เทคนิคเก็บเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือนป้ายแดง
“เมื่อมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพียงพอแล้ว ก็วางแผนออมเงินเพื่อเป้าหมาย และลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”
เมื่อเรียนจบ หลายคนก็เข้าสู่โลกของการทำงาน ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากการทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือนป้ายแดง แต่เมื่อเริ่มทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่ได้ขอเงินจากคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป ก็เรียกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องบริหารเงินก้อนนี้ให้เพียงพอกับรายจ่าย และมีเงินมาเก็บออมด้วย อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งเป็นกังวลว่า เงินเดือนเด็กจบใหม่อยู่ที่หลักหมื่น แค่ค่าใช้จ่ายกิน อยู่ เดินทาง ก็แทบจะไม่พอ แล้วจะเก็บออมได้อย่างไร จริงๆ แล้ว จะเก็บออมได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า รายได้มากหรือน้อย เพราะถ้ามีความอดทน และความตั้งใจ ก็สามารถเก็บออมเงินได้ทุกเดือนอย่างแน่นอน ซึ่ง K-Expert ก็มีเทคนิคเก็บออมเงินสำหรับมนุษย์เงินป้ายแดงมาฝากค่ะ
ออมเงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน
เงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมีไว้ คือ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินก้อนที่มีความสำคัญมากนะคะ เพราะหากมีเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ จะได้มีเงินมาใช้จ่ายทันที ไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาล ซื้อของใช้จำเป็นใหม่ หรือแม้กระทั่งตกงานขาดรายได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ อะไรก็ไม่แน่นอน คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หน้าที่การงานดูมั่นคง แต่เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ก็ทำให้หลายคนต้องว่างงาน แล้วถ้าไม่มีเงินเก็บเตรียมไว้ อาจมีปัญหาการเงินตามมา หรือต้องหยิบยืมกลายเป็นหนี้เป็นสินก็ได้
แนะนำว่า ควรมีเงินสำรองไว้สัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 10,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเก็บไว้ 60,000 บาท ซึ่งเงินสำรอง 6 เท่า แนะนำให้แบ่ง 1 ส่วนเก็บในเงินฝาก เพื่อให้มีสภาพคล่องสูงสุด ถอนเมื่อไรก็ได้ อีก 5 ส่วน เก็บในกองทุนตลาดเงิน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ขณะที่กองทุนตลาดเงินให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1-2% ต่อปี เรียกว่าผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ 2-4 เท่าเลยทีเดียว โดยยังมีสภาพคล่องอยู่ ซึ่งกองทุนตลาดเงินจะได้รับเงินค่าขายในวันทำการถัดไป (T+1)
ออมเงินเพื่อเป้าหมาย
เมื่อเริ่มทำงานได้สักระยะหนึ่ง หลายๆ คนก็มีเป้าหมายอยากซื้อรถสักคัน เป็นเจ้าของคอนโดฯ สักห้อง ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะทำสำเร็จได้ต้องมีกำหนดระยะเวลา ก็เหมือนกับการขับรถที่ต้องกำหนดจุดหมายปลายทางและเวลาที่เราต้องการจะไปถึง ไม่เช่นนั้นเราก็จะขับรถไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ตัวอย่างเช่น ดาวน์คอนโดฯ 2 แสนบาทในอีก 2 ปี หรือดาวน์รถ 1.5 แสนบาทในอีก 1 ปี
การตั้งเป้าหมายและกำหนดระยะเวลาจะช่วยให้เรารู้ว่าต้องออมเงินเดือนละเท่าไร นอกจากนี้ เมื่อเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ควรเก็บในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเงินฝาก หรือกองทุนตลาดเงิน เพื่อเน้นรักษาเงินต้น เช่น วางแผนดาวน์คอนโดฯ ในอีก 2 ปี ใช้เงิน 2 แสนบาท สามารถออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน เป็นการฝากเงินเท่ากันทุกเดือน โดยถ้าเก็บเงินเดือนละ 8,500 บาท ครบ 2 ปีก็มีเงินมาดาวน์คอนโดฯ ได้ตามเป้าหมายแล้วค่ะ
ออมเงินเพื่อความมั่งคั่ง
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเป้าหมายที่จะใช้เงินก้อนในอนาคต เช่น อยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือโดยสารรถสาธารณะไปทำงานได้สะดวก จึงไม่ได้มีความจำเป็นต้องซื้อคอนโดฯ หรือซื้อรถ อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีเป้าหมายใช้เงินตอนนี้ ก็ควรมีการออมเงินเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าอนาคตเราอาจต้องการใช้เงินขึ้นมาก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใช้เงินแต่งงานสร้างครอบครัว ใช้เงินในยามเกษียณ หรือใช้เงินเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่ รถคันใหม่ให้พ่อแม่ก็ได้
สำหรับการออมเงินเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง แนะนำให้ออมตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หลักการง่ายๆ ก็คือ ควรมีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ทั้งหุ้น และตราสารหนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือที่เรียกกันว่า พอร์ตการลงทุน แต่จะมีสัดส่วนหุ้น หรือตราสารหนี้ มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ ทั้งนี้ K-Expert ก็มีพอร์ตการลงทุนมาแนะนำ 3 แบบด้วยกัน ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท ได้แก่ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยมีการแนะนำลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง นั่นเองค่ะ
เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน ก็ถึงเวลาที่จะต้องบริหารจัดการเงินด้วยตนเอง ทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบของรายได้ และมีเงินมาเก็บออมเพื่อเป้าหมายในชีวิต เพราะถ้าเรามีการวางแผนเรื่องการเงินของตัวเราเอง เชื่อได้ว่าอนาคตการเงินที่สดใส และเป้าหมายที่ฝันไว้ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ
โดย : นิชฌานี ฉันทศาสตร์, CFP®
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ขอบคุณบทความจาก K-Expert