ถ้ารวยแล้วถือว่าประสบความสำเร็จแล้วใช่ไหม?

ถ้ารวยแล้วถือว่าประสบความสำเร็จแล้วใช่ไหม?

ถ้ารวยแล้วถือว่าประสบความสำเร็จแล้วใช่ไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Insuranger AomMoney Guru

หากพูดถึงเรื่อง “ความสำเร็จในชีวิต” หลายคนอาจจะวัดกันจากหน้าที่การงาน (ตำแหน่งสูงๆ), ชื่อเสียง (โด่งดัง) หรือเงินทอง (รวย) หากใครมีมาก และเห็นเป็นรูปธรรม เราก็มักจะตัดสินคนคนนั้นว่า เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม เรามักจะคิดว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จจะต้องก้าวหน้าในหน้าที่การงาน, มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือไม่ก็หาเงินได้เยอะๆ มันเลยทำให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องงานและเรื่องเงินเป็นพิเศษ หาวิธีหาเงินสารพัด รวมถึงเรื่องการลงทุน การบริหารเงินด้วย โดยเชื่อว่า ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้มากๆแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วชีวิตเราก็จะมีความสุข

แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นแบบนั้นจริงๆเหรอ?

ลองคิดดูว่า ถ้าเราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โด่งดัง มีชือเสียง มีเงินทองมากมาย แต่สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยออดๆแอดๆ หรือทำงานหนัก มีเงินเยอะ แต่ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย จะถือว่าเราประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างนั้นเหรอ?

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การที่เราจะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต หรือมีความสุขกับชีวิตได้จริงๆ เราจำเป็นจะต้องบริหารองค์ประกอบทั้ง 5 นี้ให้ดีให้ได้ครับ นั่นก็คือ

“งาน” “เงิน” “สังคม” “ครอบครัว” “สุขภาพ”

ซึ่งทุกส่วนล้วนเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา มันจะส่งผลกระทบถึงส่วนอื่นๆทันที ยกตัวอย่างเช่น

ถ้างานแย่ –> ก็หาเงินได้น้อย อาจจะมีไม่พอกินพอใช้ พอเครียดกับที่ทำงานก็อาจมีปัญหากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เครียดมากๆเข้า สุขภาพก็แย่ตาม

ถ้าเงินแย่ –> ต่อให้เป็นงานที่ดีก็อาจจะอยากเปลี่ยนงาน พอเงินไม่มีก็เลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ จับจ่ายใช้สอย ทำกิจกรรมต่างๆในการเข้าสังคมลำบาก เจ็บป่วยก็ไม่มีเงินรักษา

ถ้าสังคมแย่–> พอความสัมพันธ์กับคนอื่นๆไม่ดี การงานก็อาจจะติดขัดเพราะไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่มีใครสนับสนุน พองานแย่เงินก็แย่ หลายอย่างแย่ก็อาจจะเครียดจนมีปัญหาครอบครัว เครียดปุ๊บสุขภาพก็แย่ตาม

ครอบครัวแย่ –> ถ้ามีปัญหาครอบครัว (ติดการพนัน, ติดเหล้า, นอกใจ, ไม่เอาไหนไม่มีอนาคต ฯลฯ) ทะเลาะกับคนในครอบครัว ชีวิตไม่มีสุขแน่ๆ เมื่อจิตไม่มีสุข เครียด ทั้งงาน เงิน สังคม สุขภาพ ก็แย่ตามหมด

สุขภาพแย่ –> ถ้าร่างกายพังคงทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ได้ก็ไม่มีเงิน ป่วยก็เลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ แถมเป็นภาระให้คนอื่นต้องมาดูแลอีก

ดังนั้น ผมเชื่อว่า ความสงบสุขในชีวิตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรา “บาลานซ์” องค์ประกอบทั้ง 5 ของชีวิตได้อย่างมีสมดุลดีให้ได้ครับ

ใครบางคนอาจจะบอกว่า “โอ้ย! เอาแค่ส่วนงานกับเงิน ยังทำได้ไม่ดีเลย นี่จะให้ทำให้ดีครบทุกส่วน ถึงจะมีความสุข ชีวิตมันจะยากเกินไปรึเปล่า(วะ)?”

นี่แหละครับ คือสิ่งที่ผมอยากจะพูดในวันนี้

เพราะไม่มีทาง ที่อยู่ๆ เราจะสามารถทำให้ทุกส่วน ดีขึ้นทันตาเห็นได้พร้อมๆกัน เราจึงต้องมีสิ่งหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวทั้ง 5 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะทำให้เรามีความสุขในปัจจุบันได้ทันที ไม่ต้องรอให้สมบูรณ์ทุกส่วน ถึงจะมีความสุขได้

สิ่งนั้นก็คือ การรู้สึกถึง “คุณค่า” ของตัวเอง โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร

ขอย้ำว่า “ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร”

“คุณค่าของงาน” คือการรักและศรัทธาในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับผู้บริหาร งานธรรมดาระดับพนักงงานออฟฟิศทั่วไป หรืองานที่เล็กน้อยอย่างงานใช้แรงงาน แต่ทุกงานเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราได้ ถ้าเราศรัทธาและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

พนังงานล้างส้วม หรือ คนที่รักษาสุขอนามัยให้คนนับร้อย?
ยามเฝ้าหมู่บ้าน หรือ ผู้พิทักษ์ความสงบสุขให้ทุกครอบครัว?
พนังงานต๊อกต๋อย หรือ ฟันเฟืองสำคัญของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่?

ถ้ายังไม่รู้สึก หรือยังตามหาไม่เจอ ผมแนะนำว่า ให้ออกตามหาจนกว่าจะเจอ หรือปรับทัศนคติเสียใหม่ครับ เพราะการรักในสิ่งที่ทำ คือจุดเริ่มต้นของคุณค่าทุกอย่างในชีวิตจริงๆ

“คุณค่าของเงิน” คือ การรู้ว่า เงินมีไว้ เพื่ออะไร? เพื่อไว้อวดร่ำรวย โชว์รสนิยม สนองตัณหาของตัวเองที่ไม่เคยพอ หรือ คือปัจจัยที่มีไว้เพื่อความสงบสุขและความราบรื่นของชีวิต?

พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมไม่อยากให้ใครกินอาหารแพงๆ ซื้อของแบรนด์เนม เที่ยวต่างประเทศ หรือไม่ต้องรู้จักบริหารเงิน รู้จักลงทุน ให้มีเงินเยอะๆนะครับ

เพียงแต่เราควรรู้ว่า ความเหมาะสมของการใช้จ่าย กับชีวิตของเราอยู่ตรงไหน

เพราะเอาเข้าจริงๆ การที่เรากินอิ่ม นอนหลับ มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆได้ ใช้จ่ายเพื่อบันเทิงตามสมควร ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินเหตุ ก็น่าจะเพียงพอกับชีวิตคนเราแล้ว

จะกินแพงแค่ไหน อร่อยแค่ไหน เที่ยวสนุกแค่ไหน ใช้ชีวิตหรูหราขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องมีวันหมดความตื่นเต้นอยู่ดี ถ้ายังตามหาคุณค่าของชีวิตไม่เจอ

สุดท้ายคนเราก็ต้องการแค่ “เวลา” และ “ความสุขสงบ” มีชีวิตที่ราบรื่น เท่านั้นแหละครับ (ส่วนถ้าความต้องการพื้นฐานของเราสามารถถูกตอบสนองด้วยเงินที่เราหามาได้เรียบร้อย ไม่เดือดร้อนแล้ว หากมีความสามารถที่จะมีมากกว่านั้น แล้วอยากจะใช้ได้มากกว่านั้นโดยไม่เบียดเบียนใคร อันนี้ก็ตามสบายเลยครับ)

ซึ่งนี่แหละ คือแนวทางของการวางแผนทางการเงินที่ผมใช้เป็นแก่นของการวางแผนของผมเลยครับ

“คุณค่าของสังคมและครอบครัว” คนเราคงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดีไปหมดซะทุกอย่าง แม้กับคนใกล้ตัว ก็มีดีบ้าง มีแย่บ้าง ถึงเราจะเคยทะเลาะกันบ้าง โกรธกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อคนมาอยู่รวมกัน แต่ก็เพราะพวกเขาไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เราเคยมีความสุขร่วมกันมา เป็นห่วงเป็นใยเรา อยู่เคียงข้างเราเวลาที่เราไม่มีใคร

พยายาม “จับถูก” มากกว่า “จับผิด” นึกถึงสิ่งดีๆที่เคยมีให้กันมากกว่าจะมองเรื่องแย่ๆ แล้วจะเห็นคุณค่าของคนที่อยู่ข้างเราครับ

“คุณค่าของสุขภาพ” ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ในที่นี้ อาจรวมถึงรูปร่าง หน้าตา ของตัวเองด้วย เราอาจจะไม่สวยหล่อ หุ่นไม่ดีเหมือนคนอื่น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าเปลือกนอก คือตัวตนภายในของเราเอง เราเป็นคนดี เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ มีความรับผิดชอบ เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีจิตใจที่ดีงาม มันคือสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณค่าในตัวเราต่อคนอื่นๆในสังคม

สุขภาพที่ปกติของร่างกายเรา ที่ยังไม่เจ็บ ไม่ป่วย มีอวัยวะครบ 32 คือพรอันประเสริฐแล้วครับที่เรายังปกติได้อยู่ ยังสามารถเดินเหินได้ปกติ ยังมองเห็น หยิบจับอะไรได้สะดวกสบาย ดังนั้น ใช้ร่างกายที่ปกติของเราให้ดี อย่าหักโหม เร่งทำลายสุขภาพของเราจากการทำงานหนักเกินไป หรือการเสพของที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ หรือแม้แต่ใช้ชีวิตด้วยความประมาท โลดโผน จนมีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ

อย่าให้เมื่อถึงวันใดที่มันไม่ปกติอีกต่อไป แล้วจะต้องมาเห็นคุณค่าของความปกติสุขของสุขภาพร่างกายของเราเลยครับ

ถ้าทุกคนทำได้ เห็นคุณค่าในทุกๆด้านของชีวิตตัวเอง แม้หลายๆสิ่งหลายอย่างในชีวิตอาจจะยังไม่ดีพร้อม ยังอยู่ในระหว่างพัฒนาหลายๆส่วนของชีวิต ยังอยู่บนเส้นทางของความฝัน กำลังเดินทางสู่เป้าหมายที่ยังอีกยาวไกล แต่ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีความสุขตั้งแต่วันนี้ ตอนนี้ กันได้ ถ้าเราปรับมุมมองความคิดได้ดีพอ โดยที่ไม่ต้องไปรอความสุขเมื่อถึงเป้าหมายเลย

และนี่แหละ คือสิ่งที่ผมคิดว่า เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ยิ่งกว่าเรื่องเงินๆทองๆอย่างเดียวมากนัก เราต้องรู้สึก “รัก” ชีวิตของเราเองในทุกวันนี้ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook