จับตา! หนี้แบงก์อิตาลีส่อจุดชนวนวิกฤตยูโรโซน

จับตา! หนี้แบงก์อิตาลีส่อจุดชนวนวิกฤตยูโรโซน

จับตา! หนี้แบงก์อิตาลีส่อจุดชนวนวิกฤตยูโรโซน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธนาคารพาณิชย์ในอิตาลีหลายแห่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหนี้ และรายได้ที่ตกต่ำ ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกลุ่มยูโรโซน หลังราคาหุ้นของหลายแบงก์ร่วงลงอย่างหนัก และต่อเนื่อง


วันที่ 8 ก.ค. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคาร บองกา มอนเต เด ปาชี ดี ซีนา Banca Monte Dei Paschi Di Siena ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของอิตาลีนั้น กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหนี้อย่างรุนแรง จนทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกโรงเตือนให้เร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร็วที่สุดแล้ว และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งนี้จะต้องเพิ่มทุนอย่างเร่งด่วนด้วย

โดยราคาหุ้นของ เด ปาชี ได้ร่วงลงไปแล้วถึง 45% ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสั่งระงับการขายระยะสั้นไปในที่สุด โดยในวันนี้ถือเป็นเส้นตายที่ธนาคาร เด ปาชี จะต้องเสนอแผนเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียให้ได้ลงถึง 40% ภายในปี 2018 นี้

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ธนาคารเด ปาชี เท่านั้น ธนาคารอื่นๆ ต่างเจอกับปัญหาหนี้ และรายได้ที่ตกต่ำอันเป็นผลมาจากการใช้ดอกเบี้ยต่ำของกลุ่มยูโรโซนเช่นกัน ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของอิตาลีร่วงลงไปแล้วกว่า 30% นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

ด้าน นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์หนี้เสียในภาคธนาคารของอิตาลีนั้นรุนแรงอยู่แล้ว ประกอบกับปัญหาจากกรณี Brexit ที่เกิดขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มากขึ้นไปอีก ถ้าหากธนาคารกลางยุโรป ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารเหล่านี้มากขึ้น

นาย แจ็ค อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน แคบปิตัล อิโคโนมิกส์ ในกรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป จะยิ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ในอิตาลีอ่อนแอลงมากขึ้นในระยะสั้น โดยจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ทราบผลการลงประชามติ เบร็กซิตนั้น หุ้นของธนาคารหลายแห่งร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารบองกา โปโปแลร์ Banca Popolare ร่วงลง 28% แล้ว หุ้นของธนาคารยูนิเครดิต Unicredit ก็ร่วงลงถึง 34% และหุ้นธนาคาร อินเตซา ซานเปาโล Intesa Sanpaolo ก็ร่วงลง 30%

แม้ว่าทางด้านรัฐบาลอิตาลีจะกำลังพิจารณาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อแก้ปัญหานั้น แต่ทว่าเครื่องมือนี้ก็ทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปนั้นกำหนดให้การเพิ่มทุนนั้นมาจากผู้ถือหุ้น และผ่านการระดมทุนมากกว่าที่จะใช้เงินจากผู้เสียภาษี

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอิตาลีนั้นถือว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว นับตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรในปี 2002 โดยอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% เท่านั้น ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนราวครึ่งหนึ่ง อีกทั้งล่าสุดนั้น ยอดค้าปลีกก็ร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 แล้วด้วย ส่งสัญญาณถึงสภาพเศรษฐกิจที่อึมครึมมากที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook