Brexit จะกระทบมนุษย์เงินเดือนอย่างเรามั้ย...?
ภาพจาก www.thaipublica.org
เป็นกระแสข่าวที่กำลังเป็นที่ติดตาม จับตากันทั่วโลกสำหรับกรณี Brexit และในบ้านเราเองในระยะสองสัปดาห์เป็นต้นมามีการพูดถึงกันมาก ไม่ว่าจะสื่อหลัก สื่อรอง มีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน นักธุรกิจออกมาให้ความเห็นกรณี Brexit กันมากมาย มีการประเมินสถานการณ์ และคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรบ้างค่อนข้างหลากหลาย
วันนี้เรามารู้จัก Brexit กันหน่อยดีกว่า ว่าทำไม่ถึงเป็นที่สนใจ และ เหตุการณ์นี้จะกระทบมนุษย์เงินเดือนกินข้าแกงอย่างเราหรือไม่อย่างไร ..?
Brexit คืออะไร
ก่อนอื่นไปรู้จักที่ไปที่มากันก่อนว่า Brexit คืออะไร Brexit เป็นการผสมคำกันระหว่าง British + Exit หมายถึง สหราชอาณาจักร ซึ่งมีอังกฤษ เป็นพี่ใหญ่ และประเทศในกลุ่มคือ สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ จะขอถอนตัวออกจาก สมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู นั้นเอง
ทำไมอังกฤษอยากออกจากอียู
แล้วสาเหตุที่ อังกฤษ หัวเรือใหญ่ของสหราชอาณาจักรอยากออกจากสมาชิก อียูคืออะไร คงต้องย้อนความเข้าใจสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ของโลกนิดหน่อย
การกำเนิดของสหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศสมาชิกในยุโรปภายใต้กรอบเศรษฐกิจการค้าเสรี เป็นพัฒนาการของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเสรี ที่ต้องการรวมกลุ่มการค้าให้มีความเข้มแข็งมีฐานที่กว้างขวาง และ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มประชาคม
โดยเริ่มต้นจากการเปิดเสรีทางการค้า ทยอยลดกำแพงภาษีการค้าระหว่างกันจนไม่มีภาษีซึ่งเป็นกำแพงกีดกันสินค้าของประเทศอื่น และ เปิดเสรีการลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างกัน การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกันอย่างเสรี และ มีการใช้เงินสกุลเดียวกัน
ทั้งนี้รูปแบบของ สหภาพยุโรป นี้เอง ที่เป็นต้นแบบให้กับกลุ่มการค้าเสรีอื่นๆ รวมทั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่เราและประเทศในอาเซียน 10 ประเทศพยายามเดินหน้าตามทิศทางเดียวกัน
สำหรับสาเหตุที่ อังกฤษ อยู่ๆก็อยากออกจาก อียูหรือสมาชิกสหภาพยุโรปขึ้นมานั้น เกิดจาก ปัญหาของเศรษฐกิจในกลุ่ม อียู เนื่องจาก สมาชิกเองก็มีความแตกต่างกันไปมีทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่และร่ำรวย อย่าง เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศษ และประเทศสมาชิกที่ยังสร้างเนื้อสร้างตัว โดยเฉพาะประเทศยุโรปตะวันออก ที่เพิ่งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเดิมที่เป็นแบบสังคมนิยมมานานมาสู่ เศรษฐกิจเสรี
และ เมื่อประเทศสมาชิก เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นโดยเฉพาะ กรีซ ที่เผชิญปัญหาจนเกือบล้มละลาย และเกือบจะถูกบีบให้ออกจาก สมาชิกอียู เมื่อไม่นานมานี้ และยังมีสมาชิกอีกหลายประเทศทีมีปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจนี้ทำให้ประเทศร่ำรวย จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู เพื่อพยุงไม่ให้ปัญหาลุกลาม และอาจส่งผลกระทบต่อ การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปได้
อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องช่วยเหลือทางการเงิน ต้องสูญเสียงบประมาณไปจำนวนมาก ทำให้ คนอังกฤษรู้สึกไม่พอใจ ว่าทำไม่รายได้ของพวกเขาต้องเอาไปช่วยเหลือคนอื่น และซ้ำร้ายการไหลข้าวของแรงงานจากสมาชิกในกลุ่มอียู ได้หลั่งไหลเข้าไปในอังกฤษจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการแย่งงานคนอังกฤษจำนวนมาก และ การเข้ามาทำงานของคนนอกประเทศโดยเฉพาะคนจาก ยุโรปตะวันออก นั้น ยังได้รับสวัสดิการ การดูแล เหมือนกับแรงงานคนอังกฤษ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลอังกฤษทั้งสิ้น
