ยืมตังค์เค้า แต่ไม่กำหนดเวลาใช้คืน … ต้องคืนตอนไหน?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยถูกเพื่อนสนิทมิตรสหายยืมเงินกันมาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะพูดกันว่า “เฮ้ยขอยืมเงินหน่อยดิ ถ้ามีแล้วจะคืนให้” ซึ่งบางคนก่อนให้ยืมก็มักจะถามว่า “จะคืนเมื่อไหร่ ?” ถ้าถามแบบนี้ย่อมไม่มีปัญหา แต่บางคนนี่สิใจถึง เพื่อนขอปุ๊บให้ปั๊บ จะคืนให้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถามว่าสัญญากู้มีมั้ย ? ไม่มีแน่นอนสัญญาใจล้วนๆ ที่นี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเพื่อนที่ยืมเงินเราไปต้องคืนเงินเราตอนไหน ? แล้วเราในฐานะผู้ให้ยืมจะทวงเงินได้เมื่อไหร่ ? วันนี้ ทีมงาน TerraBKK พามาดูข้อกฎหมายกัน
ป.พ.พ บอกว่า ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาคืนเอาไว้ เพื่อนเราต้องคืนในเวลาอันควรเมื่อเราทวง
ในเรื่องนี้ ปพพ.ม. ๖๕๒ เขียนเอาชัดครับว่า “ถ้าในสัญญาไม่กำหนดเวลาคืนไว้ ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกกล่าวไปยังผู้ยืมให้คืนทรัพย์ภายในเวลาอันควรก็ได้”
กรณีตามตัวอย่างของเรา แน่นอนหละสัญญากู้ไม่มี กำหนดเวลาคืนไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นเราในฐานะผู้ให้ยืมจึงต้องทำการ “บอกกล่าว” ครับ หรือที่ชาวบ้านอย่างเราๆเรียกว่า “ทวง” นั่นเอง ส่วนวิธีการทวงนั้นกฎหมายไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ เพราะฉะนั้นเราจะทวงต่อหน้า ทวงทางโทรศัพท์ ก็ได้แล้วแต่สะดวก เพียงแต่ว่าที่นิยมทำกันมักจะทวงกันเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังที่อยู่ของเพื่อนเรา เพื่อที่ว่าจะได้มีเอกสารหลักฐานไปยันในชั้นศาลอีกทีนึงประมาณว่า “ศาลครับ ผมทวงมันแล้วครับ แต่แม่งนิ่ง!”
ประเด็นต่อมาคือ เมื่อเราทวงถามไปยังเพื่อนของเราให้คืนเงินแล้ว เราควรกำหนดระยะเวลาให้เพื่อนคืนเงินเรากี่วัน? เพราะในเรื่องนี้กฎหมายเขียนไว้เพียงว่า “ให้คืนภายในเวลาอันสมควร” แล้วไอ้เวลาอันสมควรนี่มันกี่วันกันแน่? เรียนตามตรงว่าเรื่องนี้ไม่มีกำหนดเวลาตายตัวที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ยืมเป็นสำคัญ โดยส่วนมากมักจะกำหนดไว้ที่ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน ไม่เกินนี้ แล้วเราต้องเริ่มทวงตอนไหนอ่ะ?
คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะเริ่มทวงเพื่อนได้ตั้งแต่ตอนไหน ให้คืนหลังยืมทันที ? .. หรือยืมไปแล้ว ๗ วัน? .. หรือรอให้เพื่อนมันใช้เงินหมดค่อยทวง? หรือว่านึกขึ้นได้ตอนไหนก็ทวงตอนนั้น ?
ปพพ. บอกว่าถ้าในสัญญาไม่กำหนดเวลาคืนไว้ เราทวงได้ทันที .. ให้ยืมปุ๊บเริ่มทวงได้ปั๊บ!
ในเรื่องนี้ตามป.พ.พ ม. ๒๐๓ วรรคหนึ่ง ก็บอกว่า “ถ้าเวลาอันในการชำระหนี้ไม่ได้กำหนดเอาไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ทันที”
ตามตัวอย่างของเราก็เหมือนเดิมครับ สัญญากู้ไม่มี กำหนดเวลาชำระหนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อเราส่งมอบเงินให้กับเพื่อนสุดที่รักของเราไปแล้ว “การกู้ยืมเงินย่อมสมบูรณ์” ดังนั้น เราจึงเริ่มทวงถามได้ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นไป
**คดีตัวอย่าง
หลังจากที่เรารู้ข้อกฎหมายกันไปแล้วที่นี้เรามาดูคดีที่เกิดขึ้นจริงกันบ้างดีกว่า ว่าศาลตัดสินคดีกู้ยืมเงินไม่มีกำหนดเวลาใช้คืนไว้อย่างไร
*บอกกล่าวให้ใช้เงินแล้ว ทำนิ่ง .. เจ้าหนี้ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา
คดีนี้ โจทก์และจำเลยทำสัญญากู้มีข้อความว่า “เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ผู้ให้กู้อนุโลมให้ต่อสัญญาได้อีก” ดังนี้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาและจำเลยผู้กู้ไม่ชำระเงินคืน ศาลตีความว่าคู่กรณีได้ทำสัญญากู้กันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทำการคืนเงินแล้ว จำเลยไม่นำเงินมาคืนให้โจทก์ภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามมาตรา ๖๕๒ โดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญาก่อน
*บอกจะใช้เงินคืนให้เมื่อขายที่ได้ ถือเป็นการกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้ทันที
คดีนี้ จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยระบุว่าจะชำระหนี้ เมื่อจำเลยแบ่งแยกและขายที่ดินมรดกได้แล้ว ซึ่งเป็นการไม่แน่ว่าเมื่อไรจะขายได้ เงื่อนไขดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ทำให้เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้ทันทีตามมาตรา ๒๐๓ วรรคหนึ่ง
สรุป
ถ้าไม่กำหนดเวลาคืนเงินไว้ ผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกเงินคืนได้เสมอไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ยืมแล้วหละครับที่ต้องรักษาสัญญา แม้จะไม่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องรักษาคำพูดอย่าทำเป็นแกล้งลืมว่าตอนที่เราเดือดร้อนไปขอกู้ยืมเงินเค้า เราพูดอะไรไว้บ้าง
อ้างอิง :
๑. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๒ “ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาคืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในระยะเวลาอันควร ซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้” มาตรา ๒๐๓ วรรคหนึ่ง “ถ้าเวลาอันพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ได้โดยพลันดุจกัน”
๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๘/๒๕๓๘ ๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๘๘/๒๕๕๐
เทอร์ร่า บีเคเค บทความโดย TerraBKK
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com