ข้อแนะนำสำหรับคนขอสินเชื่อบ้านแต่ติดเครดิตบูโร
เราคงเคยได้ยินคนพูดถึงเครดิตบูโรกันมาบ้าง เครดิตบูโร คือ บริษัทที่ทำการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าที่มีสินเชื่อทุกประเภทกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่กำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีข้อมูลหนี้คงค้างและประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้อยู่ ข้อมูลจะเก็บย้อนหลังไป 36 เดือน หรือ 3 ปี และที่เคยได้ยินกันว่า “ติดเครดิตบูโร” ก็หมายถึงว่ามีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี ไม่ปกติ อาจเคยจ่ายล่าช้าหรือค้างหนี้เป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ใช้ข้อมูลในเครดิตบูโรเป็นหลัก ก็คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ต้องการเช็คยอดหนี้และประวัติการชำระเงินของลูกค้าที่สมัครขอสินเชื่อประเภทต่าง ๆ กับทางธนาคารเข้ามา เพื่อเป็นปัจจัยในการประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อนั้น ๆ ต้องย้ำว่าข้อมูลในเครดิตบูโรจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ธนาคารใช้ในการอนุมัติสินเชื่อเท่านั้น
การใช้ข้อมูลลูกค้าในเครดิตบูโรเพื่ออนุมัติสินเชื่อจะมีรายละเอียดอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปมีคำถามจากผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อบ้านจากธนาคารว่า หากติดเครดิตบูโรอยู่จะสามารถกู้ซื้อบ้านได้หรือไม่หลายคนเป็นห่วงกันมาก
วันนี้มีคำตอบมาฝากกัน หากสาเหตุในการติดเครดิตบูโรนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ เช่น หนี้ที่ค้างไม่ถึงกับเป็นหนี้เอ็นพีแอลที่ค้างเกินกว่า 90 วัน หรือสถานะที่ติดเครดิตบูโรอยู่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล เพราะส่วนหนึ่งการขอสินเชื่อกู้บ้านก็เป็นการกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับการสมัครบัตรเครดิตหรือขอสินเชื่อส่วนบุคคลที่การติดเครดิตบูโรจะซีเรียสมากกว่า ก็ให้ลองทำเรื่องขอกู้บ้านเข้าไปดู แต่หากเป็นหนี้คงค้างปัจจุบันต้องชำระหนี้ให้เรียบร้อยให้เป็นสถานะปกติก่อน
อย่างไรก็ตามหากหนี้ค้างที่ค้างไม่กี่วันแต่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น ค้าง 1 เดือน หรือ 2 เดือน แต่ปีหนึ่งค้างแบบนี้หลายครั้ง ก็อาจเป็นประวัติที่ไม่ดีที่บางธนาคารอาจปฏิเสธคำขอสินเชื่อได้เหมือนกัน ดังนั้น การรักษาประวัติหนี้ที่ดีในเครดิตบูโรก็มีความสำคัญเพราะสาเหตุนี้ด้วย เราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะต้องขอสินเชื่ออะไรอีกหรือไม่ เช่น บางคนติดเครดิตบูโรเพราะหนี้บัตรเครดิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปอยากเป็นของบ้านสักหลังอยากทำเรื่องเพื่อขอสินเชื่อบ้าน ก็อาจทำให้ผ่านได้ยาก
แม้แต่หากการติดเครดิตบูโรเป็นหนี้ค้างที่เป็นเอ็นพีแอลคือเกิน 90 วัน หรือนานกว่านั้น ก็ยังมีช่องทางให้ขอกู้บ้านได้เช่นกัน โดยคำแนะนำก็คือต้องปิดบัญชีที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลนั้นก่อน เกณฑ์โดยทั่วไปของธนาคาร ก็คือ 2 ปี เมื่อปิดหนี้ไปเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป การยื่นขอสินเชื่อบ้านก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหา ได้รับการอนุมัติเพราะถือว่าหนี้เก่าปิดไปแล้ว แต่หากเพิ่งปิดหนี้ไปแค่ไม่กี่เดือน การยื่นขอสินเชื่อบ้านอาจไม่ได้รับการอนุมัติก็ได้ เนื่องจากหนี้เก่าค้างจ่ายเพิ่งปิดไปไม่นาน เกณฑ์ปกติที่ธนาคารกำหนดไว้จะต้องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
หากเคยมีสถานะเป็นหนี้เอ็นพีแอลในเครดิตบูโรและข้อมูลยังแสดงอยู่ ตอนขอปิดหนี้ให้ขอเอกสารการปิดหนี้จากธนาคารมาด้วย เพื่อมายื่นแนบไปกับเอกสารในการขอกู้ซื้อบ้าน เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะได้มีเอกสารอ้างอิงในการพิจารณาได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าธนาคารจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น เรื่องความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้หรือภาระหนี้ในปัจจุบัน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เคยติดบูโรแต่ขอกู้บ้านผ่านก็ได้มาแชร์ประสบการณ์ไว้ว่า หากติดเครดิตบูโรการเลือกขอกู้บ้านกับธนาคารของรัฐ อย่างเช่น ธนาคารออมสินหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์จะมีโอกาสได้รับอนุมัติง่ายกว่าธนาคารเอกชน นอกจากนั้นหลักฐานทางการเงินอื่น ๆ เช่น หลักฐานแสดงรายได้ที่ควรมากกว่า 40% ของเงินที่ต้องผ่อนคืนรายเดือน หรือเงินออมในบัญชีธนาคารที่มียอดเงินพอสมควรที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภาระ ก็มีผลทำให้ธนาคารอาจพิจารณาอนุมัติการกู้ซื้อบ้านให้เราได้ แม้เราจะเคยติดเครดิตบูโรอยู่ แต่มีข้อแม้ว่าต้องปิดหนี้แล้วนะ
สรุปก็คือ หากติดเครดิตบูโรก็ยังมีโอกาสขอกู้บ้านจากธนาคารได้ โดยสิ่งที่จะช่วยให้มีโอกาสอนุมัติได้ ก็คือ
• เช็คข้อมูลในเครดิตบูโรว่าติดหนี้ตัวไหนอยู่บ้าง
• ปิดหนี้ที่ติดเครดิตบูโรอยู่ให้หมด พร้อมขอเอกสารการปิดหนี้จากธนาคาร
• เช็คข้อมูลในเครดิตบูโรอีกครั้งหลังปิดหนี้ว่าสถานะเป็นปิดหนี้เรียบร้อย
• เตรียมหลักฐานทางการเงินที่อย่างน้อยแสดงรายได้ที่มากกว่าเงินที่ต้องผ่อนจ่ายรายเดือนเกินกว่า 40% ขึ้นไป
• เตรียมหลักฐานที่เป็นบัญชีเงินฝากเงินออมด้วย (ถ้ามี) เป็นการเพิ่มโอกาสในการอนุมัติ โดยยอดเงินต้องมีพอสมควรและไม่เคยถูกถอนออกไปใช้
• ลองยื่นเอกสารเพื่อขอกู้สินเชื่อบ้านกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยให้บอกไปตามตรงว่าติดเครดิตบูโร แต่ปิดหนี้เรียบร้อยแล้ว
• เลือกกู้บ้านกับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสินหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพราะมีโอกาสได้รับการอนุมัติสูงกว่า
เมื่อยื่นเอกสารไปก็รอให้เจ้าหน้าที่ต่อกลับมา เป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ธนาคารที่จะทำการพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมดที่เราส่งไป ส่วนตัวเราก็ถือว่าเตรียมหลักฐานพร้อมมากที่สุดแล้ว หากผลการพิจารณาเป็นอย่างไรก็คงต้องยอมรับ เนื่องจากการพิจารณาสินเชื่อบ้านเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ต่างก็มีปัจจัยหลากหลายที่ทำให้มีโอกาสได้รับการอนุมัติหรือไม่มีโอกาสได้รับการอนุมัติได้เช่นเดียวกัน แต่ขั้นตอนข้างต้นเป็นสิ่งที่เคยมีคนติดเครดิตบูโรแล้วขอกู้ซื้อบ้านผ่านมาแล้ว จึงนำมาแชร์ไว้เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังประสบกับเหตุการณ์เดียวกัน
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub