9 สเต็ป วางแผนการเงิน ฉบับ Insuranger
Insuranger AomMoney Guru
สำหรับเรื่องการวางแผนการเงิน ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินกันบ้างแล้ว แต่บางคนก็อาจจะยังมีคำถามอยู่ในหัวว่า “จะเริ่มจากตรงไหนดี?”
เมื่อไม่ทราบคำตอบ ส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า “การวางแผนการเงิน ก็คือวางแผนเก็บออม ลงทุน ให้เงินงอกเงยนั่นแหละ” อยู่ๆก็เลยกระโจนไปเริ่มที่ลงทุนเลยบ้าง สนใจแต่ว่าจะลงทุนในอะไรดี? หุ้นตัวไหนดี? กองทุนตัวไหนดี? ตอนนี้ซื้อได้รึยัง? ตอนนี้ควรจะขายไหม? แล้วก็คิดว่าการที่เราได้ศึกษา หาข้อมูล เพื่อให้ได้ตัวที่ดีที่สุดมา จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะช่วยให้เรารวยได้
แต่นั่นไม่ใช่เลย! เพราะหากเปรียบเทียบการวางแผนการเงิน หรือการวางแผนชีวิตเหมือนการเดินทางแล้ว เราจะเลือกพาหนะได้ถูกได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหน?
เราจะเดินทางไปไหนถูกได้ยังไง ถ้าเรายังไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหน?
เราจะออกเดินทางได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้ว่า เราต้องใช้เวลาเดินทางประมาณเท่าไหร่? (หรือต้องเดินทางไปเรื่อยๆ ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น?)
เราจะเดินทางอย่างปลอดภัยได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้ว่าเราต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?
การวางแผนการลงทุน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินเท่านั้น การกระโจนเข้าสู่การลงทุน โดยไม่มีการวางแผนการเงินอย่างรอบด้านล่วงหน้า ก็เปรียบเสมือนคุณรีบบึ่งขับรถออกจากบ้านด้วยความเร็วสูง ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน และไม่ได้มีการเตรียมพร้อม ตรวจสอบความปลอดภัย ตุนสเบียง เตรียมแผนที่ให้เรียบร้อยก่อน ทำให้โอกาสไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือประสบอุบัติเหตุระหว่างทางแล้วเอาตัวไม่รอด มีสูงมาก
ฉะนั้น ก่อนที่คุณจะเริ่มวางแผนออกเดินทาง ผมมี 9 ขั้นตอนทางการเงินที่คุณต้องเตรียมพร้อม มาแนะนำ เพื่อให้คุณมีโอกาสไปถึงจุดหมายในชีวิตที่ต้องการ มาแนะนำครับ
9 ขั้นตอนสู่เป้าหมายทางการเงินอย่างมีความสุข
เริ่มจาก….ค้นหาคำตอบเหล่านี้ให้ได้
STEP 1 : ค้นหาแรงบันดาลใจและเป้าหมาย
– เราต้องการอะไรในอนาคต? (การแต่งงาน, มีลูก, มีรถ, มีบ้าน, ทุนการศึกษา, อิสรภาพของชีวิต(เกษียณ))
– ทำไมเราถึงต้องการสิ่งนั้น? (อยากมีครอบครัว, อยากมีความมั่นคงในชีวิต, อยากใช้ชีวิตอย่างหมดกังวลหลังเกษียณ, อยากมีอิสรภาพทางการเงิน) ไม่มีไม่ได้เหรอ? มันจำเป็นขนาดไหน? ถ้าไม่ได้แล้วชีวิตจะเป็นยังไง?
ขั้นตอนแรกนี้ผมถือว่าสำคัญที่สุดครับ สำคัญยิ่งกว่าความรู้ใดๆทั้งหมด เพราะถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผล ไม่มีความหนักแน่น จะทำให้เราไม่มีแรงผลักดันที่มากพอจะพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายทางการเงินที่ต้องใช้เงิน ทำให้เราต้องหาเงิน ต้องอดทน ต้องอดออม ต้องมีวินัย อย่างต่อเนื่อง (บางเป้าหมาย เช่น เกษียณอายุ หรือมีอิสรภาพทางการเงินและชีวิต อาจจะใช้เวลาถึง 10-20 ปี)
ถ้าเราไม่มีเหตุผลและความรู้สึกที่ชัดเจน หนักแน่น ต่อเป้าหมายมากพอ หรือเป็นเป้าหมายที่เราไปหยิบยืมความฝันของคนอื่นมา (เช่น อยากมีเงิน 100 ล้าน เพราะคิดแค่ว่ารวยดี อยากมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะอยากสบาย ฯลฯ) ไม่มีวันจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แน่นอน เราจะท้อแท้ และล้มเลิกกลางทางไปซะก่อน เพราะเรารู้สึกว่า ถึงไม่ได้มันมา เราก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
อย่างที่มีคนกล่าวไว้ “ถ้าความต้องการมากพอ เดี๋ยววิธีการจะตามมาเอง”
เรามีความต้องการที่มากพอกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม? ลองถามตัวเองดูครับ
STEP 2 : ระบุเป้าหมายอย่างละเอียด
– เป้าหมายนั้นราคาเท่าไหร่? (ค่าจัดงานแต่ง, ราคารถ, ราคาบ้าน, มูลค่าทุนการศึกษา, จำนวนเงินที่ต้องเตรียมเพื่อการเกษียณ, มูลค่าทรัพย์สินที่ต้องมีทั้งหมด เพื่อให้มีอิสรภาพ)
– ต้องการบรรลุเป้าหมายนั้นในอีกกี่ปีข้างหน้า?
ที่ต้องรู้ ก็เพราะการมีตัวเลข จะทำให้เราสามารถ “วัด” ได้ ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายไปเท่าไหร่แล้ว และ “เหลือ” (จำนวนเงิน, เวลา) อีกเท่าไหร่ ที่เราต้องไปให้ถึง หากไม่มีตัวเลข หรือตัวเลขไม่ชัดเจนแล้ว เราจะไม่สามารถวัดผลได้เลย ดังนั้น บางทีเราอาจจะต้องรู้วิธีการคำนวณหาเงินเป้าหมายก่อน (หรือใช้เครื่องมือ หรือโปรแกรม ช่วยคำนวณก็ได้)
STEP 3 : กลับมาสำรวจตัวเองในปัจจุบัน ด้านการเงิน และการงานส่วนตัว
ด้านการเงิน
– จัดทำงบกระแสเงินสด (ประเมินรายได้, รายจ่าย, เงินออม ต่อเดือน ต่อปี เท่าไหร่? หักลบกัน คงเหลือเท่าไหร่? เพื่อสำรวจ “พฤติกรรม” การใช้จ่ายของตัวเอง ว่าเราใช้จ่ายเกินตัวไหม? เราใช้จ่ายกับอะไรเป็นส่วนมาก? แล้วรายจ่ายเหล่านั้นจำเป็นไหม ปรับลดได้ไหม? รายได้ที่เรามีเทียบกับรายจ่ายแล้วน้อยเกินไปรึเปล่า? จะมีวิธีการเพิ่มรายได้ยังไงได้บ้าง
– จัดทำงบความมั่งคั่งสุทธิ (สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด (เงิบเก็บสภาพคล่อง, เงินลงทุน, ทรัพย์สินส่วนตัว), หนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด (หนี้สินระยะสั้นเช่นบัตรเครดิต, หนี้สินระยะยาวเช่น หนี้บ้าน หนี้รถ) มีอะไรบ้าง? มีอยู่เท่าไหร่? หักลบกันแล้ว สินทรัพย์มากกว่าหนี้สินเท่าไหร่? นั่นคือความมั่งคั่งสุทธิของเรา หรือมูลค่าฐานะทางการเงินที่แท้จริงของเรานั่นเอง เพื่อหาคำตอบว่า “เรามีความมั่นคงทางการเงิน” มากน้อยแค่ไหน
ด้านการงาน
– งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันคืองานอะไร? เรารู้สึกยังไงกับงาน? ชอบหรือไม่ชอบ? มีความสุขกับงานที่ทำรึเปล่า? รายได้เท่าไหร่? เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายไหม? ทำให้เหลือเงินเก็บอย่างพอเพียงรึเปล่า?
ที่ต้องสำรวจด้านการงานด้วย ก็เพราะว่า งาน ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตเลยใช่ไหมล่ะครับ? เราจะมีเงินได้ ก็เพราะว่าเราต้องทำงาน ถ้าไม่มีงานเราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย มาออม มาลงทุน? ถ้าเรายังทำงานได้ไม่ดีพอ รายได้ที่เราหาได้ จะสูงพอที่จะนำไปบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้หรือเปล่า? ดังนั้น ยิ่งมีเป้าหมายสูง ไลฟ์สไตล์สูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องทำงานให้ดี หาเงินให้เก่งขึ้นตามไปด้วย ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้ (ซึ่งก็แล้วแต่ชีวิต และความต้องการของแต่ละคนนะครับ บางคนต้องการน้อย ใช้น้อย ก็อาจจะไม่อยากดิ้นรนเพื่อหาเงินให้มากขึ้นก็ได้)
เริ่มเข้าสู่…การวางแผนการเงิน การงาน และชีวิต -> โดยยึดหลักคิด = เป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ชีวิตในอนาคตมั่นคงมีความสุข ขณะเดียวกัน ชีวิตปัจจุบันก็ต้องมีความสุข ต้องบริหารให้ชีวิตมีความสมดุลด้วย
STEP 4 “ทำงานที่รัก รักงานที่ทำ” : จัดการกับชีวิตการงานของตัวเองให้ลงตัวซะก่อน
– ถ้ามีความสุขกับงานที่ทำ รายได้เหมาะสมแล้ว แสดงว่ารากฐานชีวิตของเราก่อนจะวางแผนการเงิน มั่นคงดีแล้ว
– ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ต่อให้รายได้มากขนาดไหน เพียงพอต่อการบริหาร และวางแผนการเงินขนาดไหน บางที ระหว่างการเดินทางสู่เป้าหมายทางการเงิน ก็อาจไม่มีความสุขได้
– ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำ รายได้ก็ไม่เท่าที่หวัง ควรจะลองค้นหาตัวเองเพื่อหางานที่เหมาะสมกับเราให้ได้
– เราถนัดอะไร? เราชอบทำอะไร? อะไรที่เวลาเราทำแล้วมีความสุข? อะไรที่เวลาเราทำแล้วมีคนชอบ มีคนชื่นชม มีคนขอบคุณ? ให้เริ่มจากการพัฒนาทักษะในสิ่งนั้น
– แต่บางครั้ง การต้องฝืนทำอะไรในสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง (แม้จะเป็นอาชีพที่เราทำแล้วมีความสุข แต่มันก็จะต้องมีสิ่งที่เราไม่อยากทำ หรือเป็นอุปสรรคบ้างอยู่แล้วล่ะ) ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าผ่านมันมาได้ซ้ำๆ จะทำให้เราเกิดความ “ภาคภูมิใจในตัวเอง” ว่าแม้แต่เรื่องยากๆ เราก็ผ่านมันมาได้แล้ว ไม่มีใครดูถูกเราเรื่องนี้ได้
ทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับงานมาก? เพราะผมเชื่อว่า เราใช้เวลา 1/3 ของชีวิตไปกับการทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้างานไม่ดี ไม่โอเคกับการทำงาน กับรายได้ที่หาได้ ยากมาก ที่จะมีการเงินที่ดี เพราะถ้ารายได้น้อยเกินไป เราจะไม่เหลือเงินออมมาวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือถ้าเราไม่มีความสุขกับการทำงาน ทำงานหนักเกินไป เครียดอยู่บ่อยๆ เราก็มีแนวโน้มที่จะเอาเงินที่หามาได้ไปใช้จ่าย กิน เที่ยว ช็อปปิ้ง เพื่อหาความสุขจากการบริโภคมาทดแทนความสุขที่เสียไปจากการทำงาน ก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสเหลือเงินเก็บมาวางแผนการเงินในอนาคตน้อยลงไปอีก
เพราะฉะนั้น การได้ทำงานที่ดี มีความสุข มีรายได้ที่เหมาะสม สามารถพัฒนาตัวเอง เพื่อเพิ่มรายได้อย่างสม่ำเสมอ คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการวางแผนการเงินครับ
STEP 5 “มีเงินเหลือเก็บ” : รากฐานของการวางแผนการเงิน คือวินัยทางการเงินที่ดี
– ไม่ว่าเรากำลังทำงานที่รักหรือไม่ ขณะที่เรากำลังค้นหางานที่ใช่ เราก็ต้องบริหารการใช้จ่ายส่วนตัวไปพร้อมๆกันด้วย
– ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับรายได้ที่หามา ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว บริหารเงินให้รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หามา ให้เหลือเงินเก็บให้ไ้ด้
– หากมีหนี้ที่เกิดจากการบริโภคหรือหนี้ระยะสั้น ยังไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด เจรจาประนอมหนี้ แล้วหาทางเคลียร์หนี้สินให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก
– สะสมเงินเก็บให้มีเงินสำรอง อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน (สำหรับคนที่ทำงานประจำ) หรืออาจจะถึง 10-12 เท่า สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ เพื่อเป็นเงินก้อนเผื่อเหตุฉุกเฉิน (เช่น ตกงาน หางานไม่ได้ มีเหตุต้องใช้เงินก้อนใหญ่กะทันหัน)
– เปลี่ยนแนวคิดจาก “หามาได้ ใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ค่อยเก็บเท่านั้น” มาเป็น “หามาได้ ตัดเก็บตามที่ตั้งใจไว้ก่อนเลย เหลือเท่าไหร่ค่อยใช้เท่านั้น” แทน เพื่อป้องกันการเก็บเงินไม่อยู่ โดยการใช้เครื่องมือในการเก็บเงินอัตโนมัติเข้าช่วย เช่น สมัครใช้ระบบตัดเงินจากบัญชีเงินเดือน ไปบัญชีเงินออมที่ถอนได้ยาก หรือในบัญชีเงินลงทุน อัตโนมัติ ทุกๆเดือน จะทำให้เราสามารถออม/ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ มีวินัย โดยที่เราแทบไม่รู้สึกว่าต้องบังคับตัวเองอะไรเลย
STEP 6 “ปกป้องเงินที่หามาและเงินออมที่มีอยู่” : ปิดความเสี่ยง อุดรอยรั่วทางการเงิน ด้วยการทำประกัน
– เมื่อมีเงินเหลือ อุตส่าห์เก็บสะสมเงินที่หามาได้ ก็ควรปกป้องเงินเก็บดังกล่าว ไม่ให้สูญเสียไปกับกรณีไม่คาดฝันที่อาจจะทำให้เราต้องสูญเสียเงินเก็บจำนวนมาก เช่น รถชน, ไฟไหม้, บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ, ป่วยเป็นโรคร้ายแรง, ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล จนทำให้กระทบกับเงินส่วนตัว หรือเป็นภาระคนใกล้ตัว
– ถ่ายโอนความเสี่ยงเหล่านี้ให้กับบริษัทประกัน ด้วยการทำประกันรถยนต์, ประกันอัคคีภัย, ประกันทรัพย์สินต่างๆ, ประกันสุขภาพ, ประกันโรคร้ายแรง และประกันชีวิต โดยการจ่ายเบี้ยประกันให้เหมาะสม เพื่อเป็นการตีกรอบความเสียหายให้อยู่ในขอบเขตที่เราบริหารจัดการได้ คือแค่เท่าเบี้ยประกันในแต่ละปี
STEP 7 “ลงทุน” : เพื่อเพิ่มพูดความมั่งคั่ง ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
– เมื่อรากฐานการเงินแข็งแรง เงินที่หามาได้ ได้รับการปกป้องแล้ว ก็สามารถเดินต่อไปได้อย่างอุ่นกายสบายใจ ด้วยการหาวิธีเพิ่มพูดความมั่งคั่งที่มีอยู่ เพื่อพาตัวเองไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
– จากการที่เราวางเป้าหมายทางการเงินแล้ว รู้เป้าหมายราคาเท่าไหร่ ก็มาคำนวณว่า อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมกับเวลาลงทุน และความเสี่ยงที่เรารับได้เป็นเท่าไหร่? เพื่อหาจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม
– วางแผนจัดทำกลยุทธ์การลงทุนหลัก (Strategic Asset Allocation : SAA) เพื่อออกแบบพอร์ตการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเรา โดยมีการกระจายการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนด
– อาจจะวางแผนการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน (Tactical Asset Allocation : TAA) สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนระหว่างที่เราลงทุน ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น หุ้นตก, อัตราดอกเบี้ยปรับตัว ฯลฯ เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยการปรับสัดส่วนที่กำหนดไว้ ในขอบเขตที่เหมาะสม (ศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อน อย่ากระโจนไปทำมั่วๆ ตามกระแส หรือคำแนะนำของคนอื่นโดยไม่ได้วิเคราะห์เอง)
– เมื่อวางแผนกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ามาในพอร์ตการลงทุน หุ้นตัวไหนที่เหมาะสม?, กองทุนไหนที่ตอบโจทย์? โดยการคัดเลือกก็ต้องใช้วิธีวิเคราะห์ ทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หาราคาที่เหมาะสมสำหรับการซื้อ รวมไปถึง การวิเคราะห์เชิงเทคนิค หาจังหวะเวลาเหมาะสมที่จะเข้าซื้อ รวมถึงคำนวณหาราคาขาย และจังหวะขายที่เหมาะสม ตามสถานการณ์ หรือเวลาที่เริ่มจะใกล้ถึงเป้าหมาย
STEP 8 รู้จักบริหารจัดการ “ภาษี” : เพื่อดึงรายได้กลับมาอย่างถูกกฎหมายอีกทางหนึ่ง
– สำรวจรายได้ว่า เรามีรายได้อยู่ในหมวดไหนบ้าง? (40(1) – 40(8)) มีโอกาสใช้ค่าลดหย่อนอะไรบ้าง ที่เรามีสิทธิ์ใช้ได้? (หักค่าใช้จ่าย, ส่วนตัว, คู่สมรส, บุตร, บิดามารดา, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพบิดามารดา, RMF, LTF, PVD, กบข., ประกันสังคม, เงินบริจาค, เลี้ยงดูผู้พิการ, ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน, ท่องเที่ยว ฯลฯ) และมีสิทธิ์ใช้ได้สูงสุดเท่าไหร่?
– มีโอกาสที่เราสามารถปรับโครงสร้างรายได้ เพื่อเปลี่ยนหมวดรายได้ ไปยังหมวดรายได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงขึ้นได้ไหม?
– อย่าลืมว่า ภาษี เป็นเพียง “สิทธิ์” ในการหารายได้เพิ่มเติม ไม่ใช่ “เงื่อนไขที่จำเป็น” ที่ทุกคนต้องทำเพื่อให้ได้ค่าลดหย่อนที่มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหาที่อาจจะตามมาต่อการเงินด้านอื่นๆ (เช่น ซื้อประกันชีวิต, RMF, LTF เต็มแม็ก เพื่อให้ได้ลดหย่อนสูงสุด แต่ไม่คำนึงเลยว่า ซื้อมากเกินความเหมาะสมหรือไม่ เป็นรายจ่ายที่มากเกินไปรึเปล่า) ดังนั้น ให้ตั้งเป้าหมายที่เป้าหมายการเงินก่อน ภาษีที่ลดหย่อนได้จากค่าลดหย่อนที่ซื้อได้ ถือเป็นของแถม
STEP 9 วางแผนส่งต่อทรัพย์สินให้คนข้างหลังอย่างเหมาะสม
– ตลอด 8 ขั้นที่ผ่านมา คือการวางแผนเงินทอง “เมื่อเรายังมีชีวิต” อยู่ แต่ในสเต็ปนี้ คือการวางแผนเงินทอง “เมื่อเราจากไปแล้ว” เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อย ไม่มีปัญหา แก่คนที่อยู่ข้างหลัง ทั้งในเรื่องของ การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือภาระภาษีที่ต้องจ่าย
– จัดทำพินัยกรรม, ธรรมนูญครอบครัว, วางแผนมรดก, วางแผนภาษีมรดกและภาษีการให้, ภาษีที่ดิน ให้ถูกต้องเหมาะสม
ทั้งหมดนั้น คือการสรุปขั้นตอน และภาพรวมของการวางแผนชีวิต (การเงิน + การงาน) ทั้งหมด ที่ผมพยายามรวบรวมมาให้ทุกคนได้พอเห็นภาพกันนะครับ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีรายละเอียดของมัน ที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุน จะคำนวณตัวเลขยังไง? จะมีวิธีการวิเคราะห์อะไรยังไง? นั่นคือสิ่งที่เราต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมครับ อย่าไปค้นหาสูตรสำเร็จ อย่าไปขอคำตอบสำเร็จรูปจากใคร เพราะความสำเร็จมันไม่ทางลัด เราต้องพยายามค้นหาและลงมือทำด้วยตนเอง (โดยอาจหาผู้ช่วย หรือคนแนะนำ ให้คำปรึกษา)
ขอให้ทั้งหมด อยู่ภายใต้หลักคิดที่ถูกต้อง อยู่ในหลักของ “ความสมดุล” ระหว่างปัจจุบันและอนาคต และ “ความพอเพียง” ของการใช้ชีวิต ไม่ทำอะไรไร้เหตุผล หรือทำอะไรเกินตัว แล้วผมเชื่อว่า ชีวิตคุณจะมีความสุขทั้งปัจจุบันและในอนาคตที่วางไว้ครับ
เมื่อทราบวิธี และขั้นตอนแล้ว ขอให้นำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง แล้วถ้ามีอะไรต้องการปรึกษา ผมยินดีรับฟังและช่วยหาคำตอบเสมอครับ :)