7 คำสอนเรื่องการทำงานของพ่อหลวง

7 คำสอนเรื่องการทำงานของพ่อหลวง

7 คำสอนเรื่องการทำงานของพ่อหลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ มาสิ อยากจะนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พ่อหลวงของประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับการทำงานบางส่วนมาแบ่งปัน เพื่อเป็นประโยชน์และให้แง่คิดแก่ชีวิตการทำงานของเราทุกคนค่ะ


“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 12 กรกฎาคม 2522



“การทำการงานสร้างเกียรติยศชื่อเสียงและความเจริญก้าวหน้า นอกจากจะต้องใช้วิชาความรู้ที่ดีแล้ว แต่ละคนยังต้องมีจิตใจที่มั่นคงในความสุจริตและมุ่งมั่นต่อความสำเร็จเป็นรากฐานรองรับ กับต้องอาศัยกุศโลบาย หรือวิธีการอันแยบคาย ในการประพฤติปฏิบัติเข้าประกอบอีกหลายประการ”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันที่ 1 เมษายน 2526


“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2530

“เกียรติและความสำเร็จเกิดจากผลการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตัวของแต่ละคน ที่สามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบให้ได้ผลสมบูรณ์ตรงตามวัตถุประสงค์ และปฏิบัติตัวให้สุจริต เที่ยงตรง พอควรพอดีแก่ตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน ในปี 2531



“งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ แต่เมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงาน โดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2536



“การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงามที่คนในอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้ เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาของตนอย่างลึกซึ้ง จัดเจนและศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติตนปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 4 กรกฎาคม 2540

“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 กรกฎาคม 2541


ถ้าสังเกตดูเราจะเห็นได้ว่า คำสอนของในหลวงของเรา มีพื้นฐานมากจากความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ และคำสอนเหล่านี้เราสามารถนำไปใช้ได้ไม่จำกัดกาลเวลา หากเราทำงานอย่างมุ่งมั่น ซื่อสัตย์สุจริต อันจะส่งผลดีต่อตัวเราเองและผู้อื่นด้วยค่ะ


หากใครกำลังท้อแท้กับการทำงาน หรือกำลังรู้สึกหลงทางกับสิ่งที่ทำอยู่ ลองเอาคำสอนของพ่อหลวงไปพิจารณาปรับใช้ในชีวิตประจำวันดูนะคะ ขอให้มีความสุขกับการทำงานกันทุกคนค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook