วิธีจัดสรรเงินลงทุนเพื่อผลตอบแทนในวัยเกษียณ

วิธีจัดสรรเงินลงทุนเพื่อผลตอบแทนในวัยเกษียณ

วิธีจัดสรรเงินลงทุนเพื่อผลตอบแทนในวัยเกษียณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การวางแผนการเกษียณเป็นการวางแผนทางการเงินในระยะยาวที่ในปัจจุบันคนให้ความสำคัญกันมากขึ้น เหตุผลหลักก็เป็นเรื่องของอายุที่คนสมัยนี้มีอายุขัยที่ยาวนานขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงเทรนด์ในการดูแลรักษาสุขภาพยังมาแรงอีกด้วย ทำให้ช่วงระยะเวลาหลังเกษียณที่ไม่ได้ทำงานมีรายได้แล้ว แต่ยังต้องใช้จ่ายทั้งเรื่องชีวิตประจำวันรวมถึงเรื่องของสุขภาพก็ยาวนานขึ้นด้วย

การวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณก็เหมือนกับการวางแผนการออมเงิน คือ ยิ่งเริ่มวางแผนเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีเงินเพียงพอไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณก็จะมากขึ้นไปไปด้วย ใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับ “ออมก่อนรวยกว่า” นั่นแหละค่ะ ยิ่งหากเราอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องคิดเรื่องวางแผนเกษียณเร็วและลงทุนในมากขึ้นเท่านั้น


เด็กที่เพิ่งเรียนจบเริ่มทำงานน้อยคนที่จะคิดถึงการเกษียณ อาจเพราะเป็นเวลาอีกยาวไกล เลยยังมองไม่เห็นภาพ แต่หากมาคิดเรื่องวางแผนเกษียณกันตอนใกล้เกษียณหรือช้าเกินไป เป้าหมายในการเกษียณของเราอาจเป็นเป้าที่เราก้าวไปไม่ถึงค่ะ การเริ่มออมเงินเพื่อเกษียณเร็วจะทำให้ยอดเงินออมต่อเดือนเพื่อให้ได้เป้าหมายของเรานั้นน้อยลงไปด้วยค่ะ

นอกจากนั้นแผนการเงินเพื่อการเกษียณควรเป็นแผนที่ทำแยกออกจากการออมหรือการลงทุนประเภทอื่น ๆ ไปเลย คือต้องเป็นการออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและระยะเวลาที่ยาวนาน ไม่ควรให้มีอะไรมากระทบกับแผนการเกษียณของเรา


การจัดสรรเงินลงทุนเพื่อการเกษียณของเราควรกระจายไปตามความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนในแต่ละประเภท อย่างที่ทราบว่าผลตอบแทนมาคู่กับความเสี่ยง หากเสี่ยงมากผลตอบแทนก็มากตามไปด้วย หากเสี่ยงน้อยก็จะได้ได้ผลตอบแทนน้อย สำหรับรูปแบบของการลงทุนเพื่อการเกษียณก็มีที่น่าสนใจอยู่หลายรูปแบบในปัจจุบัน


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หากทำงานเป็นข้าราชการก็จะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อรองรับวัยเกษียณของข้าราชการ ส่วนคนทำงานในบริษัทเอกชนก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่บริษัทหักจากเงินเดือนของเราไปทุกเดือน บริษัทจะสมทบให้อีกส่วนหนึ่งแล้วนำไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน กองทุนทั้งสองแบบนี้เป็นการลงทุนในระยะยาว หากเราทำงานต่อเนื่องไปจนถึงเกษียณ เมื่อเกษียณลาออกเราจะได้เงินก้อนใหญ่พอสมควรที่เป็นเงินที่เราลงทุนไป รวมกับส่วนที่บริษัทลงทุนเพิ่มให้เรา และผลตอบแทนที่กองทุนได้รับด้วย

นอกจากนั้นเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เรายังสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีได้อีกด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงถือเป็นช่องทางการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับวัยเกษียณที่ดีมากช่องทางหนึ่ง ดังนั้นหากบริษัทมีทางเลือกให้เราสามารถเลือกลงทุนได้ เช่น 3%, 5% หรือ 10% ก็ควรเลือกลงทุนในสัดส่วนที่มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เลยค่ะ เพราะยิ่งลงทุนมากบริษัทก็จะลงทุนเพิ่มให้ในสัดส่วนเดียวกัน ทำให้โอกาสที่จะได้เงินในอนาคตของเราก็มากขึ้นไปด้วยค่ะ


กองทุนประกันสังคม

บริษัทเอกชนที่เราทำงานอยู่ด้วยจะหักเงินเดือนของเราเพื่อนำส่งประกันสังคมรวมกับเงินอีกส่วนที่สมทบโดยบริษัท เงินที่สมทบไปจะในไปบริหารโดยกองทุนประกันสังคมเพื่อคุ้มครองในเรื่องของการรักษาพยาบาล การว่างงาน รวมถึงมีส่วนที่เป็นเงินชราภาพด้วย เงินชราภาพส่วนนี้เราจะสามารถขอคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีและลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยเงินที่จะได้คืนมีทั้งรูปแบบของเงินบำเหน็จที่จ่ายคืนเป็นก้อนเดียวเลย และเงินบำนาญที่จะจ่ายเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบของแต่ละคน เงินชราภาพจากประกันสังคมนี้ก็จะมาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในยามเกษียณของเราได้


กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ที่ต้องการจัดสรรเงินทุนเพื่อเกษียณ โดยจุดมุ่งหมายของกองทุนเป็นการลงทุนในระยะยาว ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือสามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยมีข้อกำหนดว่าจะขายหน่วยลงทุนคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีเท่านั้นและต้องลงทุนต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะขายได้

นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขที่ต้องลงทุนต่อเนื่องในแต่ละปีด้วย ห้ามหยุดซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อเกษียณโดยที่ยังไม่มีสวัสดิการอื่น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รองรับ รวมถึงแม้ผู้ที่มีสวัสดิการอยู่แล้ว แต่ยังต้องการลงทุนเพิ่มก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน


ประกันชีวิตแบบบำนาญ

อีกช่องทางในการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อการเกษียณก็คือการเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ รูปแบบก็เหมือนเราส่งเบี้ยประกันที่มีความคุ้มครองกับบริษัทประกันชีวิตจนครบตามกำหนด และเมื่อถึงวัยเกษียณ  บริษัทประกันชีวิตก็จะทยอยจ่ายคืนเงินเป็นบำนาญรายเดือนให้กับเรา เป็นรูปแบบของการลงทุนที่สร้างความมั่นใจในวัยเกษียณให้กับเราเลยว่า เมื่อถึงเวลาเราจะมีเงินใช้รายเดือนตามที่สัญญาระบุไว้ มากน้อยเท่าไหร่เราสามารถเลือกได้ ประโยชน์ของการทำประกันแบบบำนาญก็คือสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย


รูปแบบของการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อเกษียณมีหลายรูปแบบอย่างที่กล่าวมาข้างต้น บางประเภทก็เหมือนเป็นการบังคับให้ต้องทำโดยกฎหมาย แต่บางประเภทก็เป็นการเลือกทำได้โดยสมัครใจ แต่ส่วนมากจะเป็นการลงทุนในระยะยาว ผลตอบแทนมากน้อยแตกต่างกันไป ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องวางแผนเพื่อเกษียณสำหรับประชาชน จึงให้สิทธิ์ในการนำเงินลงทุนเหล่านี้มาลดหย่อนภาษีได้ด้วย


นอกจากรูปแบบการลงทุนข้างต้นแล้ว ยังมีการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ อีกที่สามารถทำได้ เช่น ซื้อคอนโดหรืออสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า การลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หรือ ลงทุนในกองทุนหุ้น ฯลฯ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อเราเลือกลงทุนแล้ว  ก็เหมือนเราได้วางแผนกันเงินส่วนหนึ่งของเราเพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเมื่อถึงวัยนั้น เราจะหมดกังวลและสามารถมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบาย

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook