อยากให้เงินทองงอกเงย ต้องปรับ 7 นิสัยการใช้เงิน
เคยสังเกตตัวเองบ้างไหม เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี โบนัสได้ฟรีๆก็ไม่เคยขาด แต่ทำไมตัวเลขบัญชีเงินเก็บไม่กระเตื้องขึ้นเลย บางคนบอกว่า เงินเดือนเยอะขึ้น งานที่ต้องรับผิดชอบก็มากขึ้น พบปะผู้คนมากขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายด้านสังคมสูงขึ้น เงินจึงไม่เหลือเก็บ ข้ออ้างนี้ก็พอฟังได้ แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการเก็บเงินรักษาเงินนั้น เป็นทักษะที่ต้องฝึก เป็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข โดยทั่วไปคนเรามีข้อผิดพลาดเรื่องการไม่สามารถรักษาเงินไว้ได้ ดังนี้
1 ออมเงินไม่เป็น คนทั่วไปเมื่อทำงานหาเงินมาได้แล้ว ก็จะใช้ ใช้ ใช้ เช่น ใช้กิน ใช้เที่ยว ใช้ค่ารถ ใช้ค่าบ้าน ใช้ค่าโทรศัพท์ ใช้ค่าเสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค ใช้จนหนำใจ ถ้าเหลือค่อยเอามาเก็บ คือคิดถึงเรื่องเก็บออมเงินเป็นลำดับสุดท้าย ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ เมื่อเงินเดือนออกหรือทำงานได้เงินมาก้อนหนึ่ง สิ่งแรกเลยคือ แบ่งเงินนั้นมาเก็บไว้ก่อนส่วนหนึ่ง จะมากจะน้อยก็ช่าง ขอให้ได้เก็บ เมื่อเรารู้จักเก็บก่อนใช้ ทำติดต่อกันทุกๆเดือนก็จะติดเป็นนิสัย ป้องกันการรั่วไหลของเงินได้หนึ่งทาง
2 ไม่คิดก่อนใช้ เงินทองของหายาก เมื่อจะใช้จ่ายอะไรลงไปต้องคิดให้คุ้ม ข้าวของบางอย่างเราซื้อด้วยอารมณ์ ไม่ได้ซื้อด้วยเหตุผล และของที่ซื้อด้วยอารมณ์ราคาจะสูงเวอร์ เมื่อระยะเวลาผ่านไป อารมณ์ที่เคยผูกกับของสิ่งนั้นเจือจางลง มันก็จะถูกวางเกะกะ กลายเป็นของที่ไร้ค่า จะหาประโยชน์ใช้สอยก็ไม่ค่อยได้ เพราะตอนซื้อเราไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้สอยเป็นหลัก จากนี้ไป หากจะซื้ออะไร อย่าใช้ใจ ให้ใช้สมอง เราจะได้ข้าวของที่คุมกับค่าเงินทอง
3 ไม่มีอาชีพเสริม ถ้าเราไม่ใช่นักธุรกิจ หรือมีกิจการใหญ่โต หรือไม่ได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นเพียงพนักงานกินเดือนตัวตนเล็กๆในบริษัทธรรมดาๆ ก็ต้องเจียดเวลามาหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ เพราะสมัยนี้อะไรๆก็ไม่แน่นอน จู่ๆบริษัทจะเจ๊งหรือล้มละลายก็เป็นไปได้ง่ายๆ ไม่ทันตั้งตัว เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ เราต้องมีงานที่สอง ที่สามทำเผื่อไว้บ้าง ลองดูว่าเรามีความถนัดหรือชอบอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า ลองหยิบจับหรือเข้ากลุ่มโซเชียลเพื่อหาลู่ทางทำกินเพิ่มเติมดู เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น การมีอาชีพเสริม เป็นเกราะกันเหนียวไว้ก่อน ย่อมเป็นความคิดที่ไม่ขี้เหร่แน่ๆ
4 ไม่กระจายการลงทุน บางคนโชคดีมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง รู้จักลงทุนแต่ไม่รู้จักกระจายการลงทุน คือรักชอบทอง ก็เอาเงินไปลงทุนทองคำเสียหมด หรือรักชอบหุ้นหรือกิจการใดๆเป็นพิเศษ ก็ทุ่มสุดตัวกะจะรวยทีเดียวกับทางนั้นให้ได้ ดูออกจะเป็นคนสุดโต่งเกินไป ถ้าทุกอย่างไม่เป็นแบบที่คิด เงินเก็บก้อนนั้นก็จะจม ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ดีไม่ดีขาดทุนเข้าเนื้อ เราต้องแบ่งเงินกระจายลงทุนบ้าง สักสองสามกองหรือสองสามกลุ่มเผื่อเอาไว้ เพราะทุกอย่างมีรอบเวลาของมัน มีขึ้นมีลงเวลาได้อาจได้ไม่เยอะ เวลาโดนก็ไม่เจ็บตัว เฉลี่ยๆกันไป
5 ไม่ปรับตัว เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้การดำรงชีวิตของคนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายบางอย่างสามารถลดได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วย และการงานของเราก็สามารถลดต้นทุนได้ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาเสริม ดังนั้นต้องหมั่นติดตามข่าวสารและความก้าวหน้าทางเครื่องมืออุปกรณ์ในแวดวงการงานของเรา นำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ ก็จะสามารถช่วยเพิ่มกำไรและลดค่าใช้จ่ายได้
6 ไม่ยอมเสี่ยง ความเสี่ยงเป็นเรื่องดูน่ากลัว แต่ถ้าไม่เสี่ยงอะไรเลย เราอาจล้าหลังสู้คนอื่นไม่ได้ มีการเสี่ยงดีๆที่เป็นประโยชน์ ถ้าได้มีโอกาสเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น ก็จะสามารถมองหาโอกาสและความเสี่ยงที่คุ้มค่าได้ แต่ก็ต้องประมาณตน ไม่เสี่ยงเกินกว่าที่ตนเองจะรับได้ เพราะถ้าพลาด อาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ถ้าเสี่ยงแล้วได้ผล ก็จะสามารถก้าวกระโดดและย่นระยะเวลาได้เหมือนกัน
7 ไม่หลงคอยวาสนา แม้บางคนจะมีโชคได้เงินได้งานง่ายๆฟรีๆ เห็นแล้วก็คิดว่า เราจะต้องเอาแบบเขาบ้าง แต่ในความเป็นจริง เรื่องโชคลาภวาสนาเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราอาจมีโชคแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ถ้าหวังคอยให้โชคช่วย มีหวังอดตายเสียก่อน ถ้าโชคมาตอนอายุ 60 เรามิต้องอดข้าวถึงตอนแก่เลยหรือ ดังนั้นพึ่งตนเอง ทำงานไปตามหน้าที่ให้เต็มความสามารถ จัดการค่าใช้จ่ายและกินอยู่ให้พอดี สะสมไปความมั่งมีก็จะเกิดได้เอง
ลองปรับ 7 ไม่ ใน 7 ข้อนี้ ชีวิตเราจะดีขึ้นได้แน่นอน เงินทองจะงอกเงย เพราะเราฉลาดกิน ฉลาดใช้ ฉลาดออม ยอมเสี่ยงบ้าง มีรายได้หลายทาง พึ่งพาตนเอง ทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย สุดท้ายจะร่ำรวยได้เอง
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub