จะทำประกันภัยรถยนต์ซ้อนได้หรือไม่ ?
แน่นอนว่าการซื้อรถนั้น ประกันภัยรถยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทุกคนต้องมี
ประกันภัยรถยนต์ คือ สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ขับขี่ ในกรณีที่รถยนต์เกิดปัญหาการเฉี่ยวชน ไม่ว่าจะกับรถยนต์คันอื่นบนท้องถนนหรือพวกต้นไม้ ทางเท้า ป้ายโฆษณา ฯลฯ การมีประกันรถยนต์จะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องจ่ายเงินมาก เพราะประกันจะทำหน้าที่เคลียร์ให้
การทำประกันภัยรถยนต์ ทุกคนคงจะรู้อยู่แล้วว่า มันแบ่งออกเป็น 3 เกรด ที่เรียกว่าประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2 และประกันชั้น 3 ตามลำดับ การเลือกทำประกันเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ
• ไฟแนนซ์บังคับให้ทำ
• ทำโดยสมัครใจ
ทีนี้หลายคนคงจะถามว่า ถ้าเกิดไฟแนนซ์บังคับให้ทำประกันแบบที่กำหนดแล้ว ตัวเราอยากจะทำประกันอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่แบบที่ไฟแนนซ์กำหนดเพิ่มขึ้นมาได้ไหม ขอตอบว่า ได้สิ การทำประกันเพิ่มจากที่มีอยู่แล้วจะเรียกว่าประกันภัยรถยนต์ซ้อน
มีเจ้าของรถยนต์หลายคนทำประกันภัยรถยนต์ซ้ำซ้อนกัน คือ มีอยู่แล้วแต่ทำเพิ่มขึ้นมาอีก อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจจะทำ แต่ถูกหลอกถูกโฆษณาชวนเชื่อหรือทำเพราะเกรงใจคนที่มาขายก็ได้ อันที่จริงแล้วการทำประกันภัยรถยนต์ซ้ำซ้อน ไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่อะไรให้กับตัวผู้ซื้อ มันก็เหมือนกับเวลาเราซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตหลาย ๆ อันนั่นแหละ เพียงแต่ผู้ที่ทำประกันซ้อนจะต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันมากกว่าเจ้าของรถที่ทำประกันแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ การทำประกันซ้อนยังมีข้อดีตรงที่ เราสามารถเรียกตัวแทนจากบริษัทประกันภัยทั้ง 2 เพื่อให้ร่วมกันดำเนินการจ่ายค่าเสียหาย เคลียร์ปัญหาก็ได้ แถมยังได้วงเงินประกันภัยที่มากกว่าคนทั่วไปเท่าตัวเลยด้วย
พออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะคิดว่า การทำประกันซ้อนถือเป็นการดี เพราะจะได้คุ้มครองความเสียหายของรถได้อย่างครอบคลุมแทบทุกกรณี เราแทบไม่ต้องเสียเงินเลย ถ้าพูดตามทฤษฎีแล้วก็ใช่ แต่ถ้าเกิดเราหันมามองตามความเป็นจริงละก็ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันซ้อน
เนื่องจากโดยปกติรถยนต์จะได้รับความคุ้มครองจาก พรบ. อยู่แล้วตามกฎหมาย เพียงแต่เงินจากความคุ้มครองนั้นน่ะ มันอาจจะน้อยเราก็เลยต้องทำประกันเพิ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ประกันภัยรถยนต์จะให้วงเงินอยู่ที่ 70-80% ของค่าซ่อมรถอยู่แล้ว เมื่อรวมกับเงิน พรบ. ก็จะพอดี อีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สามารถเรียกร้องได้แค่เท่าจำนวนค่าเสียหายจริงเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การซื้อประกันรถยนต์ซ้อนไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ในเชิงปฏิบัติเลย รังแต่จะทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาเปล่า ๆ อีกทั้งเวลาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา การที่จะเรียกตัวแทนประกันจากทั้ง 2 บริษัทมาเพื่อเคลียร์ปัญหานั้น เป็นไปได้ยากบางทีประกัน 2 บริษัทนี่แหละที่ทะเลาะกันเอง จนทำให้ปัญหาที่น่าจะเคลียร์ได้ง่าย ๆ บานปลายเพิ่มขึ้น
ซึ่งเจ้าของรถหลาย ๆ คน คงจะรู้ถึงรายละเอียดข้อนี้ดี จึงมักจะเลือกซื้อประกันจากบริษัทใดเพียงบริษัทเดียว หรือไม่ก็ซื้อตามที่ไฟแนนซ์แนะนำ เท่านั้นพอแล้ว ทีนี้ ปัญหาการทำประกันรถยนต์ซ้อน มักจะมาจากการถูกชักชวนจากตัวแทนขายประกัน ไม่ว่าจะเป็นจากทางโทรศัพท์หรือไม่ก็จากคนรู้จักที่เป็นตัวแทนขายประกัน ถ้าเป็นในกรณีของโทรศัพท์ ตัวแทนขายประกันมักจะพูดเร็ว ๆ รัว ๆ บางคนที่จับใจความไม่ทัน ก็เออออไป สุดท้าย อยู่ดี ๆ ก็ได้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นมาเสียอย่างนั้น
ส่วนถ้าเป็นในกรณีของคนรู้จักมาเสนอขาย มักจะซื้อด้วยความเกรงใจ สุดท้ายก็กลายเป็นประกันซ้อนและเจ้าของรถหลายคน ต้องเครียดกับค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายมากกว่าคนอื่น แถมยังกังวลด้วยว่าการทำประกันซ้อนเช่นนี้ จะมีผลต่อกรมธรรม์อื่น ๆ ที่เคยทำไว้หรือเปล่า
มีตัวอย่างของผู้ที่มีปัญหาทำประกันซ้ำซ้อนจากเว็บไซต์พันทิปดอทคอม http://pantip.com/topic/30245217 โดยผู้ใช้ชื่อว่า Chicha@united โดยที่เจ้าของกระทู้ได้ถูกหลอกจากคนรู้จัก ให้ทำประกันรถยนต์เพิ่มทั้งที่ตนเองก็มีประกันรถยนต์อยู่แล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะทำประกันรถยนต์เพิ่มเลย เขาจึงมาตั้งกระทู้ถามว่า
ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งก็มีผู้ใช้หลายคนมาตอบ และทุก ๆ คน จะตอบไปในทิศทางเดียวกันว่าต่อให้มีประกันรถยนต์เพิ่มขึ้นมา มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่สามารถเรียกร้องเงินสินไหมทดแทน นอกเหนือจากค่าเสียหายรถยนต์ได้ อย่ายอมเด็ดขาดถ้าเกิดว่าเสียเงินไปบ้างแล้ว ให้ดำเนินการยกเลิกกรมธรรม์นั้นเสีย แต่ถ้าเกิดว่ายังไม่ได้เสียเงิน ก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกัน เพียงเท่านี้ ประกันภัยรถยนต์ที่ทำซ้อนขึ้นมาก็จะไม่มีผลอะไรอีกต่อไปแล้ว
จากที่กล่าวมาคงจะเห็นแล้ว การทำประกันภัยรถยนต์ซ้อน เมื่ออ่านตามทฤษฎีแล้ว อาจจะได้ผลดีจริง แต่มันไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะทำประกันภัยรถยนต์ซ้อนละก็ ขอให้หยุดความคิดนั้นเสีย จะทำประกันจากบริษัทใด ก็ขอให้เลือกกรมธรรม์ที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุด มาจากบริษัทเดียวเลย จะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันที่มากกว่าคนทั่วไป และใช้ประโยชน์จากวงเงินประกันได้คุ้มค่าที่สุด
และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือ อย่าหลงคารม หรือเออออไปตามเซลล์ที่โทรมาขายประกันมากเกินไป จงตั้งสติ ฟังในสิ่งที่เซลล์พูด จับใจความให้ได้ เสร็จแล้วก็ปฏิเสธอย่างนิ่มนวลว่ามีประกันรถยนต์อยู่แล้ว ไม่ต้องการทำเพิ่มและจงปฏิเสธให้เด็ดขาด อย่าเกรงใจเซลล์ เพราะไม่อย่างนั้น ท่านอาจจะได้ประกันรถยนต์ซ้อนขึ้นมา โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ กับการใช้รถได้
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub