จะจัดการอย่างไรเมื่อ หนี้เยอะกว่ารายรับ ?
หนี้สิน นับเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างพยายามหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะทำให้ขาดอิสรภาพทางการเงินแล้ว ผู้ที่ตกเป็นหนี้ยังจำต้องรู้สึกหมดกำลังใจ เมื่อรายได้ที่หามาอย่างยากลำบากล้วนตกเป็นค่าผ่อนชำระ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อื่นใดกลับมาสนองความต้องการแก่ชีวิตเลย แต่แม้จะหลีกเลี่ยงและระมัดระวังอย่างไรก็ตาม
หลายครั้งภาระหนี้สินก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเกิดจากการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลสูง การเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรือแม้แต่เหตุสุดวิสัยอื่นใดก็ตาม สำหรับวันนี้ สาระอันน่าสนใจจึงขอนำเสนอภายใต้ประเด็นที่ว่าเมื่อมีหนี้สินแล้วจะมีวิธีในการบริหารจัดการอย่างไร ถ้าหากท่านใดสนใจก็ขอเชิญไปติดตามรับชมกันเลยครับ
วางแผนการชำระหนี้สิน
สำหรับผู้ที่มีหนี้สินทุกท่าน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ การวางแผนการชำระ ทั้งนี้อาจเริ่มจากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตัวท่านเองโดยรอบด้าน เช่น ท่านมีหนี้สินเท่าไร มีรายละเอียด ขั้นตอน ตลอดจนระยะเวลาในการผ่อนชำระอย่างไรบ้าง มีรายรับกี่ช่องทาง คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับภาระหนี้สิน และสิ่งที่จะหลงลืมไม่ได้เป็นอันขาดก็คือ ในแต่ละเดือนท่านมีรายจ่ายที่จำเป็นเท่าไร เพื่อที่จะนำมาหัดลบกับรายรับเสียก่อน จึงจะนำไปคำนวณได้ว่าท่านมีกำลังในการชำระหนี้สินสูงสุดเดือนละประมาณเท่าไร
ขั้นตอนในเบื้องต้นนี้เป็นเพียงการสำรวจสถานะทางการเงิน ส่วนถัดมาก็คือการวางแผนว่าจะชำระหนี้สินอย่างไร เช่น หากท่านใดที่มีหนี้สินหลายช่องทาง ก็ควรพิจารณาว่าควรเริ่มชำระจากช่องทางใดก่อนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดหรือพิจารณาว่าสามารถควบรวมหนี้สินจากหลายแหล่งให้มารวมเป็นช่องทางเดียวได้หรือไม่ เพื่อที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการคิดคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการโอนถ่ายหนี้สินมารวมในช่องทางที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด ก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงไปได้ เพียงเท่านี้ก็อาจได้แนวทางในเบื้องต้นแล้วว่าควรจะบริหารจัดการหนี้สินอย่างไร จากนั้นจึงเตรียมพร้อมสู่ขั้นตอนถัดไป ซึ่งก็คือการเจรจาต่อรองเพื่อบริหารจัดการหนี้สินให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
เจรจาต่อรองในการชำระหนี้สิน
หลังจากวางแผนการชำระหนี้สินไว้เพียงคร่าว ๆ แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็จะเป็นการลงมือเจรจา โดยจะต้องพยายามเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้แต่ละรายเพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่วางเอาไว้ เช่น เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้รายหนึ่งเพื่อขอยกยอดหนี้จากแหล่งอื่นมาทบเพิ่ม และขอยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระออกไป ในส่วนนี้ท่านสามารถทำได้โดยเฉพาะหากเจ้าหนี้รายนั้นเป็นสถาบันการเงินซึ่งท่านมีเครดิตหรือประวัติในการผ่อนชำระที่ดีอยู่แล้ว และมีอัตราหนี้สินยังไม่เต็มวงเงิน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันก็ได้มีสถาบันทางการเงินหลายแห่งที่เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถขอกู้เงินเพื่อชำระหนี้สินจากแหล่งอื่นซึ่งมีอยู่แต่เดิมได้ หากท่านคำนวณแล้วพบว่ามีความคุ้มค่า เช่น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเจ้าหนี้แหล่งเดิม มีเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่นกว่า หรือมีสวัสดิการบางอย่างที่น่าสนใจ ก็ควรที่จะเร่งจัดการเสียแต่โดยเร็ว เพื่อที่จะไม่ต้องสูญเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การโอนถ่ายหนี้สินเข้ามาอยู่ในระบบก็ยังช่วยให้ท่านสามารถบริหารจัดการได้โดยง่าย ทั้งยังมีหลักประกันที่น่าเชื่อถืออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนในการเจรจาต่อรองหนี้สินแล้ว ก็ควรย้อนกลับไปทบทวนแผนอีกครั้ง โดยสำรวจว่าสิ่งใดบ้างที่สามารถเจรจาต่อรองได้สำเร็จ และสิ่งใดบ้างที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ตามแผน โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนอีกครั้งเพื่อความเหมาะสม ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนของการลงมือชำระหนี้สินในลำดับถัดไป
เริ่มชำระหนี้สินที่ได้ประโยชน์สูงสุด
การเริ่มลงมือชำระหนี้สิน มีหลักการในเบื้องต้นก็คือ ควรเริ่มชำระจากแหล่งที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน ในส่วนนี้ต้องเรียนให้เข้าใจตรงกันว่าไม่ได้เป็นการพิจารณาจากตัวเลขร้อยละของอัตราดอกเบี้ย แต่ข้อให้ลองคำนวณเป็นยอดวงเงินที่ต้องชำระจริง ทั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่างแหล่งเงินกู้บางแห่งแม้มีดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในอัตราที่ต่ำ แต่หากท่านมีวงเงินกู้เป็นจำนวนมากก็อาจส่งผลให้ยอดดอกเบี้ยที่คำนวณเป็นเงินจริงนั้นสูงกว่าแหล่งอื่นได้ จากนั้นเมื่อทราบแล้วว่าแหล่งใดมียอดดอกเบี้ยที่ต้องชำระจริงสูงสุด จึงเริ่มผ่อนชำระหนี้สินจากแหล่งดังกล่าวก่อน เพื่อไม่ปล่อยให้ดอกเบี้ยลุกลามและเป็นภาระที่จะต้องสูญสิ้นเงินทองโดยเปล่าประโยชน์
อย่างไรก็ตาม การชำระหนี้สินนั้นบางกรณีอาจไม่สามารถเลือกชำระได้โดยอิสระ เพราะหนี้สินในแต่ละแหล่งที่กู้มาต่างก็มีเงื่อนไขในการผ่อนชำระทั้งสิ้น บางแหล่งกำหนดให้มีการผ่อนชำระอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ขณะที่บางแหล่งอาจมีความยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของผู้กู้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย เพื่อรักษาไว้ ซึ่งเครดิตความน่าเชื่อถือและป้องกันไม่ให้ตัวท่านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับขั้นตอนในการปลดตัวเองออกจากภาวะหนี้สินกันไปแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ทุกท่านที่กำลังตกเป็นหนี้สินได้มีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง และสุดท้ายนี้ก็ต้องขออวยพรให้ทุกท่านพ้นจากภาระหนี้สินแต่โดยเร็ว และมีความสุข ร่ำรวยเงินทองกันถ้วนหน้าครับ
Advertorial
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub