หนี้สินนุงนัง จะปลดอย่างไรดี ? (ประสบการณ์จริง)

หนี้สินนุงนัง จะปลดอย่างไรดี ? (ประสบการณ์จริง)

หนี้สินนุงนัง จะปลดอย่างไรดี ? (ประสบการณ์จริง)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คนมีหนี้น่ะ เป็นคนมีเครดิตดี” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้ เพราะปัญหาเรื่องหนี้นี้เป็นเรื่องปกติของคนยุคปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่จะต้องผ่อนจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ หลายคนเป็นหนี้อยู่หลายที่ หลายแห่ง แต่ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ทุกกอง จนเกิดปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน กู้ตรงโน้นไปโปะตรงนี้ วนไปวนมา ไม่มีวันหมดหนี้ไปได้ หรือไม่ชำระหนี้จนเกิดปัญหาฟ้องร้องกันมากมาย ติดแบล็กลิสต์ก็มาก เครดิตเสียไปตามๆ กัน วันนี้ดิฉันจะขอนำเสนอวิธีการจัดการกับหนี้สินตามประสบการณ์ตรงที่ประสบมาค่ะ

ปัญหาหนี้ของครอบครัวดิฉันเป็นเรื่องใหญ่พอควร เพราะเป็นปัญหาหนี้ที่เกิดจากครอบครัวสามีที่ไปกู้หนี้ยืมสินไปจัดการเรื่องราวในครอบครัว และด้วยความที่สามีดิฉันเป็นพี่ใหญ่ของครอบครัว พอเกิดปัญหาจึงต้องรับผิดชอบตรงนี้ หนี้ทั้งหมดของครอบครัวที่ได้รับรู้มีทั้ง หนี้ในระบบ คือเงินกู้ของ ธ.ก.ส.จำนวนหกแสนกว่าบาท หนี้นอกระบบอีกแสนกว่าบาท กว่าดิฉันและสามีจะรู้เรื่อง ที่ดินที่นำไปจำนองไว้ ก็กำลังจะถูกขายทอดตลาด ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ทำงานอยู่ต่างจังหวัด ห่างไกลจากครอบครัวสามี

เมื่อทราบข่าวก็แทบช็อก ไม่ทราบว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่โชคดีที่เป็นคนที่ใช้สติและเหตุผลมากกว่าอารมณ์ จึงค่อยๆ คุยกับสามี แล้วเริ่มวางแผนการจัดการหนี้อย่างมีระบบ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเคลียร์หนี้สินนี้ไปได้โดยไม่ต้องสูญเสียอะไรไปมากกว่านี้


ก่อนอื่นเราต้องกล้าเผชิญหน้ากับเจ้าหนี้ แทนที่จะหลบหน้าเจ้าหนี้ แล้วไม่ชำระเลยเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ดิฉันกลับคิดต่างออกไปว่า ถ้าเราไม่เดินเข้าไปเจอเจ้าหนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายอดหนี้เรามีเท่าไหร่ ดอกเบี้ยไปถึงไหนแล้ว และจะหาวิธีชำระแบบไหนถึงจะจ่ายไหว วิธีของผู้เขียนจึงเริ่มจากการเดินหน้าเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ก่อนเลย เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งหมด สามารถจัดลำดับการใช้หนี้ได้อย่างเหมาะสม พอเรารู้แล้วว่าต้องจัดการยังไง เราก็จะเริ่มวางแผนการใช้หนี้ให้เป็นระบบระเบียบได้ เปรียบได้กับการแก้ปมเชือก เราต้องค่อยๆ แกะทีละปมอย่างใจเย็น และมีสติ ดังนั้น เริ่มแรกเราก็จะไปธนาคารก่อนเพราะเส้นตายมาถึงแล้ว


พอไปถึงธนาคาร เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ให้คำแนะนำเราได้อย่างดีมากผิดคาด ทั้งแนะนำวิธีผ่อนผันหนี้หลายวิธีให้เราเลือก ตามที่เราคิดว่าเราสามารถชำระหนี้เขาได้อย่างไม่ลำบาก ซึ่งในกรณีนี้ ดิฉันเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการนำเอาทุกสัญญาที่กู้มารวมเป็นสัญญาเดียว แล้วเลือกผ่อนส่งชำระหนี้ว่าจะส่งเป็นรายเดือนหรือรายปี ซึ่งการทำเช่นนี้มีข้อดีคือ พอเราปรับโครงสร้างหนี้ เราจะกลับมากู้ใหม่ไม่ได้อีก จนกว่าจะชำระหมด

ดังนั้น จะไม่มีใครในครอบครัวมาเพิ่มหนี้ใหม่ขึ้นได้อีกแน่ๆ เมื่อเลือกวิธีผ่อนชำระแล้ว เราก็ต้องยอมรับความยุ่งยากเล็กน้อยคือ เราต้องวิ่งจัดการเหมือนเริ่มกู้เงินใหม่คือ ประเมินราคาที่ดินใหม่ ทำสัญญาใหม่หมด แต่ในกรณีนี้ ลูกหนี้หลักยังคงเป็นพ่อสามีซึ่งเป็นผู้กู้เดิม แต่เพิ่มผู้กู้ร่วม


พอจบจากเรื่องเงินกู้ของธนาคารก็เริ่มมาที่หนี้นอกระบบที่ต้องรีบจ่ายก่อนเพราะดอกเบี้ยแพงมาก โชคดีอีกเช่นกันที่เราสองคนเก็บเงินไว้เตรียมดาวน์บ้าน เลยมีเงินที่จะมาเคลียร์หนี้นอกระบบไปได้ ครั้งนั้น ครอบครัวสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 2 ปี เพราะได้ลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ พร้อมกับเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดไปด้วย ซึ่งอาศัยว่า ธุรกิจเป็นไปด้วยดีจึงสามารถผ่านพ้นวิกฤตหนี้ที่รุมเร้าครั้งนั้นมาได้


จากประสบการณ์แล้ว สามารถสรุปเป็นหลักง่ายๆ 4 ข้อในปลดหนี้นะคะ


1. รู้เขารู้เรา คือรู้ว่าเจ้าหนี้เราเป็นอย่างไร ยอดหนี้เราเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไรแล้ว และนำมาประเมินว่ากำลังจ่ายเราจ่ายได้แบบไหน เท่าไร

2. การวางแผนปลดหนี้โดยที่เราจะไม่ถูกยึดของที่จำนองไว้ แนะนำว่า คุยกับฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินก่อน ว่ามีตัวเลือกอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ เราจะจ่ายเขาได้อย่างไรบ้าง หรืออาจปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เลย หรือถ้าถึงที่สุดจริงๆ ให้ขายทรัพย์สินที่จำนองไว้ ก่อนหลุดจำนอง

3. การจัดระเบียบหนี้ ให้เอาหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงสุดมาใช้หนี้เป็นอันดับแรก และตรวจสอบเจ้าหนี้ด้วย ถ้าใครที่เขี้ยวลากดินมากๆ ให้จัดเป็นอันดับต้นๆ ใช้หนี้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว มาเคลียร์หนี้ระยะสั้น ดอกเบี้ยสูง ให้จำนวนกองหนี้เหลือน้อยที่สุด

4. การมีวินัยในการชำระหนี้ ถ้าเรามีระเบียบในการใช้หนี้ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น เมื่อได้รับเงินมาแต่ละเดือน ให้แยกเงินส่วนที่จะใช้หนี้ออกก่อน แล้วเก็บส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำแยกไว้ ส่วนที่เหลือก็ค่อยเอามากินและใช้จ่าย เพราะในเมื่อเราได้รับโอกาสที่สองแล้วขอให้เรามีสติให้มากขึ้น ไม่สร้างหนี้ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

นี่คือหลักง่ายๆ ที่ผู้เขียนทำได้มาแล้วและผ่านมันมาได้ หวังว่างานเขียนนี้อาจช่วยอีกหลายๆ คนได้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการบริหารหนี้กันทุกคนนะคะ

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook