ครม.อนุมัติตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 1 แสนล้าน

ครม.อนุมัติตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 1 แสนล้าน

ครม.อนุมัติตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 1 แสนล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายละเอียดโครงสร้างกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุนรวมฯ) ที่มีมูลค่ากองทุน 100,000 ล้านบาท โดยในระยะแรกให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ลงทุนรายเดียวตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 และเห็นชอบกลไกการรับประกันผลตอบแทนที่ให้มีกองทุนหมุนเวียนโดยให้ตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อรักษาระดับผลตอบแทนของกองทุน

รวมถึงสร้างจูงใจและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้เข้าสู่กองทุนฯ ประกอบด้วย โครงการของกรมทางหลวง  2 โครงการ และโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โดยปรับเปลี่ยนชื่อเป็น "กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย " จากเดิม คือ "กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย" หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ โดยกองทุนเป็นกองทุนปิด ไม่จำกัดอายุของกองทุนที่จัดตั้งภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับมูลค่าการระดมทุน 100,000 ล้านบาท และสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยวัตถุประสงค์เพื่อลงในในโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานเดิม และลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆที่เหมาะสมเพื่อเสริมสภาพคล่องและความมั่นคงของกองทุนฯ และสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน

ในส่วนของการลงทุนนั้น ระยะแรกกระทรวงการคลังจะลงทุนแต่เพียงรายเดียว วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยใช้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน ประเภท ข ของกองทุนรวมวายุภักษ์1 วงเงิน 1,000 ล้านบาท และใช้เงินสด หรือหลักทรัพย์ หรือนำหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ไปชำระราคาค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนณ วงเงิน 9,000 ล้านบาท ส่วนในระยะต่อไปนั้น เงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยผ่านการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

สำหรับผู้มีสิทธิถือหน่วยลงทุน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง และนักลงทุนภาครัฐ เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย โดยคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ไป ในส่วนของการันตีผลตอบแทนนั้น ได้กำหนดที่ 2-3%

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติจ้างบริษัท หลักทรัพย์ จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจัดการเพื่อจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างสัญญาจัดการกองทุนฯ ส่วนที่ปรึกษาทางการเงินนั้น จะใช้วิธีการคัดเลือกทั้งที่ปรึกษาทางการเงินไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างคณะที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของกองทุนด้วย

สำหรับเบื้องต้น กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ากองทุน คือ ทางหลวงหมายเลข 7 สายกรุงเทพ-บ้านฉาง และทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ของกรมทางหลวง และทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 20 โครงการ ในปี 2558-2560 นั้น เป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.79 ล้านล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook