“ทองคำ” จะขึ้นหรือลงรู้ได้อย่างไร
ต่อเนื่องจากบทความ “ออมทอง ในสภาวะดอกเบี้ยขาลง” หลังจากอ่านบทความนี้หลายคนคงอยากจะทราบเหตุผลว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เป็นตัวเข้ามากำหนดราคาทองคำให้ขึ้นหรือลงบ้าง จากที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับและเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ทำให้การขึ้นลงของราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น แต่จะมีปัจจัยในต่างประเทศเข้ามากำหนดด้วย แตกต่างจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นถ้าหากเราสนใจแต่ปัจจัยในประเทศซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ของโลกอาจจะทำให้การประเมินราคาทองคำผิดพลาดไปได้ ปัจจัยที่เข้ามากำหนดราคาทองคำทั้งในและต่างประเทศมีดังต่อไปนี้
นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เรื่องนโยบายการ เงินต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ จะเป็นนโยบายการเงินจากทางฝั่งของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทุกครั้งที่มีการประกาศดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ชาวโลกได้รับรู้ก็จะเกิดความผันผวนในราคาทองมากพอสมควร ถ้าหากปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มดี ความเชื่อมั่นเริ่มมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง เป็นต้น
ราคาน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และเป็น ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าค่อนข้างมากซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิด เงินเฟ้อค่อนข้างมา แต่จากที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเงินเฟ้อกับราคาทองคำนั้นเคลื่อนไหวในทิศทาง เดียวกันในระยะยาว ดังนั้น เมื่อมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันก็จะส่งผลกระทบกับราคาทองด้วย เช่น ถ้าหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ค่าเงินดอลลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์เปรียบเสมือนค่าเงินกลางที่หลายๆ ประเทศต่างให้การยอมรับใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายส่งผลให้ราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์วิ่งสวนทางกัน เนื่องจากทั้งดอลลาร์และทองคำต่างก็เป็นเงินตราเหมือนกัน (Currency) ด้วยความที่ค่าเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักที่มีความน่าเชื่อถือ การที่ค่าเงินดอลลาร์ด้อยค่าลง (อ่อนค่า) ย่อมส่งผลดีต่อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สามารถเก็บมูลค่า ทำให้กระแสเงินกระแสเงินของแต่ละประเทศต่างไหลเข้าสู่ทองคำส่งผลให้ทองคำมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการประกาศใช้มาตรการ QE ส่งผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็วในทางกลับกันก็ผลักดันให้ผู้คนหันไปซื้อทองคำมากขึ้นส่งผลให้ทองคำขึ้นไปแตะระดับ 20,000 บาทต่อบาททองคำในที่สุด
วิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมืองที่จะนำมาสู่สงครามหรือความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และในทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤติก็ต้องเกิดความกังวล ทำให้มีความต้องการที่จะหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเช่น ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
รู้สึกแปลกใจหรือไม่ว่าทำไมถึงไม่พูดถึงปัจจัยในประเทศบ้างก็เพราะ อุปสงค์และอุปทานในประเทศมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากขนาดอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศที่มีขนาดเล็กทำให้แทบจะไม่มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองแม้แต่น้อย แต่มีปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ ราคาทองคำจะมีราคากลางในตลาดโลก เรียกว่า Spot Rate แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองไทยเราจะแปลงจากราคากลางซึ่งใช้หน่วยเป็น “ดอลลาร์ต่อออนซ์” มาเป็นหน่วย “บาทต่อบาททองคำ” ทำให้เวลาซื้อขายในประเทศไทยต้องนำมาคำนวณกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเรา ดังนั้น ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจะเข้ามาส่งผลกระทบอย่างมากกับราคาทองคำ ถ้าเงินบาทอ่อนค่าทองคำจะมีราคาสูง ถ้าเงินบาทแข็งค่าทองคำจะมีราคาต่ำนั่นเอง และนี้คือปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลต่อราคาทองคำ – เทอร์ร่า บีเคเค บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com