กระแสความไม่พอใจเหล่านั้น บวกกับปัญหาอื่นทั้งเรื่องอำนาจการลงทุนนอกกลุ่ม ฯ อำนาจในการตัดสินใจบางอย่างที่ต้องขอความเห็นชอบจาก อียู ทำให้ประชาชนคนอังกฤษอยากออกจากการเป็นสมาชิก อียู เพราะเห็นว่าประโยชน์ที่เขาได้ไม่คุ้มเสีย และในการหาเสียงของนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอนก่อนที่จะนั่งนายกฯสมัยที่ 2 ได้เคยสัญญาว่าจะให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงนำมาสู่ การเปิดให้ลงประชามติว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากสมาชิกอียู หรือ Braxit หรือไม่ ในวันที่ 23 มิ.ย. 59 นี้
ผลกระทบอะไรบ้างหากอังกฤษออกจากอียู
ประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตาผลประชามติ Brexit ครั้งนี้ ก็คือ หาก อังกฤษลงประชามติ ออกจากอียูจะส่งผลกระทบอย่างไร ทั้ง เศรษฐกิจอียู และ เศรษฐกิจโลก
สรุปจากการประเมินของหลายสำนักมีหลายแนว แต่มีบางสำนักมองสถานการณ์ค่อนข้างร้ายแรงทั้ง ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของอียู นั้น แน่นอนว่า หากอังกฤษออก หมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอียู จะล่าช้าออกไปอีกนาน และอาจจะเป็นการสั่นคลอนสถานะของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ ของกลุ่มการค้าเสรีที่ยุโรปเป็นต้นแบบล่มสลายลงไป และร้ายแรงถึงขึ้นต้องมาเซตระบบกันใหม่เลยทีเดียว
และในส่วนของอังกฤษเอง เศรษฐกิจจะเกิดการหดตัวอย่างแรง เนื่องจาก จะมีการเคลื่อนย้ายทุนออกจากอังกฤษจำนวนมาก จะส่งผลให้เงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่าลงอย่างแรง
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้อาจส่งผลให้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกอีก
ผลกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด
ผลกระทบต่อไทย หาก อังกฤษ ออกจากอียู นักวิชาการหลายสำนักมองตรงกันว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นและกระทบต่อไทยนั้น คือ ค่าเงินจะเกิดความผันผวน ด้วยเหตุที่ ค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงมาก เงินทุนจะไหลเข้าตลาดสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ทำค่าเงินเอเชีย–เงินบาทผันผวนไปด้วย ต้องเตรียมรับมือให้ดี
ส่วนผลกระทบในด้านการค้า มีการประเมินว่า กระทบต่อไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากตัว อังกฤษเป็นตลาดส่งออกของไทยในสัดส่วนไม่เกิน 2 % และตลาด อียูเองกก็มีสัดส่วนไม่ถึง 10 % ดังนั้นจะมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก
โดยสรุปผลกระทบจากกรณี Brexit หรือ อังกฤษออกจากสมาชิกอียู ผลกระทบต่อไทยเป็นผลกระทบทางอ้อม เป็นผลกระทบระยะสั้น จากค่าเงินที่ผันผวน ซึ่งคนที่ต้องรับมือ คือ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องระวังและจับตาทิศทางเงินทุนไหลเข้าออกให้ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ต้องระวังและจับตาคือ หาก อังกฤษออกจากอียู จริงจะส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อสถานะของอียูอย่างไรหรือไม่ ? และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของ อียูหรือไม่อย่างไร ในระยะยาว เพราะนั้นหมายถึงผลกระทบจะกว้างขวางมากกว่า
ส่วนระยะสั้น มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ใช่นักลงทุนในตลาดหุ้น ก็คงสบายใจไประยะหนึ่ง ต่อก็ต้องติดตามดูผลระยะยาวด้วย
สำหรับความเป็นไปได้ของประชามตินั้น จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ความเห็นของคนอังกฤษระหว่างออก กับ อยู่ ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก คือ อยู่ต่อ 45 % ส่วนออกจากอียู ประมาณ 44 % โดยยังมีคนที่ยังไม่มีความเห็นหรือยังไม่ได้ตัดสินใจอีกกว่า 10 %ทีเดียว ก็ต้องดูกันว่า ผลการลงประชามติจริงจะเป็นเช่นไร เช้าวันพฤหัสที่ 24 มิ.ย.คงจะรู้ผลกันครับ ..
แหล่งข้อมูล
-https://www.finnomena.com/mr-messenger/market-insights/2016/02/24/20/get-to-know-brexit/
-http://www.voathai.com/a/britain-eu-impact-nm/3380311.html