มีแนวโน้มค่าไฟฟ้าอาจตรึงต่อไปได้อีก 1 ปี

มีแนวโน้มค่าไฟฟ้าอาจตรึงต่อไปได้อีก 1 ปี

มีแนวโน้มค่าไฟฟ้าอาจตรึงต่อไปได้อีก 1 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ไปจนถึงสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2553 แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 19.27 สตางค์ต่อหน่วย และแนวโน้มหากต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงก็มีโอกาสที่จะตรึงเอฟที และทำให้หนี้สินที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกภาระต้นทุน 9,698 ล้านบาท หมดไปในเดือนสิงหาคม 2554

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบให้ เห็นชอบตรึงค่าเอฟทีรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2553 ในอัตรา 92.55 สตางค์ต่อหน่วย ตามที่ กฟผ. เสนอ อย่างไรก็ตาม จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีที่แท้จริง อยู่ที่ 111.82 สตางค์ต่อหน่วย หรือสูงกว่าอัตราที่ตรึงไว้ 19.27 สตางค์/หน่วย ในส่วนนี้ กฟผ.จะแบกรับภาระไปก่อน เป็นวงเงินรวม 9,698 ล้านบาท ส่วนเอฟทีงวดต่อไป จะปรับขึ้นหรือไม่นั้น ก็คงจะต้องมาพิจารณารายละเอียดร่วมกัน หากปรับขึ้นก็จะไม่ผลักภาระไปยังประชาชนทั้งหมด เพราะจะต้องดูผลกระทบของผู้บริโภคเป็นหลัก

ายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการ กกพ. กล่าวว่า จากการหารือกับ กฟผ.พบว่า หากต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว และค่าเอฟทีไม่เปลี่ยนแปลง ก็คาดว่า ภาระการเงินที่ กฟผ.แบกรับไว้ 9,698 ล้านบาท จะชำระได้หมด อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามสถานการณ์โดยรวมว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งการคาดการณ์นี้อยู่บนพื้นฐาน ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเท่าที่ติดตามการวิเคราะห์ของกลุ่มโอเปก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คาดว่า ราคาน้ำมันจะอยู่ในอัตรานี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติไม่ขยับขึ้นมากนัก

ทั้งนี้ การพิจารณาค่าเอฟทีได้คำนึงปัจจัยหลักต่าง ๆ ได้แก่ ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นโดยราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 236.42 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 238.93 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับแผนช่วงที่ผ่านมา และราคาน้ำมันเตา เพิ่มขึ้นจากช่วงราคา 71.6 - 72.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2553 เป็น 77.3 - 79.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น จาก 33.5 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 32.5 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนโดยรวมต่ำลง โดยล่าสุดการใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 7.97 และคาดว่าการใช้ไฟฟ้าในรอบต่อไปจะเพิ่มขึ้นถึง 6 พันล้านหน่วย หรือเพิ่มจาก 4.4 หมื่นล้านหน่วย เป็น 5 หมื่นล้านหน่วย จึงทำให้ลดภาระค้างรับค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. จากเดิมคาดว่าว่า กฟผ. มีภาระสะสมถึงเดือน สิงหาคม 2553 ประมาณ 9,698 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ามติ ครม. ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน - วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เวลา 12.00 น. ก่อนประกาศใช้เป็นค่าเอฟทีที่เรียกเก็บต่อไป โดยเดิมนั้นรัฐบาลมีมนโยบายให้ กฟผ. ตรึงค่าไฟฟ้า 1 ปี จาก สค.ปีที่แล้ว ถึง สค.ปีนี้

ส่วนปัญหาภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุก๊าซพม่าและอ่าวไทย หยุดส่ง ในเดือนสิงหาคม และตุลาคม 2552 วงเงินรวม 1,166 ล้านบาท นั้น กกพ.มีมติให้ ผู้ประกอบการรับผิดชอบทั้งหมด โดยไม่ส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้า และจากการหารือเบื้องต้นรับทราบว่า ปตท.จะเป็นผู้รับภาระโดยจะส่งผ่านภาระไปยังผู้ผลิตก๊าซฯ ต่อไป .

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook