6 การกระทำผิดๆเกี่ยวกับการออมเงิน
หากคุณคิดว่าคนเราสามารถรวยได้ ก็ต่อเมื่อต้องหาเงินได้มหาศาล มีรายรับเข้ามามากมาย ทำให้บางคนคิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีวันรวยแน่ๆเพราะไม่สามารถหาเงินได้มากขนาดนั้น แต่จริงๆแล้วเราจะรวยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการอดออมและพฤติกรรมการใช้เงินของเราต่างหาก ที่จะทำให้เรารวยมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง “ออมเงิน” อยู่ คิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้คือกำลังออมเงินทั้งที่จริงๆแล้วไม่ใช่ ลองมาดูกันว่าเรากำลังเข้าใจผิดอยู่หรือไม่เกี่ยวกับการออมเงิน ด้วย 6 การกระทำผิดๆต่อไปนี้
1. ใช้จ่ายก่อน แล้วเงินที่เหลือค่อยเก็บ เมื่อมีรายรับเข้ามา บางคนไม่ได้แยกเงินออมออกมาทันที แต่ใช้เงินไปก่อน แล้วเงินที่เหลือค่อยเป็นเงินออม แบบนี้ไม่ได้เรียกว่าออมเงิน เพราะการออมเงินที่ถูกต้องคือ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะออมเดือนละกี่บาท หรือกี่เปอร์เซนต์ แล้วค่อยควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินเงินที่เหลือ
2. มัวแต่รอเวลาอันเหมาะสมแล้วค่อยเก็บเงิน บางคนจะเริ่มเก็บเงินทั้งที มัวแต่รอว่าค่อยเก็บตอนเงินเดือนขึ้น รอจังหวะหรือมัวแต่รอดูฤกษ์ค่อยเก็บ เช่น รอวันเกิด รอปีใหม่ มัวแต่รอไปรอมาก็ไม่ได้เก็บเสียที พยายามคิดว่าการออมเงินคือค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งของเราในแต่ละเดือน ควรกำหนดไปเลยว่าเมื่อมีรายรับเข้ามาก็หักออกไปเลยทันที หรือคิดเป็นเปอร์เซนต์จากรายได้ เพราะถึงอย่างไรรายได้เราต้องเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว ก็ควรเก็บเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3. ไม่ลงทุนเพิ่ม อย่าเพียงคิดแต่ว่าจะเก็บเงินจากรายได้ประจำเท่านั้น และนำเงินนั้นเก็บเอาไว้ในบัญชีนิ่งๆ ไม่ได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การเก็บเงินที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดคือ การนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนอย่างอื่นเพื่อให้งอกเงยขึ้นมาเรื่อยๆ หรือลงทุนสินทรัพย์ใดๆเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4. ไม่มีเงินสดเผื่อฉุกเฉิน จากข้อ 3. เมื่อเราได้นำเงินไปลงทุนเพิ่มแล้ว อย่าลืมสำรองเงินสดเผื่อฉุกเฉินไว้ เพราะถ้าเรานำเงินทั้งหมดไปลงทุน มันจะขาดสภาพคล่อง เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้อย่างเร่งด่วน จะนำเงินออกมาได้ยาก ดังนั้นควรสำรองเงินสดเอาไว้ เพราะเงินสดคือเงินที่มีสภาพคล่องสูงสุด สามารถนำออกมาใช้ได้ทุกเมื่อ แต่อย่าลืมว่า้ต้องฉุกเฉินจริงๆเท่านั้นจึงจะนำออกมาใช้
5. เก็บเงินไม่เป็นสัดส่วน การเก็บเงินไม่ใช่แค่เพียงกันเงินออกมาจากรายจ่ายเท่านั้น แต่ให้คิดว่าเงินก้อนนี้เราจะนำไปทำอะไรบ้าง ให้แบ่งเป็นสัดส่วนเอาไว้ หรืออาจจะแยกบัญชีเพื่อไม่ให้ปะปนกัน ยกตัวอย่างเช่น กำหนดเอาไว้ว่าเงินออมเท่ากับ 30% ของรายได้ ภายใน 30% นั้นแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ เงินสำหรับการลงทุนระยะสั้น 30%, เงินสำหรับการลงทุนระยะยาว 30%, เงินก้อนเพื่อนำไปเรียนต่อ 20%, เงินสำหรับไปเที่ยวต่างประเทศ 10%, เงินสดเผื่อฉุกเฉิน 10% เป็นต้น
6. ไม่ทำรายรับ-รายจ่าย ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของการเก็บเงินก็คือ ไม่ได้ทำรายรับ-รายจ่าย ซึ่งแม้ว่าเราอาจจะกันเงินเก็บแยกไว้แล้วก็ตาม แต่การทำรายรับ-รายจ่ายทำให้เราได้รู้ว่ารายจ่ายที่ออกไปแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และไปหนักที่อะไร ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่สิ้นเปลืองเกินไป สามารถลดลงให้น้อยกว่านี้ได้หรือไม่ การทำรายรับ-รายจ่ายจะช่วยให้เราคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ดีไม่ดีหากเราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ก็จะทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นด้วย – เทอร์ร่า บีเคเค
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com