FBT ต้นกำเนิดลูกหนังไทย เรียนรู้ ต่อยอด และพัฒนา
เรื่อง พิชชานันท์ สุโกมล
ภาพ กฤษฎา ศิลปไชย
การเกิดขึ้นของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ เรารับรู้ถึงความสำเร็จและความยิ่งใหญ่จากผลลัพธ์ในปัจจุบันของธุรกิจนั้นๆ หากแต่มองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นแล้ว กว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จเช่นวันนี้ล้วนผ่านอุปสรรคขวากหนามมาไม่น้อย บางธุรกิจเริ่มต้นด้วยทุนไม่กี่บาทแต่สามารถต่อยอดและพัฒนาสินค้าจนธุรกิจเติบโตมีรายได้เป็นพันๆ ล้านบาท อย่างเช่น FBT แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องกีฬาของ กมล โชคไพบูลย์กิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท โรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด บุคคลที่ถือเป็นผู้สร้างลูกฟุตบอลสัญชาติไทยลูกแรกและเจ้าแรกในเอเชีย ที่ต้องยอมรับว่า เขาคือผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดและได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตเครื่องกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วันนี้ กมล โชคไพบูลย์กิจ อายุ 84 ปี ยังแข็งแรงและมองการณ์ไกลอยู่เสมอ มีลูกๆ เข้ามาดูแลกิจการและสานต่อในแต่ละส่วน หนึ่งในนั้นคือ มนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ บุตรชายคนรองสุดท้อง ที่เข้ามาดูแลเรื่องการตลาดและภาพรวมการเติบโตของบริษัทในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ
สู้ด้วยตัวเปล่า แต่ใจเกินร้อย
มนต์ชัยเล่าให้ฟังว่า การเริ่มต้นของ FBT มาจากคุณพ่อของเขาซึ่งเป็นคนเชื้อชาติจีนขึ้นเรือมาจากซัวเถาตอนอายุประมาณ 16 ปี มาอยู่กับญาติแถวลาดกระบัง และเริ่มออกไปหางานทำในกรุงเทพฯ ย่านตลาดน้อย สะพานเหลือง โดยรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ อยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งมาลงตัวด้วยการเป็นช่างซ่อมรองเท้า และเป็นจุดเริ่มต้นของ FBT
“ปี 2493 หลังจากคุณพ่อมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็อาศัยอยู่ที่วัด อาศัยซ่อมรองเท้าข้างถนนเพื่อเลี้ยงชีพ จนกระทั่งเริ่มมีชาวต่างชาติเอาลูกฟุตบอลมาให้คุณพ่อซ่อม เนื่องจากเขาเตะจนยางแตก และเห็นว่าคุณพ่อน่าจะซ่อมได้ คุณพ่อก็ลองซ่อมดู พอซ่อมได้ เขาก็กลับมาให้ซ่อมเป็นประจำ ท่านก็ลองเอามาศึกษาดูว่า ทำอย่างไรถึงจะทำเป็นลูกฟุตบอลได้ เพราะถ้าทำได้ ท่านก็อาจจะทำขายได้ ซึ่งสมัยนั้นลูกฟุตบอลมีราคาแพงมาก ร้านกีฬาในกรุงเทพฯ ก็มีแค่ 2-3 ร้าน และต้องนำเข้าลูกฟุตบอลจากทางยุโรป ท่านก็ศึกษาอยู่พักหนึ่ง เลยตัดสินใจไปยืมเงินเพื่อนมา 1,000 บาท ไปซื้อหนังและอุปกรณ์การเย็บมาลองเย็บดู ทำได้ประมาณ 3-4 ลูก เสร็จแล้วก็ไปเดินขายตามร้านขายอุปกรณ์กีฬา เขาก็ซื้อเพราะคุณพ่อขายต่ำกว่าของเมืองนอกเยอะ ซึ่งหลังจากนั้นคุณพ่อก็เริ่มทำลูกฟุตบอลขายอย่างจริงจัง”
