ผ่อนบ้านหมดแล้วทำไงต่อ ?
ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งใน ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต (ปัจจัยพื้นฐานสี่ประการ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) เพราะบ้านเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง บ้านคือความรัก ความอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัว บ้านคือศูนย์รวมจิตใจ ใครที่ทำงานเหนื่อยๆ ก็อยากกลับบ้านเพราะบ้านเป็นที่พักผ่อนที่เราสบายกายสบายใจที่สุด แถมบ้านก็ยังมีคนที่เรารักรอเรากลับบ้านอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายชีวิตที่ยังไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องเร่ร่อนหาที่พักข้างทางไปวันๆ เพราะฉะนั้นแล้ว ใครที่มีบ้านเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือไม่ ก็ให้จงภูมิใจเถิดที่เรายังมีบ้านให้อาศัยเป็นหลักแหล่ง บทความนี้เราก็เลยจะมาพูดถึงเรื่องของบ้านกันค่ะ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้สร้างบ้านด้วยเงินสด กู้ธนาคารมาเพื่อผ่อนบ้าน และผ่อนได้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป เราจะมาลำดับขั้นตอนกันคร่าวๆเพื่อความเข้าใจกันก่อนค่ะ
1. รับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคาร หลังจากที่เราผ่อนกู้ครบตามกำหนดที่มีไว้ในสัญญาแล้ว ทางธนาคารที่เรายื่นกู้ด้วยนั้น จะส่งใบแจ้งให้ผู้ที่กู้ไปติดต่อขอรับโฉนด และจัดการเอกสารว่า ได้ดำเนินการ ผ่อนชำระหนี้ครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้รับโฉนดคืนมา
2. ติดต่อกรมที่ดินในภูมิลำเนาที่เราอาศัยอยู่ เพื่อดำเนินการแก้ไขชื่อให้เป็นชื่อของเรา (ต้องแจ้งชื่อให้เป็นหลักฐาน ว่าโฉนดนี้หลุดจำนองแล้ว และให้ชื่อของเราเป็นเจ้าของบ้าน) ตรงนี้จะเสียค่าธรรมเนียมในหลักร้อย กรณีนี้จะ ไม่ใช่การโอนนะคะ แต่เป็นการไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร เพราะตั้งแต่ที่เราทำสัญญากับทางธนาคารนั้น ก็มีการบันทึกในสารบัญหลังโฉนดอยู่แล้ว ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพียงแค่เราเอาโฉนดบ้านมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินเท่านั้น ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ยังเป็นคนเดิม
ดังนั้นเมื่อเราชำระหนี้ได้ครบจนหมดสิ้น หลักประกันก็คือโฉนดที่เรายื่นไว้ก็จะพ้นจากสัญญา ดังนั้น จึงไม่ใช่การโอนแต่อย่างใด ส่วนถ้าเราอยากจะยกหรือโอนบ้านและที่ดินนี้ให้เป็นของใคร ก็สามารถดำเนินการต่อจากนี้ได้ในภายหลังนั่นเองค่ะ
นอกจากเรื่องของการผ่อนบ้านหมดแล้ว ก็ยังมีคำถามมากมายเกิดขึ้น อย่างเช่น
1. ถ้ามีผู้กู้ร่วม หมายถึง กู้บ้านร่วมกันสองคน (อาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือสามีภรรยา) แล้วกรรมสิทธิ์จะตกแก่ผู้ใด ?
ตอบ ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่า ชื่อของเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นจะถูกบันทึกลงสารบัญด้านหลังโฉนดอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้ามีกรณีดังกล่าว เช่น คุณเอื้ออารี และคุณมนัส ได้ทำสัญญาผ่อนกู้บ้านร่วมกัน เมื่อครบสัญญาแล้วได้รับโฉนดคืน ก็ต้องมาดูว่า ในวันที่ทำสัญญาร่วมกันนั้น ใครเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ ณ ที่นี้ คุณมนัสผู้ที่เป็นสามีให้ใส่ชื่อของภรรยาก็คือคุณเอื้ออารีลงไป ดังนั้น คุณเอื้ออารี จึงได้รับกรรมสิทธิ์นี้และเป็นเจ้าของบ้านต่อไป แต่ถ้าหากคุณเอื้ออารีต้องการโอนหรือยกบ้านหลังนี้ให้ใคร (อาจจะเป็นลูก) ก็สามารถทำเรื่องพินัยกรรมหรือโอนได้เลยตามความสะดวกและเหมาะสมค่ะ
2. ถ้ากู้ร่วมกัน แต่ผู้กู้ร่วมอีกคน ไม่ผ่อนชำระช่วยเลย จะทำอย่างไร ?
ตอบ ถ้าในกรณีที่ผู้กู้ร่วมคนใดคนหนึ่งนั้น ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ขาดการชำระหนี้บ่อยครั้ง เรื่องนี้ผู้กู้ทั้งสองก็ต้องมาเจรจาตกลงกันก่อนว่า จะเปลี่ยนผู้กู้ร่วมคนใหม่หรือไม่ ? หรือจะให้มีผู้กู้แค่คนเดียว เฉพาะผู้กู้ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เพราะแน่นอนล่ะว่าถ้าผู้กู้อีกท่านไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเป็นปัญหาในการผ่อนชำระกับทางธนาคารต่อไป หนี้ยืดเยื้อ ดังนั้นอาจจะหาทางออกด้วยการหาผู้กู้ร่วมคนใหม่ที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถชำระหนี้ได้ หรือถ้าผู้กู้อีกท่าน มั่นใจว่า สามารถรับผิดชอบผ่อนชำระหนี้แต่เพียงผู้เดียวได้ ก็ควรติดต่อกับทางธนาคารเพื่อดำเนินการแก้ไขชื่อผู้กู้ร่วมในทันที
3. เสียค่าธรรมเนียมเพื่อดำเนินการคืนกรรมสิทธิ์แก่ผู้กู้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ?
ตอบ ค่าธรรมเนียมอย่างที่กล่าวไปแล้วค่ะว่า อยู่ในหลักร้อย ไม่เกินสองร้อยบาท สามารถไปแจ้งดำเนินการ ณ สำนักที่ดินตามภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยได้ตามวันเวลาราชการค่ะ
สำหรับใครที่ยังผ่อนบ้านไม่หมด แต่รีบร้อนอยากผ่อนให้หมดเร็วๆล่ะ จะทำอย่างไร ? เราก็พอจะมีวิธีอยู่บ้าง สำหรับใครที่ใจร้อนนะคะ เรามีเคล็ดลับส่งท้ายกันนิดหน่อย
อยากผ่อนบ้านให้หมดเร็วสามารถใช้วิธีการดังนี้
1. การจ่ายเพิ่มในทุกๆเดือน เช่น เราชำระหนี้บ้านเป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นประจำ เราอาจจะเพิ่มการชำระขึ้นอีก 2,000 บาท เป็น 17,000 บาท ไปทุกเดือนทุกเดือน ก็จะสามารถลดจำนวนหนี้แถมยังช่วยลดดอกเบี้ยไปในตัวด้วยล่ะ
2. การจ่ายสองเท่าในหนึ่งเดือน ในระยะเวลาหนึ่งปี ถ้าเราชำระหนี้บ้านเดือนละ 15,000 บาทเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าอยากให้หมดไว เราอาจจะเลือกชำระเป็นสองเท่าคือ 30,000 บาทในเดือนแรกของปีถัดไป หรือเดือนสุดท้ายของปีก็ได้ ก็เลือกตามความสะดวกของเราเลยค่ะ ที่แนะนำมาก็เพื่อต้องการให้จดจำง่ายนั่นเอง
เอาเป็นว่าสำหรับใครที่ผ่อนบ้านหมดครบตามจำนวนแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ แต่ถ้าใครที่ยังติดจำนองอยู่อีกหลายปี ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เราก็ผ่อนตามระยะเวลาตามสัญญาไปให้ครบ ผ่อนหมดเมื่อไหร่ก็ค่อยไปดำเนินเรื่องคืนกรรมสิทธ์ความเป็นเจ้าของก็คงไม่นานเกินรอ สำหรับเว็บไซต์ของเราก็ยังมีบทความดีดีเกี่ยวกับการกู้ซื้อบ้าน ผ่อนบ้านและอื่นๆอีกมากมาย สามารถติดตามกันได้ทาง เว็บไซต์ https://moneyhub.in.th/ ขอบคุณค่ะ.
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub