ลูกจ้างหญิงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มากกว่าลูกจ้างชายนะ .. รู้ยัง?
ทุกครั้งที่เราพูดถึงสิทธิในความเท่าเทียมทางเพศของชายและหญิงนั้น ส่วนมากมักจะนึกถึงสิทธิในทางการพูด การคิด หรือการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิในทางการเมืองซะเป็นส่วนใหญ่ โดยหลงลืมไปว่าสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเช่น สิทธิในการทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
ในปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและอัพเดทให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิในการทำงานของหญิงชายนั้นจะมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาในการพักผ่อน วันหยุด วันลา การฝึกอบรม การได้รับค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหญิงหรือชายย่อมได้รับอย่างความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การใช้แรงงานหญิง กฎหมายก็ได้แยกบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นพิเศษต่างหาก เพราะถึงแม้จะมีการเรียกร้องให้แรงงานหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับชายก็ตาม แต่โดยเพศสภาพตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายของผู้หญิงนั้นมีความแข็งแรงน้อยผู้ชายอย่างแน่นอน ดังนั้น การจะเขียนกฎหมายให้แรงงานหญิงและชายมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในทุกๆเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การที่กฎหมายได้เขียนคุ้มครองให้แรงงานที่เป็นหญิงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมากกว่าผู้ชายในบางเรื่องเอาไว้ด้วย ย่อมเป็นเรื่องเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ตัวอย่างเช่น
การใช้แรงงานหญิง
กฎหมายห้ามไม่ให้แรงงานหญิงทำงานในเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์หรือปล่องในภูเขา รวมถึงงานที่ผลิตหรือขนส่งวัตถุไวไฟก็เช่นกัน แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าโดยสภาพของงานนั้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของหญิง หญิงย่อมสามารถทำงานนั้นได้ แต่ห้ามไม่ให้หญิงทำงานประเภทที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป โดยเด็ดขาดและไม่มีข้อยกเว้น
การใช้แรงงานหญิงมีครรภ์
ในส่วนของหญิงมีครรภ์นั้น กฎหมายห้ามไม่ให้ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน งานที่ต้องขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานที่ต้องยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินกว่า 15 กิโลกรัม รวมถึงงานที่ต้องทำในเรือไม่ว่ากรณีใดๆ
ระยะเวลาการทำงานของหญิงมีครรภ์กฎหมายห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในช่วงเวลาตั้งแต่ 4 ทุ่ม จนถึง 6 โมงเช้า รวมถึงห้ามไม่ให้ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดด้วย เว้นแต่ งานของหญิงนั้นจะเป็นการทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือบัญชี โดยนายจ้างอาจขอให้พนักงานหญิงนั้นทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานและพนักงานผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย
หากหญิงนั้นต้องการคลอดบุตร กฎหมายก็ให้สิทธิลูกจ้างที่เป็นหญิงสามารถลาเพื่อคลอดบุตรได้เป็นเวลาถึง 90 วัน นอกจากนั้น หากหญิงมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ หญิงนั้นย่อมมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งอาจขอได้ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด
และที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นหญิงด้วยเหตุผลที่ว่าหญิงนั้นตั้งครรภ์ ดังนั้น หากนายจ้างใดกำหนดเอาไว้ในสัญญาจ้างว่าหากลูกจ้างตั้งครรภ์ภายในเท่านั้นเท่านี้ปีนับแต่วันที่เริ่มต้นทำงาน ให้ถือว่าลูกจ้างหญิงนั้นได้บอกเลิกสัญญาจ้าง เช่นนี้ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยตรงจึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับกับลูกจ้างหญิงนั้นไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1349/2549)
โดยสรุปก็คือ เรื่องสิทธิในการทำงานนั้นกฎหมายไม่ได้มองผิวเผินเพียงแค่การไม่เลือกปฏิบัติและให้ลูกจ้างชายหญิงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น กฎหมายยังมองลึกไปถึงเรื่องแรงกายภาพซึ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันตามธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิด จึงบัญญัติกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิงในบางเรื่องให้มากกว่าชาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของงานที่ทำ รวมถึงระยะเวลาในการทำงาน ดังนั้น หากท่านผู้อ่านได้รับรู้แล้วว่าตนหรือคนใกล้ตัวของท่านมีสิทธิในการทำงานอยู่อย่างไร ควรจดจำและใช้สิทธิต่างๆดังที่กล่าวมานี้ให้เต็มที่ อย่าให้นายจ้างหรือใครก็ตามมาหลอกหรือเอาเปรียบท่านได้ หากท่านมีความสงสัยหรือแคลงใจอย่างใด ให้ติดต่อหรือขอความช่วยเหลือไปยังพนักงานตรวจแรงงาน ของกระทรวงแรงงานในทันที
อ้างอิง : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หมวด 3 การใช้แรงงานหญิง บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com