ความตั้งใจจริงบวกกับความมุมานะในการทำมาหากิน ทำให้กมลในขณะนั้นทุ่มเทแรงกายเป็นอย่างมาก กลางวันซ่อมรองเท้า กลางคืนเย็บลูกฟุตบอล และด้วยความที่เย็บออกมาแล้วขายได้ เขาก็เพิ่มมาเย็บลูกฟุตบอลในตอนกลางวันด้วย เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั่งเลิกซ่อมรองเท้าและหันมาเย็บลูกฟุตบอลขายอย่างเดียว นานเข้าก็เก็บเงินได้เป็นก้อน จึงตัดสินใจเปิดโรงงานเล็กๆ ผลิตลูกฟุตบอลเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง
ประกอบกับกมลได้คู่ชีวิตที่ช่วยส่งเสริมในการงานซึ่งกันและกัน กมลถนัดเย็บฟุตบอล คู่ชีวิตถนัดทำเสื้อผ้า ทั้งสองจึงร่วมฝ่าฟันธุรกิจแรกด้วยกัน ทำทั้งลูกฟุตบอล ทำทั้งเสื้อผ้ากีฬา ซึ่งผสานกันได้อย่างลงตัว ต่อมามีชาวเยอรมันสนใจผลิตภัณฑ์ลูกฟุตบอล และได้เสนอให้กมลผลิตลูกฟุตบอลด้วยวัตถุดิบที่จัดหามาให้จากต่างประเทศ นับเป็นจุดสำคัญที่กมลได้เรียนรู้เทคนิคการทำลูกฟุตบอลมากขึ้น และได้พัฒนาการผลิตลูกฟุตบอลเรื่อยมา ส่งผลให้กิจการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้กมลจดทะเบียนการค้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดฟุตบอลไทยขึ้นมา (ปี 2495) และร่วมกันพัฒนาขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น รองเท้ากีฬา ไม้แบดมินตัน ลูกวอลเลย์บอล ลูกบาสเกตบอล เป็นต้น
การตลาดแบบบ้านๆ สู่ผู้สนับสนุนหลัก
“สมัยคุณพ่อเย็บลูกฟุตบอลใหม่ๆ ฟุตบอลถือเป็นกีฬาชั้นสูง คนที่เล่นกีฬาต้องค่อนข้างมีฐานะ คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก แต่หลังจากนั้นไม่นานกีฬาก็เริ่มได้รับความสนใจจากคนทั่วไป ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทั่วโลกเริ่มมีมากขึ้น นอกจากโรงงานที่ลาดกระบังที่ผลิตเพื่อขายส่งให้กับร้านค้าทั่วไปแล้ว คุณพ่อยังเปิดร้านจำหน่ายปลีกที่สามย่านเป็นที่แรก ต่อมาก็มีที่กล้วยน้ำไท ซึ่งคุณพ่อบอกว่า การเปิดร้านขายปลีกนี้จะช่วยเพิ่มในส่วนของคนที่ต้องการซื้อ ทำให้คนรู้ว่าจะต้องกลับมาซื้อที่ไหน”
แม้จะเป็นคนรุ่นก่อนที่ยังไม่รู้จักการสร้างแบรนด์ แต่กมลก็ใช้หลักคิดวิเคราะห์ตามความน่าจะเป็นในการทำตลาดและเพิ่มจำนวนลูกค้า ซึ่งสมัยก่อนนั้นกมลมีลูกน้องเป็นเซลส์คอยรับสินค้าไปขายในต่างจังหวัด โดยไปตามร้านขายเครื่องเขียน ร้านขายของชำ ทำแบบนี้จนติดตลาด ส่วนการส่งเสริมการขายอื่นๆ นั้น นับเป็นช่วงจังหวะและโอกาสที่กมลได้มาในช่วงที่ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง จึงทำให้วงการกีฬาของไทยตื่นตัวขึ้น กิจการของโรงงานก็ดีขึ้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการที่ FBT ได้ให้การสนับสนุนชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ FBT สนับสนุนงานระดับนานาชาติ ทำให้ FBT เป็นที่รู้จักและสร้างการรับรู้ให้กับคนจำนวนมาก
“หลังจากที่เราได้ให้การสนับสนุนกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น เราเริ่มส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ กิจการเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นไปในทิศทางที่ดี เราเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยติดต่อกันนาน 30 ปี โดยมองว่า สิ่งที่เราทำน่าจะเป็นการช่วยให้ทางสมาคมได้ใช้งบของรัฐบาลเพื่อไปใช้จ่ายในส่วนอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักกีฬา ส่วนทางด้านอุปกรณ์และเสื้อผ้าเราจะเป็นคนดูแลจัดการให้ สมาคมจะได้ลดภาระเรื่องนี้ไป ซึ่งปัจจุบันแม้ทางสมาคมจะไม่ได้ให้เราช่วยเหลือ แต่เราก็ยังช่วยในส่วนของทีมลีกภูมิภาคอยู่ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ FBT ที่ต้องการให้คนหันมาเล่นกีฬาเยอะขึ้น หรือใครที่ต้องการให้เราช่วยสนับสนุน เราก็ดูที่ความตั้งใจของแต่ละเคสไป”
การเป็นผู้สนับสนุนหลักของ FBT นั้น เป็นความตั้งใจและเป้าหมายหลักขององค์กรที่ใช้สื่อสารและสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์เป็นหลัก จะสังเกตว่า FBT ไม่ใช้วิธีการโฆษณาสินค้าโดยตรงจะมีก็เพียงแต่สื่อเฉพาะของกีฬาสื่อเดียวเท่านั้น โดยมนต์ชัยให้เหตุผลว่า การเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์และเสื้อผ้ากีฬากับผู้ที่ต้องการ นอกจากจะเป็นการเติมเต็มความฝันของเขาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาเล่นกีฬามากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการวางหมากไว้เช่นนี้ ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจของเขาเอง เพราะหากมีคนหันมาเล่นกีฬาเยอะขึ้น ความต้องการในอุตสาหกรรมกีฬาก็ย่อมมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน
อาณาจักรกีฬาครบวงจร
ปัจจุบัน FBT มีพร้อมในทุกๆ ด้าน และเป็นความพร้อมที่เติบโตมาเป็นขั้นเป็นตอน จากการทำงานแค่คนๆ เดียว ปัจจุบันมีอยู่ 2,500 คน จากธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนมาเป็น บริษัท โรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในการค้าส่งเครื่องกีฬาทั้งในและต่างประเทศ บวกกับการเสริมทัพในการบริหารของคนรุ่นลูก ก็ยิ่งทำให้ FBT เติบโตได้เร็วขึ้น
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ฝั่งตรงข้ามของสนามกีฬาหัวหมาก คือปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ที่ปิดขายกิจการ ทำให้กมลมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ โดยการสร้างตึก 11 ชั้นให้กลายเป็น FBT สปอร์ตคอมเพล็กซ์ อาณาจักรห้างขายปลีกที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รักกีฬา เพราะที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ทางการกีฬาทุกยี่ห้อโดยผู้ผลิตจากทั่วโลก รวมถึงฟิตเนสที่มีให้บริการกับคนทั่วไป ซึ่งเปิดดำเนินการมาครบ 20 ปีในปีนี้พอดี
“ทุกวันนี้ ส่วนของ FBT สปอร์ตคอมเพล็กซ์ เป็นรีเทลชัดเจน ที่เราทำขึ้นมาเอง เป็นแรงบันดาลใจที่คุณพ่อเคยไปเที่ยวที่อังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองกีฬา เป็นประเทศที่เล่นกีฬาเยอะที่สุด แล้วก็เป็นผู้ก่อตั้งกีฬาหลายๆ ประเภท ซึ่งเขาก็มีห้างในลักษณะนี้เช่นกัน คือขายแต่อุปกรณ์กีฬา เมื่อผมเข้ามาดูแลเรื่องการตลาดทั้งหมด ก็อยากจะสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อให้ชัดเจน คือผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์กีฬาที่มีคุณภาพให้คนไทยสามารถเลือกซื้อหาได้ในราคาไม่แพงมาก ซึ่งเราก็คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราโตมาทุกวันนี้”
รักษามาตรฐาน อยู่ได้ยั่งยืน
การรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตนับเป็นเรื่องที่ FBT ให้ความสำคัญมาตลอด รวมถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่ชื่อสินค้าเท่านั้น แต่ FBT ได้บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แท้จริงในเรื่องของการเป็นผู้นำครบวงจรในอุตสาหกรรมกีฬาที่มีทั้งการผลิตและการตลาดที่ดีควบคู่กันไป
“จุดสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจไม่ใช่แค่แบรนด์ เราต้องรู้ตัวเราเองให้ดี ทำในสิ่งที่เราถนัด ในโลกปัจจุบันถ้าเกิดเราไม่มีความสามารถพิเศษอะไรที่แยกจากคนอื่นๆ ได้ เราก็ไม่มีประโยชน์ที่จะจ้างคนมาทำงาน เพราะว่าช่องทางในตลาดมันมีคนที่ถูกกว่า ดีกว่าตลอด เพราะฉะนั้นเราคิดว่าหากจะประสบความสำเร็จจริงๆ เราต้องอยู่ใน Top 2 ต้องมีโนว์ฮาวที่บอกว่าสินค้าของเราแตกต่างอย่างไรในตลาด
ยกตัวอย่างสินค้าของเรา เช่น ลูกเปตอง เราเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียที่ได้รับรองมาตรฐานจากสหพันธ์เปตองนานาชาติ และเป็นบริษัทเดียวที่ได้คัดเลือกวัตถุดิบและกรรมวิธีเคลือบผิวไทเทเนียมมาเป็นเทคนิคในการผลิต ซึ่งทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั่วโลก โดยเราใช้ชื่อการค้าว่า ลาฟร๊อง เพื่อให้ดูเข้ากับชนิดกีฬาและให้ความรู้สึกในแบบฝรั่งเศส เป็นเหมือนกับชื่อทางการค้าของลูกฟุตบอลของเราที่มีหลากหลาย อย่างเช่น ไฟว์สตาร์ หรืออื่นๆ โดยคนทั่วไปจะทราบว่าผลิตจาก FBT ซึ่งชื่อแบรนด์ FBT ตรงๆ นั้นจะนำมาใช้ในส่วนของเสื้อผ้ากีฬา”
FBT มียอดขายปีที่แล้วอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท และกำลังจะขยายตัวรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยพยายามรักษาฐานการผลิตให้มั่นคง และให้ความสำคัญกับทรัพยากรคนที่เป็นแรงงานหลัก
“การเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากประเทศอินโดจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า เป็นอะไรที่โตขึ้นเร็วมาก อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เราทำตลาดมา 30 ปี มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แต่เราก็หวังว่าจะทำอะไรใน 2 ประเทศนี้ให้มากขึ้น อย่างมาเลเซียเมื่อก่อนเราใช้เอเย่นต์ตลอด คิดว่าเราพร้อมแล้วที่จะเข้าไปบริหารด้วยตัวเอง โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าประเทศไทยเรายังสามารถผลิตได้เองอีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยทำให้แรงงานเท่าเดิมแต่ผลิตได้มากขึ้น เรื่องของเทคโนโลยี ทีมเวิร์ก การเทรนคน ช่วยเรื่องการผลิตได้มาก”
ปัจจุบัน FBT สามารถผลิตลูกฟุตบอลได้ 15,000 ลูกต่อวัน ผลิตเสื้อผ้าได้มากกว่า 20,000 ชิ้นต่อวัน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ FBT มีมาตรฐานการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากล
บทความจากวารสาร K SME Inspired ของธนาคารกสิกรไทย เล่ม 33
www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