต้องหรือไม่  ถ้าไม่ถูกต้องก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมทั้งต้องตรวจสอบราคาทรัพย์ที่ถูกยึดไปด้วยว่า ราคาของทรัพย์สินที่ถูกยึดไปนั้นไม่ได้ถูกประเมินจนต่ำเกินไป  ถ้าเราเห็นว่าราคาต่ำเกินไปก็ควรจะต้องแจ้งต่อพนักงานบังคับคดีพร้อมหลักฐานราคาของทรัพย์สินที่ถูกต้องเพื่อให้มีการประเมินและทำราคาของทรัพย์สินให้ถูกต้อง

หลังจากที่ถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว เจ้าหนี้ก็ไปขออนุญาตศาลเพื่อนำทรัพย์สินที่ยึดมาได้ออกขายที่จะเรียกว่า ขายทอดตลาด ซึ่งในขั้นตอนนี้หากเราเป็นลูกหนี้เราก็ควรที่จะหาคนที่สนใจมาสู้ราคาเพื่อให้การขายทรัพย์สินในครั้งนี้ได้ราคาตามที่เราต้องการ  และในขณะเดียวกันเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ก็จะให้คนของตัวเข้าไปประมูลทรัพย์สินนั้นออกมาในราคาถูก  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำ คือ เราต้องเข้าร่วมการขายทรัพย์สินของเราด้วยทุกครั้ง หากเห็นว่าราคาที่ขายทรัพย์สินนั้นต่ำจนมากเกินไป  เราก็สามารถคัดค้านการขายได้  ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะอนุญาตให้ทางฝั่งลูกหนี้สามารถเข้าคัดค้านได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น


แล้วเมื่อผ่านการยึดทรัพย์สินเพื่อไปขายทอดตลาดทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว  แต่ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้สินได้หมด  และถ้ามีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท ก็จะถูกฟ้องล้มละลายเป็นขั้นตอนต่อไป โดยก่อนที่จะถูกฟ้องล้มละลายนั้นก็สามารถที่จะขอเจรจาประนอมหนี้กันก่อนก็ได้  ถ้าหากไม่สำเร็จศาลก็สั่งพิทักษ์ทรัพย์สินเด็ดขาดและรายงานศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย  และเมื่อถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วล่ะก็จะต้องไปรายงานตัวต่อศาลเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ถ้าไม่ไปรายงานตัวศาลก็สั่งให้เพิ่มเป็น 5 ปี อีกทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ การเดินทางออกนอกประเทศก็จะต้องขออนุญาตจากพนักงานบังคับคดี ไม่เช่นนั้นก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายได้

แต่ก็มีสิ่งที่ลูกหนี้จะต้องรู้ไว้ด้วยอีกเรื่องก็คือ การยึดทรัพย์นั้นมีบางอย่างที่เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถมายึดจากลูกหนี้ได้ ก็คือ เบี้ยเลี้ยงชีพตามที่กฎหมายกำหนด เงินเดือนค่าราชการ เช่น เงินเดือนค่าจ้างบำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นๆ ในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ และเงินสงเคราะห์บำนาญหรือบำเหน็จที่หน่วยงานราชการได้จ่ายให้กับคู่สมรส หรือญาติที่มีชีวิตของลูกหนี้

ทั้งนี้แล้วถ้าหากเราเป็นลูกหนี้ที่คิดว่ากำลังจะมีปัญหาในการผ่อนชำระแล้วล่ะก็ ให้รีบติดต่อกับธนาคาร เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขก่อนที่เราจะกลายเป็นหนี้เสียและมีเรื่องฟ้องร้องต่อศาลกันก่อนดีกว่า

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook