มนุษย์ลูกจ้างต้องรู้! เมื่อถูกเลิกจ้าง มีสิทธิรับเงินชดเชยจากนายจ้างอย่างไร?
มาตรวจสอบสิทธิ ของมนุษย์ลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง มีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นทุนไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยรู้ยัง
ข่าวการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่แม้มีไม่บ่อย แต่ก็มีให้เห็นอยู่ จะด้วยเหตุผลเพื่อการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น หรือเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต จากผลประกอบการไม่ดี หรือแม้กระทั้ง การเลิกจ้างบางคน บางแผนกก็ตาม ผู้ที่ต้องประสบปัญหาก็คือ พนักงานหรือลูกจ้าง ที่ต้องเดินหน้าหาทางออก หางานใหม่เพื่อความมั่นคงของชีวิตต่อไป
ทั้งนี้ในกรณี บริษัทเลิกจ้าง ให้ออกจากงาน พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธิตามที่กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครองอยู่ คือ นายจ้างต้องจ่าย เงินชดเชย ให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นทุนรอนในการใช้ชีวิตใหม่ในวันข้างหน้า
วันนี้ เรานำ สิทธิตามกฎหมายแรงงาน เกี่ยวกับเงินชดเชยกรณีการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน มาฝากกัน มาดูกันว่ามีเงื่อนไขอะไร และ แต่ละคนจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายอย่างไรบ้างมาฝากกันครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หาก ลูกจ้าง ถูกให้ออกจากงานโดยมิได้กระทำความผิด อย่างเช่น
- ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ทำการประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
- ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ได้รับความผิดถึงขั้นจำคุก ยกเว้นกรณีไม่ร้ายแรง
และ ไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ และ ทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างด้วย
และหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยจะเป็นไปตามอายุการทำงานดังนี้คือ
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งบรรดาลูกจ้างควรศึกษาเป็นความรู้ไว้นะครับ สรุป หาก ลูกจ้างไม่ได้ลาออกเอง และ ไม่ได้กระทำความผิดตามเงื่อนไขข้างตน ทำงานมาครบ 120 วัน เมื่อถูกเลิกจ้าง จะได้รับค่าชดเชย ตามอายุงานดังที่ยกมาข้างตนครับ